วันสำคัญของไทย วันที่ 19 ตุลาคม วันเทคโนโลยีของไทย

วันเทคโนโลยีของไทย (19 ตุลาคม) เป็นวันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็น พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย โดยมีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544

ประวัติ

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้มีมติว่า ให้ความเห็นชอบในการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เนื่องจากวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ เป็นครั้งแรก? โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “วันเทคโนโลยีของไทย” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยี ที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้น ให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา มีพระนามในชั้นเดิมว่า พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเท) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จขึ้นครองราชเมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งการมหาพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสสริยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ตามลำดับ) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์ คือ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ซึ่งต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยะชาติ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้ารับการ ศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์ เดอี ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๕ ในปีต่อมา ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จบรมเชษฐาธิราช ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และทรงเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ วันที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงย้ายมาศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูแวล เอด ลา ซืออิส โรมองค์ เมืองแชลลี ซูร โลซานน์ จากนั้นทรงเข้าศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ บาเชอเลียร์ เอสแลตรส์ จากโรงเรียน ยิมนาส คลาสสิค กังโตนาล แห่งเมืองโลซานน์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและทรงพระปรีชาสามารถ ในวิชาวิศวกรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในแผนกวิทยาศาสตร์ สาขาสหวิทยาศาสตร์และแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์

หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระ มหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จฯ กลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่ทรงเปลี่ยนแนวการศึกษาใหม่ให้เหมาะสมกับที่จะต้องทรงรับพระราชภาระในฐานะ พระประมุขของประเทศ โดยทรงศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์แทนวิชาในแผนกวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษา อยู่เดิม