จังหวัดศรีสะเกษ

ศรีสะเกษ เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย จัดอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งศาลากลางที่ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อาณาเขตทางทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดยโสธร ทิศตะวันออกกับจังหวัดอุบลราชธานี ทิศตะวันตกกับจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดร้อยเอ็ด และทิศใต้กับประเทศกัมพูชา มีเนื้อที่ทั้งสิ้นแปดพันแปดร้อยสี่สิบตารางกิโลเมตร

จังหวัดศรีสะเกษที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาถิ่นอีสาน ภาษาเขมร (เขมรสูง) และภาษากวย(กูย,โกย ,ส่วย) มีพื้นที่ 8,840 ตารางกิโลเมตร

ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่างที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมานับพันปี นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ และมีชนเผ่าต่างๆ อพยพมาตั้งรกรากในบริเวณนี้ ได้แก่ พวกส่วย ลาว เขมร และเยอ

ศรีสะเกษ เดิมเรียกกันว่า เมืองขุขันธ์ เมืองเก่าตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหินในปัจจุบัน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๒ สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยมีหลวงแก้วสุวรรณซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกร ภักดีเป็นเจ้าเมืองคนแรก ล่วงถึงรัชสมัยรัชการที่ ๕ ได้ย้ายเมืองขุขันธ์มาอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน แต่ยังคงใช้ชื่อว่าเมืองขุขันธ์จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่นั้นมา

หน่วยการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 22 อำเภอ คือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกันทรารมย์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอไพรบึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอขุนหาญ อำเภอราษีไศล อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอโนนคูณ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอวังหิน อำเภอภูสิงห์ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอพยุห์ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอศิลาลาด

คำขวัญประจำจังหวัด
ศรีษะเกษ แดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรมเลิศล้ำสามัคคี

ตราประจำจังหวัด

รูปปราสาทหิน หมายถึงปราสาทสระกำแพง มีอยู่ 2 แห่งในจังหวัดนี้ คือปราสาทหินสระกำแพงใหญ่และปราสาทหินสระกำแพงน้อย เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัด

ต้นไม้ประจำจังหวัด
ลำดวน

ดอกไม้ประจำจังหวัด
ลำดวน

สถานที่สำคัญ
แหล่งท่องเที่ยว
ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่ ปราสาทหินวัดสระกำแพงน้อย ปรางค์กู่ น้ำตกห้วยจันทร์ บึงนกเป็ดน้ำ ไพรบึง