รู้จักโรคความดันโลหิตสูง สาเหตุและวิธีการรักษา

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้สูงถึง 25 – 30% และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบในผู้สูงอายุถึงร้อยละ 50 ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กก็สามารถพบได้เช่นกันแต่น้อยมาก ทั้งนี้เราควรทำความเข้าใจก่อนว่าความดันปกติของคนจะอยู่ที่ 120/80 มม.ปรอท แต่ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะอยู่ที่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป

โรคความดันโลหิตสูง

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากอิทธิพลของเอนไซม์ที่เรียกว่า “เรนิน” (Renin) และฮอร์โมนแองจิโอเท็นซิน (Angiotensin) จากไต สารทั้งสองชนิดนี้จะทำงานร่วมกับต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมอง ในการควบคุมน้ำ เกลือแร่ โซเดียม และการบีบตัวของหลอดเลือดในร่างกายทั้งหมด

โรคความดันโลหิตสูงชนิดทราบสาเหตุ เกิดจากโรคต่างๆ ที่มีผลต่อหลอดเลือด หัวใจ ฮอร์โมน และเกลือแร่ในร่างกาย เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคของหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงไตจากการติดสุรา การทำงานของฮอร์โมนที่ผิดปกติของต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ได้แก่ พันธุกรรม การกินอาหารรสเค็มเป็นประจำ การติดสุรา ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย การใช้ยาบางชนิดจำพวกสเตียรอยด์ และผลข้างเคียงของอาการจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

 

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการให้ปรากฏอย่างแน่ชัด อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เพชฌฆาตเงียบ” ที่จะทราบได้ว่าเป็นก็ต่อเมื่อมีการตรวจสุขภาพ แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน มึนงง คล้ายจะเป็นลม หากมีอาการหนักมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ระยะการเป็นโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายยาก แต่สามารถควบคุมได้เมื่อมีการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นระยะแรก ปฏิบัติตามแพทย์แนะนำและทานยาสม่ำเสมอ

ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 120 – 139 / 80 – 89 มม.ปรอท

ระยะที่ 1 ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 140 – 159 / 90 – 99 มม.ปรอท

ระยะที่ 2 ความดันโลหิตตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอท ขึ้นไป

ระยะที่ 3 ความดันโลหิตตั้งแต่ 180/110 มม.ปรอท ขึ้นไป ต้องพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จากอาการหัวใจ สมอง หรือไตทำงานล้มเหลว

ระยะที่ 4 ความดันโลหิตตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอท ขึ้นไป ต้องพบแพทย์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะเป็นอันตรายและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงมาก

 

วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง

แพทย์จะให้ยาลดความดันโลหิต อาจจะเป็นยากินหรือยาฉีด ซึ่งจะเลือกใช้แบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ควบคู่ไปกับการรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง และรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น การให้ยาคลายความเครียด และการพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

 

การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

สิ่งที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่สุดคือ การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และทานยาให้ครบอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารโดยลดแป้ง น้ำตาล ไขมัน และไม่ทานอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำทุกวัน เลิกบุหรี่และสุราอย่างเด็ดขาด และพบแพทย์ตามนัดเสมอหรือหากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้นเองค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจากเว็บ Tamsabuy.net