นิทานขาดก เสียงสัตว์ ๘ ชนิด

นิทานขาดก เสียงสัตว์ ๘ ชนิด

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภเสียงแสดงความแร้นแค้นอันน่าสพึงกลัวที่พระเจ้าโกศลได้สดับในเวลา เที่ยงคืน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหิมพานต์ ต่อมาได้เข้าไปพำนักอยู่ในสวนหลวงของพระเจ้าพรหมทัต ผู้ปกครองเมืองพาราณสี โดยที่ระราชาไม่ทรงทราบ ในคืนหนึ่ง เวลาเที่ยงคืนขณะที่พระราชากำลังบรรทมอยู่นั้นได้สดับเสียง ๘ เสียงที่ดังติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย คือ
๑. เสียงนกกระยางตัวหนึ่งในสวนหลวงร้อง
๒. แม่กาอาศัยอยู่ที่เสาระเนียดโรงช้างร้อง
๓. แมลงภู่ที่ช่อฟ้าเรือนหลวงร้อง
๔. นกดุเหว่าที่เลี้ยงไวในเรือนหลวงร้อง
๕. เนื้อที่เลี้ยงไว้ในเรือนหลวงร้อง
๖. ลิงที่เลี้ยงไว้ในเรือนหลวงร้อง
๗. กินนร (อมนุษย์ในเทพนิยายท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก) ร้อง
๘. พระปัจเจกพุทธเจ้าได้เปล่งเสียงอุทานขึ้น

พระองค์เมื่อสดับเสียงเหล่านี้แล้วตกพระทัยสะดุ้งกลัว ในวันรุ่งขึ้นจึงได้รับสั่งให้พราหมณ์ซึ่งเป็นโหรหลวงเข้าเฝ้าสอบถามถึง เภทภัย พวกโหรหลวงตรวจดูเลขผานาทีแล้วถวายบังคมว่า “อันตรายจักบังเกิดขึ้นแก่พระองค์พระเจ้าข้า” แล้วแนะนำให้ทำการบูชายัญสัตว์อย่างละ ๔ ตัวพระราชาทรงอนุญาตให้ทำตามนั้น

สมัยนั้น มีชายหนุ่มลูกศิษย์ของหัวหน้าพราหมณ์บูชายัญคนหนึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญาฉลาด เฉลียว จึงเข้าไปหาอาจารย์พร้อมทั้งได้อ้อนวอนว่า “อาจารย์ การบูชายัญด้วยสัตว์ ขอท่านอย่าได้ทำเลยนะท่านอาจารย์” อาจารย์ตอบว่า “เจ้าช่างไม่รู้อะไรเสียเลย ถ้าเราไม่ทำการบูชาแล้วเราจะมีอาหารที่ดี ๆ รับประทานได้อย่างไรกันเล่า”
ชายหนุ่ม “อาจารย์ ขอท่านอย่าเห็นแก่ปากท้องแล้วไปตกนรกเลยนะ” พวกพราหมณ์ได้ฟังเช่นนั้นแล้ว ก็บังเกิดความโกรธเกรี้ยวขึ้นหาว่าเขาขัดลาภ

ชายหนุ่มกลัวมีอันตรายแก่ตน จึงขอตัวเข้าเมืองไปแสวงหานักบวช เพื่อจะให้ไปห้ามพระราชาไม่ให้กระทำการบูชายัญ และได้แวะเข้าไปหาฤๅษีที่พำนักอยู่ในสวนหลวงนั้น ด้วยมั่นใจว่าจะเป็นผู้ที่พระราชาให้ความเคารพนับถือ เรียนให้ฤๅษีทราบว่า “พระคุณเจ้า ท่านไม่คิดจะสงเคราะห์ชีวิตสัตว์บ้างหรือ พระราชามีรับสั่งให้ฆ่าสัตว์บูชายัญในวันนี้ ขอท่านได้โปรดช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่จะไม่สมควรอยู่หรือ” พระฤๅษีตอบว่า”ก็ถูกต้องล่ะพ่อหนุ่ม แต่ว่าพระราชาไม่รู้จักเรา และเราก็ไม่รู้จักพระราชาเช่นเดียวกัน”
ชายหนุ่ม “ว่าแต่ว่า พระคุณเจ้ารู้ผลของเสียงที่พระราชาทรงสดับหรือไม่”
พระฤๅษี “ใช่เรารู้”
ชายหนุ่ม “เมื่อพระคุณเจ้ารู้ทำไมพระคุณเจ้าไม่กราบทูลพระราชาล่ะ”
พระฤๅษี “พ่อหนุ่ม ถ้าพระราชาทรงเสด็จมาที่นี้ เราก็จะกราบทูลให้ทรงทราบ”
ชายหนุ่ึ่มรีบเข้าไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบว่ามีฤๅษีตนหนึ่งมาพำนักอยู่ ที่สวนหลวง ทราบเสียงที่พระองค์ทรงสดับว่า มีผลเป็นอย่างไร พระราชาทรงเสด็จไปสวนหลวงในทันที เมื่อไปถึงทรงไหว้ฤๅษีแล้วถามถึงเสียงเหล่านั้น พระฤๅษีกราบทูลให้ทรงทราบว่า “มหาบพิตร.. จะไม่มีอันตรายอะไรเกิดขึ้นแก่พระองค์เลย เพราะได้สดับเสียงเหล่านั้น นกกระยางตัวหนึ่งที่สวนหลวงไม่ได้เหยื่อ หิวอาหารจึงร้องขึ้นเป็นเสียงแรก ถ้าพระองค์จะทรงเมตตาต่อมัน ก็ขอให้ชำระสวนให้สะอาดแล้วปล่อยน้ำให้เต็มสระเถิด ” พระราชารับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งไปกระทำตามนั้น
พระฤๅษีทูลต่อว่า “แม่กาตัวหนึ่งที่เสาพะเนียดโรงช้างโศกเศร้าคิดถึงลูกน้อย ๒ ตัวที่ตายไป จึงร้องเป็นเสียงที่ ๒ สาเหตุเพราะนายคราญช้างชื่อพันธุระที่ตาบอดข้างหนึ่ง เวลาขี่ช้างออกจากโรงมักจะเอาขอตีถูกแม่กาบ้างลูกกาบ้าง รื้อรังมันบ้าง แม่กาได้รับความลำบากจึงร้องขอให้ตาของนายควาญช้างนั้นบอดทั้ง ๒ ข้าง ถ้าพระองค์จะเมตตาต่อมัน จงเรียกนายพันธุระมาให้เลิกทำพฤติกรรมนั้นเสียเถิด”
พระราชารับสั่งให้หาตัวนายพันธุระมาเข้าเฝ้า ทรงปริภาษแล้วไล่ออกไป ทรงตั้งคนอื่นเป็นนายควาญช้างแทน
พระฤๅษีทูลต่อว่า “แมลงภู่ตัวหนึ่งที่ช่อฟ้ามหาปราสาทกัดกินกระพี้ไม้หมดแล้วไม่อาจจะกัดกิน แก่นไม้ได้ เมื่อไม่ได้อาหารและบินออกไปที่อื่นไม่ได้ จึงร้องออกไปเป็นเสียงที่ ๓ ถ้าพระองค์จะทรงเมตตาต่อมันจงให้คนนำมันออกจากช่อฟ้านั้นเถิด” พระราชารับสั่งให้ทหารคนหนึ่งไปนำแมลงภู่ออกจากช่อฟ้าแล้วปล่อยไป
พระฤๅษีทูลต่อว่า “นกดุเหว่าตัวหนึ่งคิดถึงป่าที่ตนเคยอยู่อาศัยว่า ‘เมื่อไรหนอเราจึงจะพ้นกรงนี้ ได้ไปสู่ป่าที่ร่มเย็นของเรา’ จึงร้องขึ้นไปเป็นเสียงที่ ๔ ถ้าพระองค์จะทรงเมตตามัน จงปล่อยมันไปเถิด” พระราชารับสั่งให้นายพรานคนหนึ่งนำมันไปปล่อยในที่ของมันตามเดิม
พระฤๅษีทูลต่อว่า “เนื้อตัวหนึ่งในเรือนหลวงที่พระองค์ได้ทรงเลี้ยงไว้ มันเป็นพญาเนื้อ เมื่อคิดถึงนางเนื้อของตนจึงร้องขึ้นเป็นเสียงที่ ๕ ถ้าพระองค์จะทรงเมตตาก็ปล่อยมันไปเถิด” พระราชารับสั่งให้นำมันไปปล่อยที่เดิม
พระฤๅษีทูลต่อว่า “มีลิงตัวหนึ่งที่ถูกเลี้ยงไว้ในเรือนหลวงบังเกิดความกำหนัดขึ้นต้องการผสม พันธุ์กับฝูงลิงในป่า ดิ้นรนอยากที่จะออกไปจึงร้องขึ้นเป็นเสียงที่ ๖ ขอพระองค์ทรงปล่อยมันไปเถิด” พระราชารับสั่งให้ทำตามนั้น
พระฤๅษีทูลต่อว่า “มีกินนรตัวหนึ่งที่ถูกเลี้ยงไว้ในเรือนหลวงคิดถึงนางกินรี ดิ้นรนเพราะอำนาจกิเลส จึงร้องขึ้นเป็นเสียงที่ ๗ ขอพระองค์ทรงปล่อยมันไปเถิด” พระราชารับสั่งให้ทำตามนั้น
พระฤๅษีทูลต่อว่า “มหาบพิตร เสียง ๘ เป็นเสียงอุทานของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่อายุสังขารจะสิ้นลง จึงเหาะจากภูเขามายังถิ่นมนุษย์จึงได้ปรินิพพานที่โคนไม้ในสวนหลวงของ พระองค์ เมื่อมาถึงยอดปราสาทของพระองค์ได้เปล่งเสียงอุทานขึ้น ขอเชิญพระองค์เสด็จไปปลงศพท่านด้วยเถิด” ทูลจบก็นำพาพระราชาไปยังที่นั่น พระราชาพร้อมหมู่พลได้ทำการบูชาศพพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ของหอม สั่งให้งดการบูชายัญ พร้อมทั้งประกาศห้ามฆ่าสัตว์ในเมือง ให้เล่นมหรสพและทำการสักการะศพของพระปัจเจกพุทธเจ้าตลอด ๗ วัน พระฤๅษีได้แสดงธรรมแก่พระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้วก็กลับเข้าป่า หิมพานต์ตามเดิม

 

นิทานขาดก เสียงสัตว์ ๘ ชนิดเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ปัญหาทุกปัญหามีทางออกและมีวิธีแก้ที่ถูกต้องถ้าได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง