โขน วัฒนธรรมไทย

โขน เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งของไทย มีประวัติที่เก่าแก่ยาวนานมาก เชื่อว่ามีความเก่าแก่อย่างน้อยย้อนไปถึงสมัยอยุธยามีการสันนิษฐานว่าเป็น การแสดงที่พัฒนามาจากการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ กระบี่กระบอง และการแสดงหนังใหญ่ ดังนั้นการแสดงโขนจึงเป็นการรวมศิลปะการแสดงหลายชนิดเข้าด้วยกัน เป็นการแสดงที่อาศัยท่าเต้นเป็นการแสดงออกทางอารมณ์เป็นสำคัญ ตัวละครมีทั้งแบบสวมมงกุฎบนศีรษะ และสวมหน้ากาก โดยการแสดงเป็นเรื่องราว มีทั้งบทเจรจา และบทร้อง สำหรับเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงโขนนั้นเดิมมีทั้งเรื่องอุณรุท และรามเกียรติ์ แต่ในปัจจุบันนิยมเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น

ความหมายของโขน
โขนเป็นนาฏกรรมที่มีศิลปะเป็นแบบฉบับ ของตนเอง คำว่า “โขน” ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด ซึ่งได้มีกล่าวไว้ในลิลิตพระลอเล่าถึงงานมหรสพในงานพระศพของพระลอและพระ เพื่อนพระแพงว่า “ขยายโรงโขนโรงรำ ทำระทาราวเทียน” คำว่า “โขน” มีกล่าวไว้ในหนังสือของชาวต่างประเทศ เป็นการกล่าวถึงศิลปะแห่งการเล่นของไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นที่นิยมและยึดถือเป็นแบบแผนกันมานาน มีข้อสันนิษฐานว่าโขนน่าจะมาจากคำในภาษาต่าง ๆ ดังนี้

เครื่องดนตรีโขล

  1. โขนในภาษาเบงกาลี ซึ่งมีคำว่า “โขละ หรือโขล” ซึ่งเป็นชื่อของเครื่องดนตรีประเภทหนัง ชนิดหนึ่งของฮินดู โดยตัวรูปร่างคล้ายมฤทังคะ (ตะโพน) ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่พวกไวษณพนิกายในแคว้นแบงกอลนิยมใช้ประกอบการ เล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ยาตรา” ซึ่งหมายถึง ละครเร่ และหากเครื่องดนตรีชนิดนี้ได้เคยนำเข้ามาในดินแดนไทยแล้วนำมาใช้ประกอบการ เล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่ง เราจึงเรียกการแสดงชุดนั้นว่า “โขล” ตามชื่อเครื่องดนตรี
  2. โขนในภาษาทมิฬ เริ่มจากคำว่า โขล มีคำเพียงใกล้เคียงกับ “โกล หรือ โกลัม” ในภาษาทมิฬ ซึ่งหมายถึงเพศ หรือการแต่งตัวหรือการประดับตกแต่งตัวตามลักษณะของเพศ
  3. โขนในภาษาอิหร่าน มาจากคำว่า “ษูรัต ควาน” (Surat khwan) ซึ่งษูรัตแปลว่าตุ๊กตาหรือหุ่น ซึ่งผู้อ่านหรือผู้ขับร้องแทนตุ๊กตาหรือหุ่นเรียกว่า “ควาน” หรือโขน (Khon) ซึ่งคล้าย ๆ กับผู้พากย์และผู้เจรจาอย่างโขน
  4. โขนในภาษาเขมร ในพจนานุกรมภาษาเขมร มีคำว่า “ละคร” แต่เขียนเป็นอักษรว่า “ละโขน” ซึ่งหมายถึงมหรสพอย่างหนึ่งเล่นเรื่องต่าง ๆ กับมีคำว่า “โขล” อธิบายไว้ในพจนานุกรมเขมรว่า “โขล ละคอนชายเล่นเรื่องรามเกียรติ์”

หากที่มาของโขนมา จากคำในภาษาเบงคาลี ภาษาทมิฬและภาษาอิหร่าน ก็คงจะมาจากพวกพ่อค้าวาณิช และศาสนาจารย์ของชาวพื้นเมืองประเทศนั้น ๆ แพร่มาสู่ดินแดนในหมู่เกาะชวา มาลายูและแหลมอินโดจีน

จากข้อสันนิษฐานต่างๆ ยังมิอาจสรุปได้แน่นอนว่า “โขน” เป็นคำมาจากภาษาใด แต่เมื่อเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ซึ่งใช้กันในยุคสมัยนี้ก็จะพบว่า โขน หมายถึง การเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่า หัวโขน หรืออีกความหมายหนึ่งหมายถึง ไม้ที่ต่อเสริมหัวเรือท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้นไป เรียกว่า “โขนเรือ” เรียกเรือชนิดหนึ่งที่มีโขนว่า เรือโขน เช่น เรือโขนขนาดใหญ่น้อย เหลือหลาย (ลิลิตพยุหยาตรา) หรือส่วนสุดทั้ง 2 ข้างของรางระนาดหรือฆ้องวง ที่งอนขึ้นก็เรียกว่า “โขน”

วิวัฒนาการของโขน
การแสดงโขนในขั้นแรกน่าจะแสดงกลางสนามกว้าง ๆ เหมือนกับการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ ต่อมาการแสดงก็เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการปลูกโรงไว้ใช้แสดง จนมีฉากประกอบตามท้องเรื่อง จากนั้นโขนก็มีการวิวัฒนาการดัดแปลงการเล่นด้วยวิธีการต่าง ๆ เราจึงเรียกแยกประเภทของโขนตามลักษณะการแสดงนั้น ๆ ได้แก่

  1. โขนกลางแปลง
  2. โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว
  3. โขนหน้าจอ
  4. โขนโรงใน
  5. โขนฉาก

เรื่องที่ใช้แสดงโขน

เรื่องที่ใช้แสดงโขนที่รู้จักกันแพร่หลายคือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีทั้งหมดหลายสำนวนด้วยกัน ต้นกำเนิดของเรื่องรามเกียรติ์นี้คือมหากาพย์รามายณะของประเทศอินเดีย แต่งโดยพระฤๅษีวาลมิกิ ซึ่งชาวอินเดียสมัยโบราณเชื่อว่าถ้าได้ฟังหรืออ่านเรื่องนี้ก็สามารถล้างบาป ได้

รามเกียรติ์เป็นเรื่องราวของพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระรามเพื่อ คอยปราบอสูร สงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ผู้ซึ่งเป็นพญายักษ์นั้น เกิดจากทศกัณฐ์ไปลักพาตัวนางสีดามเหสีของพระรามมาเป็นชายาของตนเอง พระรามและพระลักษมณ์จึงออกติดตาม ได้พญาวานรสุครีพและมหาชมพูมาเป็นบริวาร รวมถึงหนุมานเป็นทหารเอก เพื่อทำศึกกับทศกัณฐ์จนได้รับชัยชนะ

รามเกียรติ์ฉบับของไทยได้มีการแต่งเป็นตอน ๆ เพื่อใช้ในการแสดงต่าง ๆ ในยุคสมัยที่ต่างกันดังนี้

1. บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยา บทรามเกียรติ์ที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเพียงสามฉบับเท่านั้น ได้แก่

  • รามเกียรติ์คำฉันท์
  • รามเกียรติ์คำพากย์
  • รามเกียรติ์บทละครครั้งกรุงเก่า

2. บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี
3. บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์บทรามเกียรติ์ที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่

  • บทละครรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1
  • บทละครรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 2
  • บทละครรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 4
  • บทร้อง และบทพากย์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 6

ลักษณะบทโขน

ลักษณะบทโขน ประกอบด้วย

  1. บทร้อง ซึ่งบรรจุเพลงไว้ตามอารมณ์ของเรื่อง บทร้องแต่งเป็นกลอนบทละครเป็นส่วนใหญ่ อาจมีคำประพันธ์ชนิดอื่นบ้างแต่ไม่นิยม บทร้องนี้จะมีเฉพาะโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น
  2. บทพากย์ การแสดงโขนโดยทั่วไปจะเดินเรื่องด้วยบทพากย์ ซึ่งแต่งเป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง 16 หรือกาพย์ยานี 11 บทมีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังนี้1. พากย์เมือง หรือพากย์พลับพลา คือบทตัวเอก เช่น ทศกัณฐ์หรือพระรามประทับในปราสาทหรือพลับพลา
    2. พากย์รถ เป็นบทชมพาหนะและกระบวนทัพ ไม่ว่าจะเป็นรถ ม้า ช้าง หรืออื่นใดก็ได้ ตลอดจนชมไพร่พลด้วย
    3. พากย์โอ้ เป็นบทโศกเศร้า รำพัน คร่ำครวญ ซึ่งตอนต้นเป็นพากย์ แต่ตอนท้ายเป็นทำนองร้องเพลงโอ้ปี่ ให้ปี่พาทย์รับ
    4. พากย์ชมดง เป็นบทตอนชมป่าเขา ลำเนาไพร ทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้อง เพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองพากย์ธรรมดา
    5. พากย์บรรยาย เป็นบทขยายความเป็นมา ความเป็นไป หรือพากย์รำพึงรำพันใดๆ เช่น พากย์บรรยายตำนานรัตนธนู
    6. พากย์เบ็ดเตล็ด เป็นบทที่ใช้ในโอกาสทั่วๆ ไป เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เข้าประเภทใด เช่นกล่าวว่า ใครทำอะไร หรือพูดกับใคร ว่าอย่างไร
  3. บทเจรจา เป็นบทกวีที่แต่งเป็นร่ายยาว ส่งและรับสัมผัสกันไปเรื่อยๆ ใช้ได้ทุกโอกาส สมัยโบราณเป็นบทที่คิดขึ้นสดๆ เป็นความสามารถของคนพากย์ คนเจรจา ที่จะใช้ปฏิภาณคิดขึ้นโดยปัจจุบัน ให้ได้ถ้อยคำสละสลวย มีสัมผัสแนบเนียน และได้เนื้อถ้อยกระทงความถูกต้องตามเนื้อเรื่อง ผู้พากย์เจรจาที่เก่งๆ ยังสามารถใช้ถ้อยคำคมคาย เหน็บแนมเสียดสี บางครั้งก็เผ็ดร้อน โต้ตอบกันน่าฟังมาก ปัจจุบันนี้ บทเจรจาได้แต่งไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้พากย์เจรจาก็ว่าตามบทให้เกิดอารมณ์คล้อยตามถ้อยคำ โดยใช้เสียงและลีลาในการเจรจา ผู้พากย์และเจรจาต้องทำสุ้มเสียงให้เหมาะกับตัวโขน และใส่ความรู้สึกให้เหมาะกับอารมณ์ในเรื่อง

คนพากย์และเจรจานี้ใช้ผู้ชาย คนหนึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งพากย์และเจรจา และต้องมีไม่น้อยกว่า 2 คน จะได้โต้ตอบกันทันท่วงที เมื่อพากย์หรือเจรจาจบกระบวนความแล้ว ต้องการจะให้ปี่พาทย์ทำเพลงอะไรก็ร้องบอกไป เรียกว่า “บอกหน้าพาทย์” และถ้าการแสดงโขนนั้นมีขับร้อง คนพากย์และเจรจายังจะต้องทำหน้าที่บอกบทด้วย การบอกบทจะต้องบอกให้ถูกจังหวะ

โขน วัฒนธรรม ประเพณีไทย

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ