ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์


โหราศาสตร์ (Astrologer) หรือโหร หมายถึง บุคคลซึ่งทำนายเหตุการณ์ในอนาคตโดยการคำนวณวิถีโคจรของดวงดาวบนท้องฟ้า โดยดูจากวัน เดือน ปี เวลาที่เกิด และสถานที่เกิด ของเจ้าของชะตา

โหราศาสตร์จะเป็นเครื่องบอกผลกรรม 14 ประการ และความเป็นไปของมนุษย์ในห้วงระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี แสดงเหตุและผลของดวงดาว ทำให้สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าของวิถีทางของมนุษย์ และเหตุการณ์ของโลกทั่วๆ ไป

โหราศาสตร์ (Astrology) เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำนายอนาคต ปรากฏการณ์ต่างๆ ของโลก หรือ โชคชะตาของมนุษย์ โดยอาศัยตำแหน่งของดวงดาว ในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่มีกฏเกณฑ์ที่แน่นอน บ้างก็อ้างว่าใช้บันทึกทางสถิติสร้างเป็นหลักเกณฑ์และแนวโน้มเพื่ออธิบายโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ในอนาคต ทว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีโหราศาสตร์ใดเลยที่สามารถผ่านกระบวนการทดสอบทางสถิติอย่างที่กล่าวอ้าง ดังนั้น โหราศาสตร์จึงมักถูกกล่าวหาจากนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นสิ่งงมงาย เป็นการใช้ความเชื่อนำเหตุผล

วิชาโหราศาสตร์มีหลายระบบและมีความแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น โหราศาสตร์ไทย โหราศาสตร์สากล โหราศาสตร์จีน โหราศาสตร์ยูเรเนียน การพยากรณ์ในโหราศาสตร์ต้องอาศัยโหรผู้มีความรู้ความชำนาญในการผูกดวงและเป็นผู้พยากรณ์เพื่อตีความหมายเป็นโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต

โหราศาสตร์ เป็นสาขาหนึ่งของการพยากรณ์และเนื่องจากการใช้ตำแหน่งของดวงดาวจึงมีความเกี่ยวข้องกับวิชาดาราศาสตร์

ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์เรียนรู้ วิชาโหราศาสตร์ในเรื่องฤกษ์ยาม เพื่อจะได้รู้เวลาทำอุโบสถสังฆกรรม อันเป็นกิจในพระพุทธศาสนา จึงได้มีชื่อ วัน เดือน ปี และฤกษ์แสดงไว้ท้ายบอกวัตรพระเป็นประเพณีสืบต่อมา ที่มาของเรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระภิกษุทั้งหลายไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในอรัญญิกเสนาสนะได้มีหมู่โจรมาถามว่า วันนี้พระจันทร์กอร์ปด้วยนักขัตฤกษ์อะไร พระภิกษุตอบว่าไม่รู้ พวกโจรจึงว่า ชนเหล่านี้จึงไม่ใช่สมณะจึงไม่รู้นักขัตตบาท คงจะเป็นพวกโจรมาซุ่มซ่อนอยู่ ว่าแล้วโจรเหล่านั้นก็เข้าทำร้ายพระภิกษุเหล่านั้นก็หลีกไป เมื่อความเรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เจ้าทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงตรัสอนุญาต ในภิกษุที่ไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าพึงเรียนรู้นักขัตฤกษ์ สำหรับอรัญญิกวัตร เพื่อรักษาตนให้พ้นภัยอันตรายจากโจร (พินิจ จันทร และคณะ, 2552, หน้า 79-80)

 

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ