ประเพณีไทย ประเพณีปักธงชัย

ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีปักธงชัย

ประเพณีไทย ประเพณีปักธงชัย
ประเพณีปักธงชัย เป็นประเพณีโบราณที่กระทำสืบเนื่องกันมายาวนาน โดยการนำผ้าขาว 3 ผืนไปปักบนยอดเขาฉันเพล ยอดเขาฮันไฮหรือยอดเขาย่านชัยและยอดเขาช้างล้วง เพื่อระลึกและแสดงถึงความศรัทธาที่มีต่อวีรกรรมของพ่อขุนบางกลางหาว (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ผู้ครองเมืองบางยาง ถือเป็นองค์ปฐมบรมกษัตริย์ของชาติไทย ที่สู้รบกับข้าศึกศัตรูจนได้รับชัยชนะ แล้วนำผ้าคาดเอวของท่านผูกที่ปลายไม้ นำขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วงเพื่อประกาศชัยชนะ ชาวนครไทยมีความเชื่อว่า หากปีใดไม่มีการนำธงขึ้นไปปักไว้บนยอดเขาช้างล้วง จะเกิดภัยพิบัติ หรือเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ แก่ชาวบ้านหากได้ร่วมงานก็จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เขาช้างล้วงแห่งนี้มีร่องรอยการนั่งสมาธิของฤๅษีองค์หนึ่งที่มานั่งสมาธิ ณ บริเวณโขดหินหลังจุดประกอบพิธีปักธงชัย ด้วยอิทธิบุญบารมีก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์โดยปรากฏเป็นรอยเท้าเหยียบอยู่บนโขด หิน และบริเวณที่นั่งสมาธินั้นก็ปรากฏเป็นแอ่งหินรูปร่างเหมือนบั้นท้ายของคนตอน ที่นั่งขัดสมาธิ (ก้นฤๅษี) จวบจนทุกวันนี้ บางตำนานเล่าว่าในขณะที่พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนหาญห้าว (น้องชาย) ได้มาตั้งเมืองอยู่นี้ วันหนึ่งพ่อขุนหาญห้าว กระหายน้ำจึงเดินเข้าไปในป่า ขึ้นเขาแล้วไปพบแอ่งน้ำ(รอยนั่งของฤๅษี) ก็ได้ดื่มกินและอาบน้ำ ปรากฏว่าร่างกายของพ่อขุนหาญห้าวนั้นกลายเป็นทอง ประหนึ่งลงไปชุบในอ่างทองคำ และเมื่อพ่อขุนหาญห้าวกลับเข้ามาในเมืองเหล่าทหารก็จำไม่ได้ ก็ไม่ยอมให้เข้าเมือง พ่อขุนหาญห้าวจึงได้โยนหอกโยนดาบใส่ทหาร พอทหารเห็นดังนั้นจึงจำพ่อขุนหาญห้าวได้ จึงยอมให้เข้าเมือง พ่อขุนบางกลางหาวเห็นร่างกายของพ่อขุนหาญห้าวเป็นทองทั้งตัว ก็ต้องการจะไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นบ้างจึงให้พ่อขุนหาญห้าวพาไป เมื่อเดินทางไปที่เดิมกลับไม่พบบ่อน้ำนั้นแล้ว พ่อขุนบางกลางหาวโกรธพ่อขุนหาญห้าวมาก คิดว่าน้องชายไม่รักไม่ต้องการให้ตนได้ดื่มน้ำ อาบน้ำจากบ่อน้ำนั้น จึงต่อว่าพ่อขุนหาญห้าว พ่อขุนหาญห้าวเสียใจจึงไปกินยาฝิ่นเกินเกินขนาดจนสิ้นใจตาย ปัจจุบันประเพณีปักธงชัยจัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ในสมัยก่อนเลือกวันใดวันหนึ่งระหว่างขึ้น 1 ค่ำถึง ขึ้น14 ค่ำเดือน 12 โดยมีพิธีกรรมดังต่อไปนี้
ประเพณีไทย ประเพณีปักธงชัย
ก่อนถึงวันประกอบพิธี
เมื่อใกล้เทศกาลปักธงชัย เวลากลางคืน ชาวบ้านที่เป็นชายจะเป็นผู้ ตีฆ้องเดินนำหน้า พระภิกษุไปรับ บิณฑบาต “ดอกฝ้ายสีขาว” จากนั้นสตรีสูงอายุในหมู่บ้านใกล้ๆ วัดเหนือ วัด กลาง และวัดหัวร้อง จะชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันตาก หีบ ดีด และเข็นฝ้าย (ปั่นฝ้าย) จะได้เส้นด้ายสีขาวนวล (ปัจจุบันใช้วิธีการร่วมกันทำบุญซื้อเส้นฝ้าย) จากนั้นช่วยกันทอธงผ้า ขาว 3 ผืน ขนาดใหญ่ กว้าง 90 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เมตร ทอเป็นลวดลายบริเวณชายธงอย่างสวยงาม เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำเดือน12 จะนำธงไปทำพิธีบวงสรวงที่อนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางหาวภาคบ่ายมีการประกวดริ้ว ขบวนจากทุกหมู่บ้าน และมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายอาทิ การประกวดริ้วขบวน การประกวดธง การแสดงพื้นบ้าน การประกวดธิดาพ่อขุน การแข่งขันขี่จักรยานเสือภูเขา เป็นต้น กลางคืนจัดมหรสพการแสดงพื้นบ้านต่างๆ การแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ พ่อขุนบางกลางหาว
ประเพณีไทย ประเพณีปักธงชัย
วันประกอบพิธี
จะประกอบพิธีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวอำเภอนครไทยจะนำอาหารหวานคาว และนิมนต์พระภิกษุขึ้นไปยังเทือกเขาช้างล้วง ถวายภัตตาหารเพล ผู้นำชาวบ้าน จะกล่าวคำถวายธงผ้าขาวต่อพระภิกษุด้วยภาษาบาลี พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ชาวบ้านจะนำธงผ้าขาวมาผูกติดกับด้ามไม้ไผ่ นำไปปักบนร่องหินธรรมชาติ ณ ยอดเขาฉันเพล ยอดเขายั่นไฮ และยอดเขาช้างล้วง ตามลำดับ โดยมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธคุณทั้ง 3 จุด หลังจากเสร็จพิธีปักธงชัยแล้ว ชาวบ้านจะเล่นดนตรีพื้นบ้านและฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานลงมาจากยอดเขา ตอนกลางคืนร่วมลอยกระทงและชมการแสดงมหรสพต่างๆ
ประเพณีปักธงชัยเป็นประเพณีท้องถิ่นอันทรงคุณค่าที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมายาวนาน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีความผูกพัน สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลและรักถิ่นฐานบ้านเกิด
ประเพณีไทย ประเพณีปักธงชัย

(พิชญา เพ็งศรี)
ขอบคุณที่มาประเพณีไทย ประเพณีปักธงชัย http://wiki.nu.ac.th/index.php?title=ประเพณีปักธงชัย
Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ