วันสำคัญของไทย ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 วันออกพรรษา

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11

วันออกพรรษา 2556 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร

นิยาม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นการจำพรรษาแห่งพระสงฆ์ คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ว่า วันออกพรรษา, วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา

ประวัติความเป็นมาวันออกพรรษา

วันออกพรรษา เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ที่ร่วมกันในวัดหรือสถานที่ซึ่ง อธิษฐานเข้าตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันนี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม ซึ่งเรียกว่า วันมหาปวารณา คือ วันที่พระภิกษุ์สงฆ์ทุกรูปจะอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในเรื่องราวเกี่ยวกับความประพฤติต่างๆ นับตั้งแต่พระสังฆเถระ ได้แก่ พระภิกษุ์ผู้ที่มีอาวุโสสูงลงมา จะสามารถว่ากล่าวตักเตือนหรือเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกัน

การกระทำมหาปวารณา เป็นการสังฆกรรมอย่างหนึ่งแทนการสวดพระปาฏิโมกข์ (พระวินัย) ที่ได้กระทำกันทุกๆ 15 วันในช่วงเข้าพรรษา

วันออกพรรษา วันออกพรรษานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา (อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา) หรือวันมหาปวารณา คือ วันที่เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุ ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน ซึ่งความเป็นมาของการทำปวารณากรรม หรือให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันและกัน ในวันออกพรรษานี้ สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล พุทธสาวกจะมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อออกพรรษาหมดฤดูฝน แม้จะจำพรรษาอยู่ที่ใกล้ไกลแค่ไหน ก็จะพากันเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นได้เฝ้าแล้ว พระพุทธองค์จะทรงตรัสถาม ถึงสิ่งที่พระภิกษุได้ประพฤติปฏิบัติในระหว่างจำพรรษา ปรากฏว่ามีพระภิกษุกลุ่มหนึ่ง เกรงว่าในช่วงจำพรรษาด้วยกัน จะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท จนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกากันเองว่า จะไม่พูดจากัน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้ จึงทรงตำหนิว่าการประพฤติ มูควัตร (ทำตนเป็นใบ้เงียบไม่พูดจากัน) เป็นเรื่องเหลวไหลไร้ประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ เพราะประพฤติเหมือนพฤติกรรมของสัตว์ เช่น แพะ แกะ ไก่ วัว ที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ถามไถ่ทุกข์สุขของกันและกัน

แล้วทรงสั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า ความประพฤติเช่นนั้นไม่สมควรแก่คนทั้งหลายหรือผู้ที่มีความเจริญแล้ว แล้วจึงทรงวางระเบียบวินัยให้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อมาว่าให้ภิกษุที่จำพรรษา ครบสามเดือนแล้วทำปวารณาแทนอุโบสถสังฆกรรมในวันออกพรรษา การ ปวารณาหรือการว่ากล่าวตักเตือนในหมู่สงฆ์นี้ ผู้ว่ากล่าวตักเตือนจะต้องทำด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตักเตือนทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ถ้าเป็นจริงตามคำกล่าวก็ปรับปรุงตัวใหม่ หากไม่จริง ก็สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้กระจ่าง ทั้งสองฝ่ายต้องคิดว่าทักท้วงเพื่อก่อ ฟังเพื่อแก้ไข จึงจะได้ประโยชน์ และตรงกับความมุ่งหมายของการปวารณา ที่จะสร้างความสมัครสมานสามัคคี และดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์

สำหรับฆราวาสหรือพุทธศาสนิกชน ก็สามารถนำหลักการปวารณาในวันออกพรรษานี้ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ทั้งในครอบครัว สถานศึกษาหรือในสถานที่ทำงาน โดยยึดความเมตตาต่อกันเป็นที่ตั้ง คือ ถ้าจะติก็ติด้วยความหวังดีมิใช่ทำลายอีกฝ่าย ส่วนผู้ถูกติก็ควรรับฟังด้วยดี และมองเห็นความหวังดีของผู้ว่ากล่าว หากจริงก็แก้ไข ไม่จริงก็ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่นนี้ย่อมทำให้สังคมเกิดความสงบสุข? สามารถแก้ไขปัญหาและพร้อมจะพัฒนาไปด้วยกันทุกฝ่าย สรุปได้ว่าความสำคัญของวันออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งด้วยเหตุผล คือ

  • พระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
  • เมื่อถึงวันออกพรรษา พระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษา ไปเผยแพร่แก่ประชาชน
  • ในวันออกพรรษาพระ สงฆ์จะได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนภิกษุว่ากล่าวตักเตือน เรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือ และความสามัคคีกันระหว่างสมาชิกของสงฆ์
  • พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป

สำหรับคำกล่าวที่พระพุทธเจ้า ทรงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง วุตถานัง ภิกขูนัง ตีหิ ฐาเนหิ ปะวาเรตุง ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา… แปลว่า ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะ คือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี

การประกอบพิธีในวันออกพรรษา

การประกอบพิธีในวันออกพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนจะนิยมทำบุญเป็นกรณีพิเศษ เช่นตักบาตรในตอนเช้า ถวายสังฆทาน ไปทำบุญที่วัด ถวายภัตตาหาร ฟังพระธรรมเทศนา และมีการตักบาตรเทโวในวันรุ่งขึ้น

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันออกพรรษา

1. ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับ
2. ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ร่วมกุศลกรรม “ตักบาตรเทโว”
4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ และประดับธงชาติและธงธรรมจักตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย ฉายสไลด์ หรือบรรยาธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษา ฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไป

วันสำคัญของไทย ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 วันออกพรรษา -2

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษาที่นิยมปฏิบัติ คือ
1. ประเพณีตักบาตรเทโว (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว 1 วัน)
2. พิธีทอดกฐิน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 12 กำหนด 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา)
3. พิธีทอดผ้าป่า (ไม่จำกัดกาล)
4. ประเพณีเทศน์มหาชาติ (นิยมทำกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ วันแรม 8 ค่ำ กลางเดือน 12 ในบางท้องถิ่นอาจนิยมทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 หรือในเดือน 10)

  1. ประเพณีตักบาตรเทโว
    การตักบาตรเทโว จะกระทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือหลังออกพรรษาแล้ว 1 วัน
    ประวัติความเป็นมาของประเพณีการตักบาตรเทโว
    ในสมัยพุทธกาล เมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมและเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษา อยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสนคร
    การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากชั้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า “เทโวโรหณะ”ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
  2. พิธีทอดกฐิน
    ประวัติการทอดกฐิน
    ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวนาราม ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส ได้มีภิกษุ 30 รูป ชาวเมืองปาฐา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศล เดินทางมาหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองสาวัตถี แต่มาไม่ทันเพราะใกล้ถึงวันเข้าพรรษา จึงเข้าพักจำพรรษา ณ เมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์
    ภิกษุทั้ง 30 รูป ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะ ได้เฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อถึงวันออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอแม้ว่ายังเป็นช่วงที่ฝนยัง ตกหนักน้ำท่วมอยู่ทั่วไป แม้จะต้องฝ่าแดดกรำฝน ลุยฝน อย่างไรก็ไม่ย่อท้อ
    เมื่อภิกษุทั้ง 30 รูป ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตั้งใจแล้ว ครั้นพระองค์ตรัสรู้ถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมมิกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ผลในลำดับนั้น พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐินได้ สำหรับในเมืองได้ผ่านวันออกพรรษาแล้ว นางวิสาขาได้ทราบพุทธานุญาตและได้เป็นผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก
  3. พิธีทอดผ้าป่า
    ประวัติความเป็นมา
    ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับจีวรจาก ชาวบ้าน พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่นผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ ผ้าที่ห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาทำความสะอาด ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง การทำจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงค่อนข้างยุ่งยากหรือเป็นงานใหญ่ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องพิธีทอดกฐิน
    ครั้นชาวบ้านทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์ต้องการนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่น ในป่า ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบ ก็นำเอามาทำเป็นสบง จีวร พิธีการทอดผ้าก็มีความเป็นมาด้วยประการฉะนี้
    สำหรับในเมืองไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รับรื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้วยทรงพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระศาสนา
  4. ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ
    ประเพณีการเทศน์มหาชาติจัดเป็นการทำบุญที่สำคัญและมีความหมายที่สุดในสังคม ไทย เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึง ปัจจุบันเพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรง แลหากใครตั้งใจฟังให้จบใน วันเดียวจะได้เกิดร่วมและพบพระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้าในอนาคต
    ในพระราชสำนัก ปรากฏเป็นราชพิธีในวังหลวงมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ถึงกับทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรม ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติ พระราชพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี จนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง
    ในท้องถิ่น โดยฌแพาะในเขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปีจะจัดขึ้นใน ราวเดือน 4 เรียกว่า บุญพระเวส ทั้งยังมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลนี้ด้วย เช่น พิธีแห่พระเวสเข้าเมืองและพิธีแห่ข้าวพันก้อนเพื่อบูชาคาถาพัน ทางภาคเหนือ ก็ให้ ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมาก เห็นได้จากมีประเพณีสร้างหลาบเงินหรือแผ่นเงินแกะลาย แขวนห้อยรอบฉัตร ถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงาน ทางภาคใต้นั้นประเพณีเทศน์มหาชาติได้ คลี่คลายไป เป็นประเพณีสวดด้านซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายอย่างกรุงเทพฯ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แหล่งอ้างอิง

  1. ธนากิต วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
  2. ธนากิต ประเพณี พิธีมงคล และ วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2539.
  3. วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,2528.
  4. ศิลปากร, กรม. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. ขนมธรรมเนียมประเพณีและวัมนธรรมกรุงรัตน โกสินทร์. กรุงเทพฯ : 2525.

วันสำคัญของไทย ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 วันต้นไม้แห่งชาติ

วันต้นไม้แห่งชาติ

(15 ค่ำเดือน 6 )

วันต้นไม้แห่งชาติ

15 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี

15 ค่ำเดือน 6 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น วันต้นไม้แห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทย ตระหนักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ อันจะเป็นหนทางนำไปสู่การอนุรักษ์และรู้จักการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต

ป่าไม้นับเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อจำนวนประชากรของประเทศเพิ่มขึ้น ความต้องการในด้านบริโภคย่อมขยายตัวตามไปด้วย แต่เนื่องจากทรัพยากรบางประเภทมีอยู่อย่างจำกัด เช่น ที่ดิน ป่าไม้ สินแร่ ถ่านหิน น้ำมัน ฯลฯ โดยเฉพาะ ทรัพยากรป่าไม้ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ได้โดยง่าย แต่การปลูกทดแทนต้องรอเวลาและใช้งบประมาณสูงในการดูแลรักษาทำนุบำรุง

ดังนั้นปลายปี พ.ศ.2528 รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อให้การจัดการและการพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ สามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่องเป็นแผนระยะยาว และประสานสอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรชนิดอื่นๆ และเพื่อให้ส่วนราชการรวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้มีความเข้าใจร่วมกันและถือปฏิบัติไปในทางเดียวกัน

นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ได้กำหนดไห้ให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ทั้งนี้ได้กำหนดไว้เป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันภัย ธรรมชาติอันเกิดจากน้ำท่วมและการพังทลายของดิน ตลอดทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและนันทนาการของประชาชน คิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนอีกร้อยละ 25 นั้น รัฐบาลได้กำหนดไว้เป็นป่าเศรษฐกิจเพื่อการผลิตไม้และของป่า

คุณประโยชน์ป่าไม้สำหรับมนุษย์และสัตว์โลกนั้น มัทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทางตรงได้แก่การนำมาเป็นอาหาร ยารักาาโรค ที่อยู่อาศัย ทำเส้นใยเครื่องนุ่งห่ม ทำสิ่งปลูกสร้างอาศัย ใช้เป็นวัตถุเคมี ฯลฯ

ในทางอ้อม ป่าไม้เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ฝนตก และทำให้เกอดความชุ่มชื้น ช่วยบรรเทาความร้ายแรงของพายุ ช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ฯลฯ

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ป่าไม้ได้ถูกทำลายอย่างรวดเร็วทั้งจากภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า แต่สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือ การตัดไม้ทำลายป่า อันเป็นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดมาใช้อย่างขาดแผนการดูแลบำรุงรักษาและปลูกทด แทน

เพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้คงอยู่คู่เมืองไทยตลอด ไป คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้ปี พ.ศ.2528 – 2531 เป็นปีต้นไม้แห่งชาติและกำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันต้นไม้แห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทยตระหนักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้อัน จะเป็นหนทางนำไปสู่การอนุรักษ์และรู้จักการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างคุ้มต่า เพื่อเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฎิบัติในวันต้นไม้แห่งชาติ

  1. จัดนิทรรศการ เอกสารเผยแพร่คุณประโยชน์และความสำคัญของป่าไม้ รวมทั้งการอนุรักษ์
  2. ร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับวันต้นไม้แห่งชาติ ซึ่งจัดโดยภาครัฐบาล หรือเอกชนต่างๆ เช่นปลูกต้นไม้ การป้องกันไฟป่า ฯลฯ

แหล่งอ้างอิง
1. ธนากิต วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
2. ธนากิต ประเพณี พิธีมงคล และ วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2539.

วันสำคัญของไทย ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา – Asalha Puja Day

วันอาสาฬหบูชา ในปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 11 ก.ค. 2557

ความหมายของ อาสาฬหบูชา

“อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา

โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ

  1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
  2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
  3. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
  4. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูป แรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
  5. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)

วันสำคัญของไทย ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา-2

วันอาสาฬหบูชา คือ วันสำคัญของไทย เป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน หลังจาก สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน 6 แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรมและทรงคำนึงว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้ง มาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้งจึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น 4 ประเภทคือ

  1. อุคฆติตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้ได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น
  2. วิปัจจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จะบานในวันรุ่งขึ้น
  3. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อ ๆ ไป
  4. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำกับเปือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา

เมื่อ ทรงเล็งเห็นเหตุนี้แล้ว พระพุทธองค์ตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน จึงเสร็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ ถึงกรุงพาราณสี ในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน อาสาฬหะ ประทับแรมอยู่กับพระปัญจวัคคีย์นั้น รุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ สรุปลงด้วยอริยสัจ 4 ได้แก่

  1. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
  2. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
  3. นิโรธ ความดับทุกข์
  4. มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ว่า “ปฐมเทศนา”

ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านโกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระองค์ จึงได้สมัครเข้าเป็นสาวก นับเป็น“ปฐมสาวก” ของพระพุทธเจ้า

หลัง จากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา” นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์
จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ในวันอาสาฬหบูชานี้มีถึง 4 ประการ ด้วยกันคือ

  1. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
  2. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
  3. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
  4. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือ
    • พระพุทธรัตนะ
    • พระธรรมรัตนะ
    • พระสังฆรัตนะ

เดิมวันนี้ไม่มีพิธีพิเศษ คงเนื่องมาจากวันก่อนเข้าพรรษาเพียงวันเดียว ประชาชนชาวพุทธได้ประกอบการบุญการกุศลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ต่อมาสังฆมนตรี มีมติให้ชาวพุทธประกอบการบูชาเป็นพิเศษในวันนี้ และเรียกว่า “วันอาสาฬหบูชา” เมื่อรัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติ

จึง นับแต่ปี พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชาพวกเราชาวพุทธ ต่างก็ประกอบการบูชาเป็นพิเศษตลอดวันนั้น นับตั้งแต่รับศีล ฟังเทศน์ สนทนาธรรม สวดมนต์ เดินเวียนเทียนพระพุทธสถาน เช่น รอบโบสถ์ วิหาร เจดีย์ หรือต้นศรีมหาโพธิ เป็นต้น เช่นเดียวกันวันมาฆบูชา วิสาขบูชา ต่างกันที่เปลี่ยนคำบูชาพระก่อนเวียนเทียนตามประกาศของสำนักสังฆนายก

วันสำคัญของไทย ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา-3

แหล่งที่มาวันอาสาฬหบูชา
ศิลปากร, กรม. กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์. ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ,2525.

ที่มาจาก : tlcthai