การเขียนบทความที่ดี มีเทคนิคอย่างไร

การเขียนเป็นวิธีการหนึ่งที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ การเขียนนั้นมีมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเขียนบทละคร นิยาย การ์ตูน ข่าว หรือว่าจะเป็นบทความในเว็บไซต์ แต่ในการเขียนนั้นไม่ใช่ว่าอยากจะเขียนอะไรก็เขียนไปได้ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นผู้อ่านเองก็คงจะสับสนไม่น้อยว่าผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไรและมีเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างไร เรามาดูกันดีกว่าว่าการเขียนบทความที่ดีควรจะต้องเริ่มต้นกันอย่างไร

การเขียนบทความที่ดี มีเทคนิคอย่างไร

1. จุดประสงค์ในการเขียน การที่เราจะเขียนเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งนั้น สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือจุดประสงค์ของการเขียนว่าเราจะเขียนบทความนี้เพื่ออะไร เช่น เขียนบทความเพื่อเล่าเรื่องราว เพื่อแนะนำสินค้า เขียนบทความเพื่อตีแผ่สังคม หรือเป็นบทความเพื่อให้ความรู้ เพราะเมื่อเราทราบจุดประสงค์ที่แน่ชัดแล้วจะทำให้สามารถเขียนได้ลื่นไหลไม่สะดุด

2. การตั้งชื่อเรื่อง เมื่อเราทราบจุดประสงค์แล้วขั้นตอนถัดมาคือเราจะต้องตั้งชื่อเรื่องที่เราจะเขียน เพราะการตั้งชื่อเรื่องนั้นจะเป็นก้าวต่อไปในการหาข้อมูลและเรื่องที่เราจะเขียนได้ เช่น เราตั้งชื่อเรื่อง ”ออมเงินอย่างไรให้ได้ผล” เมื่อเรามีชื่อเรื่องแล้วก็จะมีเป้าหมายและกรอบในการเขียนเพื่อให้สอดคล้องกับหัวเรื่อง

3. การวางโครงเรื่อง ต้องกำหนดประเด็นต่าง ๆ ว่าบทความที่เราจะเขียนนั้นมีอะไรบ้างตามลำดับความสำคัญเพื่อให้เนื้อหานั้นสอดคล้องกันไม่สะเปะสะปะ ต้องมีคำนำเพื่อเกริ่นว่าบทความนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร ตามด้วยแก่นของเรื่องซึ่งจะต้องใส่เนื้อหาประเด็นสำคัญที่สุดเข้าไป และปิดท้ายด้วยการสรุปว่าทั้งหมดที่เราเขียนมานั้นมีอะไรบ้างหรือทิ้งท้ายด้วยแง่คิดบางอย่างให้ผู้อ่านได้ค้นคว้าต่อไป

4. การใช้คำศัพท์ในการเขียน เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราต้องดูว่าบทความที่เราเขียนนั้นเป็นบทความเพื่อความบันเทิง บทความที่เป็นวิชาการ หรือต้องการสไตล์แบบไหน เพราะจะช่วยทำให้เราสามารถเลือกใช้คำได้เหมาะสมและสุภาพ

5. การสร้างเอกลักษณ์ในการเขียน เชื่อว่าผู้เขียนทุกคนจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่นการใช้สำนวน การใช้ถ้อยคำ เพื่อที่จะให้เนื้อหาที่ตนเองเขียนนั้นดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

6. การตรวจสอบ แน่นอนว่าหลังจากที่เราเขียนบทความเสร็จเรียบร้อยแล้ว การกลับมาอ่านทบทวนนั้นเป็นสิ่งที่นักเขียนที่ดีควรจะทำ การทำเช่นนี้ก็เพื่อตรวจทานว่าตัวหนังสือที่เราเขียนไปนั้นสะกดถูกต้องหรือไม่ อ่านแล้วเข้าใจง่ายหรือไม่ เพราะถ้าผู้เขียนไม่เข้าใจแล้ว ผู้อ่านก็คงไม่เข้าใจเช่นกัน

ในการเริ่มต้นรับเขียนบทความนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่มีแรงบันดาลใจและฝึกฝนการเขียนมาก ๆ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องมาพร้อมกันนั้นคือจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ผู้เขียนไม่ควรลอกงานผู้อื่นเพื่อมาอ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง เพราะหากทำอย่างนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นผู้ที่ไม่น่าเชื่อถือได้ ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ส่งงานมาให้เขียนอีก ตรงกันข้ามถ้ามีความตั้งใจทำงานแล้วก็จะได้รับการว่าจ้างอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวต่อไป