ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย

ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย

ช่วงเวลาที่จัดงานประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย

ประเพณีการแข่งเรือกอและและเรือยาวด้วยฝีพายหน้าพระที่นั่ง ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ความสำคัญของประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย

ในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและ จังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่า ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความสงบสุข ร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสต่างเห็น พ้องต้องกันว่าสมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของ ชาวจังหวัดนราธิวาสถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอัน ล้นพ้นและเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย หน้าพระที่นั่ง และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อีกทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย

ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย

สาระของประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย

การแข่งขันใช้เรือกอและระยะทาง ๖๕๐ เมตร ผู้ควบคุมลำละ ๑ คน จำนวนฝีพายรวมทั้งนายท้ายไม่เกินลำละ ๒๓ คน และมีฝีพายสำรองไม่เกินลำละ ๕ คน การเปลี่ยนตัวในแต่ละเที่ยวทำได้เที่ยวละไม่เกิน ๕ คน ทั้งนี้ให้ผู้ควบคุมทีมประจำเรือแจ้งให้คณะกรรมการปล่อยเรือทราบ เรือที่เข้าแข่งขันทุกลำต้องถึงจุดเริ่มต้น (จุดปล่อยเรือ) ก่อนเวลาที่กำหนดแข่งขันในรอบนั้น หากไปช้ากว่ากำหนดเกิน ๑๕ นาทีถือว่าสละสิทธิ์จะปรับแพ้ในรอบนั้นได้ ก่อนการได้ยินสัญญาณ ณ จุดเริ่มต้นฝีพายทุกคนยกพายให้พ้นผิวน้ำ ยกเว้นนายท้ายเรือให้ใช้พายคัดท้ายเรือบังคับเรือให้หยุดนิ่ง และจะต้องวิ่งในลู่ของตน หากวิ่งผิดลู่หรือสายน้ำถือว่าผิดกติกาให้ปรับเป็นแพ้ในเที่ยวนั้น เรือที่เข้าถึงเส้นชัยก่อนลำอื่นโดยถือหัวเรือสุดเป็นการชนะการแข่งขันใน เที่ยวนั้น การแข่งขันแบ่งเป็น ๔ รอบ รอบที่ ๑ และรอบที่ ๒ เป็นรอบคัดเลือก รอบที่ ๓ เป็นรอบรองชนะเลิศและรอบที่ ๔ เป็นรอบชิงชนะเลิศ

ประวัติความเป็นมาเรือกอและ :

       ชื่อเรือกอและ หรือ “ฆอและ” เป็นคำภาษามลายู หมายถึง โคลงเคลง หรือล่องลอย สารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 3 (2505 : 1448) ได้ให้ความหมายไว้ว่ากุแหละหรือกอและ เป็นคำภาษามาลายู ใช้เรียกเรือประมงขนาดเล็กหรือขนาดกลาง แต่บางโอกาสก็นำมาเรียกเรือขนาดใหญ่ได้เหมือนกัน ข้อมูลหลายแห่งสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม และการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างของไทย ดังนี้คือ (กระทรวงวัฒนธรรม, ออนไลน์)

             1. การเข้ามาของมุสลิมในประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1800-1921) นั้น มุสลิมอาศัยอยู่ในนครศรีธรรมราชตลอดจนถึงมะละกา และมีหลักฐานที่แสดงว่าในสมัยสุโขทัยนั้นประเทศไทยมีการติดต่อกับประเทศมุสลิม เช่น อินโดนีเซีย อาหรับทั้งนี้ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2133-2148) ตำแหน่งเสนา-บดีทางการคลังและการท่าเรือนั้นนิยมใช้ชาวเปอร์เซีย ซึ่งก็ใช้กันเป็นประเพณีสืบต่อมาจนตลอดสมัยอยุธยาและธนบุรี

             2. มุสลิมในภาคใต้มีความชำนาญในการใช้เรือ คนไทยทางภาคใต้รู้จักการใช้เรืออย่างชำนิชำนาญมากกว่าคนไทยในภาคกลางเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ การอยู่ติดลำน้ำและฝั่งทะเลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ขุนนางเชื้อสายอาหรับมุสลิมมีความสามารถเป็นอย่างยิ่งในด้านกิจการค้าทางทะเล รับราชการได้ตำแหน่งเป็นเจ้ากรมท่าสังกัดกองทัพเรือเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นตำแหน่งสืบทอดแบบประเพณีจึงสันนิษฐานได้ว่าชาวมุสลิมในภาคใต้ความคุ้นเคยและชำนาญในการใช้เรือมาตั้งแต่สมัยโบราณและสืบทอดความชำนาญทางด้านการเดินเรือและการประมงให้แก่ลูกหลาน

             3. ปรากฏเรื่องราวของเรือและในสมัยสุโขทัย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอสรุปและสันนิษฐานได้ว่าเรือกอและและการเข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานในภาคใต้ตอนล่างของชาวมุสลิมและเนื่องจากชาวมุสลิมในภาคใต้มีความชำนาญพิเศษในการออกทะเลดังนั้นกลุ่มชนนี้จึงยึดอาชีพการประมงและเนื่องจากเป็นชาวพื้นเมืองที่มีทุนทรัพย์น้อย จึงมีการคิดประดิษฐ์เครื่องมือในการออกทะเลเพื่อทำการประมง ทำให้เกิด “เรือกอและ”ขึ้น

             สันนิษฐานว่าการวาดลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและน่าจะกำเนิดขึ้นเมื่อเกือบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมาสืบเนื่องจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ดังนี้

                    1. ปรากฏเรือกอและที่มีการเขียนลวดลายจิตรกรรม สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                 2. ปรากฏการแข่งขันเรือกอและที่มีการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมในราวประมาณ พ.ศ. 2487 ในสมัยที่ขุนจรรยาวิเศษ (เที่ยง จรรยาวิเศษบุญยพัตย์) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานี

                 3. จากการสอบถามช่างต่อเรือในท้องถิ่นพอสรุปและสันนิษฐานได้ว่าชาวไทยมุสลิมเริ่มมีการตกแต่งลวดลายจิตรกรรมบนเรือกอและในสมัยรัตนโกสินทร์ราว1ศตวรรษที่ผ่านมาเพราะเนื่องจากชาวไทยมุสลิมในเขตชายแดนภาคใต้ที่มีวัฒนธรรทางศิลปะมาตั้งแต่บรรพชน

นอกจากใช้ออกทะเลหาปลาแล้ว เรือกอและ ยังมีหน้าที่แห่งความบันเทิง โดยใช้ในประเพณีการแข่งเรือกอและซึ่งจัดในงานเทศกาล ทีอ.สายบุรี และจ.นราธิวาส

ที่มาประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย : http://region7.prd.go.th
Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ
ประเพณีไทย ประเพณีลอยกระทงสาย