จังหวัดชุมพร

ชุมพร มีพื้นที่การปกครองทั้งสิ้น 6,009.008 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย บนแหลมมลายูบริเวณคอคอดกระ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ระยะทางประมาณ 463 กิโลเมตร และทางรถไฟสายใต้ประมาณ 485 กิโลเมตร มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร กว้างโดยเฉลี่ยประมาณ 36 กิโลเมตร

ชุมพร มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1098 โดยมีฐานะเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง และเป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือเพราะอยู่ตอนบนของภาคใต้ ในพุทธศักราช 1997 รัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงว่าเมืองชุมพร เป็นเมืองตรี อาณาจักรฝ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมณฑลชุมพร ต่อมามีการยุบการปกครองระบอบมณฑลเป็นจังหวัด ชุมพรจึงมีฐานะเป็นจังหวัด คำว่า “ชุมพร” มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “ชุมนุมพล” เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่าน การเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือหรือว่าฝ่ายใต้ ล้วนเข้ามาตั้งค่ายชุมนุมพลกันที่นี่ จึงเรียกจุดนี้ว่า “ชุมนุมพล” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ชุมพร” อีกประการหนึ่งในการเดินทางไปทำศึกสงครามของแม่ทัพนายกองตั้งแต่สมัยโบราณมา เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร ซึ่งทั้งสองคำนี้อาจเป็นต้นเหตุของคำว่า “ชุมนุมพร” เช่นเดียวกัน แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นมะเดื่อชุมพร เพราะที่ตั้งของเมืองชุมพรนั้นอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา มีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นอยู่มากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของตราประจำจังหวัดชุมพร

หน่วยการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ คืออำเภอเมืองชุมพร อำเภอหลังสวน อำเภอสวี อำเภอท่าแซะ อำเภอละแม อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอทุ่งตะโก

ชื่อจังหวัดชุมพรภาษาอังกฤษ  Chumphon

คำขวัญประจำจังหวัด
ประตูสู่ภาคใต้ ไว้เสด็จในกรม ชมไร่กาแฟ และหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก

ตราประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัดชุมพร

 

รูปคนยืน ต้นไม้ ค่าย และหอรบ ภาพคนยืนหมายถึงเทวดาที่ประทานพรให้แก่ชาวเมืองและกองทัพที่ยกออกไปทำศึก ต้นไม้ทั้งสองข้างคือต้นมะเดื่อ ซึ่งในพื้นที่แถบนี้มีอยู่มากมาย ค่ายและหอรบหมายถึงจังหวัดนี้เคยเป็นที่ชุมนุมบรรดานักรบทั้งหลาย ก่อนที่จะเดินทัพออกสู้รบกับข้าศึก

ต้นไม้ประจำจังหวัด
มะเดื่ออุทุมพร

ดอกไม้ประจำจังหวัด
พุทธรักษา

สถานที่สำคัญ
แหล่งท่องเที่ยว
วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกกระเปาะ อ่าวทุ่งวัวแล่น หาดอรุโณทัย เกาะสาก เกาะพร้าว เกาะลังกาจิว เกาะรังนก ถ้ำไกรลาศ ถ้ำขุนกระทิง ถ้ำโครำ ถ้ำเขาเงิน ถ้ำเขาเกรียบ

รหัสไปรษณีย์ชุมพร

บทความที่น่าสนใจ

ประเทศไทยมีกี่จังหวัด
ชื่อจังหวัดภาษาอังกฤษ
ตัวย่อชื่อจังหวัด
รหัสจังหวัด
ภาคกลางมีกี่จังหวัด
ภาคเหนือมีกี่จังหวัด
ภาคอีสานมีกี่จังหวัด
ภาคใต้มีกี่จังหวัด
ภาคตะวันออกมีกี่จังหวัด
ภาคตะวันตกมีกี่จังหวัด