สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ว-อ

สุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย ว-อ

วัวสันหลังหวะ

คนมีความผิดติดติดตัว จะคอยหวาดระแวง วัวเมื่อมีบาดแผลที่หลังพอเห็นกาบินผ่านมาก็หวาดระแวง
ว่ากาจะมาจิกแผลบางสำนวนใช้ว่า “วัวสันหลังขาด

วัวหายแล้วล้อมคอก

ของหายแล้วจึงจะเริ่มป้องกัน เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงคิดแก้ไข ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวไว้บางคนผูกวัวไว้ใต้ถุนบ้าน เมื่อมีคนมาลักขโมยวัวไปแล้ว จึงคิดทำคอกให้วัว

สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล

คำพูดหรือกิริยาท่าทางจะบอกถึงการได้รับการอบรมสั่งสอนมา สำเนียง หมายถึง คำพูด ภาษาหรือชาติกำเนิด

ส่วนกิริยาท่าทางจะบอกให้เห็นถึงการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

การได้ยินได้ฟังจากผู้อื่นหลายๆคนก็ไม่เท่ากับพบเห็นด้วยตนเอง สิบปากว่า หมายถึงการบอกเล่าหรือพูดโดยกี่คนก็ตามจะเข้าใจเท่ากับเราได้เห็นได้ลงมือทำเองย่อมไม่ได้

สีซอให้ควายฟัง

พูดสั่งสอนแนะนำคนโง่มักไม่ได้ผล เสียเวลาเปล่า ซอเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่มีเสียงไพเราะแต่หากเราสีซอให้ควายฟังควายย่อมไม่รู้ซึ้งถึงความไพเราะของเสียงซอ

หนูตกถังข้าวสาร

ผู้ที่มีฐานะยากจนได้แต่งงานกับคนร่ำรวยโดยมากจะใช้กับชายยากจนได้แต่งงานกับหญิงร่ำรวยฐานะดีข้าวสารเป็นอาหารที่หนูชอบกิน เมื่อหนูตกในถังข้าวสาร หนูย่อมอยู่ในความอิ่มหมีพีมันแวดล้อมด้วยอาหารถึงจะขึ้นจากถังไม่ได้ ก็ไม่อดอยากหิวโหย

หมูเขาจะหาม อย่าเอาคานเข้าไปสอด

เข้าไปขัดขวางกิจกรรมหรือการกระทำของผู้อื่นขณะที่กำลังจะสำเร็จทำให้เขาเสียผลประโยชน์เวลาหามหมูเขาจะเอาหมูห้อยไว้ตรงกลางไม้ใช้คนอย่างน้อย ๒ คนยกปลายทั้งสองขึ้นการเอาคานเข้ามาสอดตรงกลางไม้จะทำให้การหามหมูมีอุปสรรค ไม่คล่องตัว

อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

อดใจไว้ก่อนเพื่อรอสิ่งที่ดีกว่าข้างหน้า ผลไม้บางอย่างมีรสเปรี้ยวเมื่อยังดิบอยู่ เช่น มะม่วง ส้ม มะเฟือง แต่ถ้ารอจนสุก

ผลไม้นั้นจะหวานซึ่งจะได้กินของที่อร่อยกว่า

อ้อยเข้าปากช้าง

สิ่งของหรือประโยชน์ที่ตกอยู่ในมือผู้อื่นแล้วไม่ยอมคืน อ้อยเป็นอาหารที่ช้างชอบฉะนั้นเมื่ออ้อยเข้าปากช้างแล้ว ยากที่จะง้างออกได้ ซึ่งหมายถึงการเสียผลประโยชน์ โดยความผิดพลาดหรือรู้ไม่เท่าทันไปให้ผู้อื่นแล้ว ย่อมยากที่จะได้คืน

 

สุภาษิต คำพังเพย สำนวนไทย

สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ก-ฆ
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ง-ฒ
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ด-น
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย บ-พ
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ม-ล
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย ว-อ