ความเชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กูยบ้านตรึม

โดย นางบุญเลี้ยง ฉิมมาลี

บทความนี้ มีความประสงค์ให้ทราบ เกี่ยวกับบริบท ความเชื่อ วัฒนธรรมการแต่งกาย ภูมิปัญญา กฎเกณฑ์ อุดมการณ์ และการอยู่ร่วมกัน ของกลุ่มชาติพันธุ์กูย ในอดีตกูยมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองสูงมาก ด้วยโลกาภิวัตน์ และสื่อเทคโนโลยี ทำให้พวกเขารับเอาวัฒนธรรมจากชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดและความปลอดภัยของพวกเขาเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีกูยกลุ่มหนึ่งที่ยังคงรักษาความเป็นกูยไว้ให้คนรุ่น หลังได้ศึกษา นั้นคือกูยบ้านตรึม อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

บริบท ภูมิปัญญา กฎเกณฑ์ อุดมการณ์ และการอยู่ร่วมกัน
บ้านตรึม
ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2145 เดิมตั้งชื่อตามต้นคราม ต่อมาเพี้ยนเป็นตรึม ชาติพันธุ์กูยเรียกว่า “เซาะพืด” มีอายุนานกว่า 300 ปี ในปีพ.ศ. 2400 ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ชาวบ้านบางส่วนได้อพยพออกไปสร้างบ้านเรือนบริเวณรอบ หมู่บ้านตรึม ซึ่งต่อมากลายเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบลตรึม ปี 2526 แยกหมู่บ้านตรึมเป็น 2 หมู่ คือหมู่ 1 และหมู่ 16 บ้านตรึมมีพื้นที่ประมาณ 3,728 ไร่ ประกอบไปด้วยที่ทำกิน 3,481 ไร่ เป็นที่ตั้งหมู่บ้าน 200 ไร่ ป่าช้าและที่โคก 47 ไร่ ดินของบ้านตรึมเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะแก่การเพาะปลูก บ้านตรึมมีบ้าน 225 หลังคาเรือน ประชากร 1,045 คน ผู้ชาย 505 คน ผู้หญิง 540 คน อาชีพหลักคือการทำนา อาชีพเสริม คือ รับจ้างตัดอ้อย ทอผ้า จักสาน รายได้ส่วนใหญ่ของชาวบ้านตรึมมาจาการทำนา รับจ้างตัดอ้อย และทอผ้าไหม ซึ่งทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวตลอดปี ( อุษา หม้อทอง. 2547 : 169-173 )

ความเชื่อที่สำคัญมี 3 ประเภท คือ 1) ความเชื่อเกี่ยวกับผี มี 2 ประเภทได้แก่ผีปู่ตามีตะกวดเป็นสัญลักษณ์ ความเชื่อผีบรรพบุรุษ ตัวแทนคือ ผู้หญิงในสายตระกูล ได้แก่ผีมอและผีออ 2) ความเชื่อในพระพุทธศาสนา มีการไปทำบุญตักบาตรทุวันพระและวันสำคัญ 3) ความเชื่อทั่วไปและข้อขะลำต่าง ๆ ซึ่งเป็น กฎเกณฑ์ที่ทำให้คนในบ้านตรึมมีระเบียบวินัยเป็นอย่างดี

ในปีหนึ่งจะมีพิธีแซนอาหย่ะสองครั้ง ในเดือน 3 เพื่อขอบคุณปู่ตาที่ให้ผลผลิตการเกษตรอุดมสมบูรณ์ ในเดือน6 เพื่อขอให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล มีอาหารและน้ำที่บริบูรณ์ตลอดทั้งปี นอกจากพิธีแซนอาหย่ะแล้ว ในช่วงสำคัญของชีวิต ได้แก่ การเกิด การตาย การแต่งงาน การคลอดบุตร การบวช การเกณฑ์ทหาร และอื่น ๆ ทุกขั้นตอนต้องมีความเชื่อเรื่องผีปู่ตาตะกวดมาเกี่ยวพันด้วย ส่วนการนับผีบรรพบุรุษที่มีผู้หญิงของแต่ละตระกูลเป็นผู้สื่อสารกับผี บรรพบุรุษนั้น ได้แก่ มอและออ ในแต่ละปีจะ มีการเล่นมอและออ 3 โอกาส เล่นมอในโอกาสเลือกมอคนใหม่ ในวันปีใหม่ และรักษาคนป่วย จะเล่นในวันอังคารขึ้น 8 ค่ำ ส่วนออจะมีคายที่ทำด้วยดอกจำปา จะเล่น 3 โอกาสเช่นกัน เล่นออเพื่อเลือกออคนใหม่ เล่นออในวันเข้าพรรษาและออกพรรษา เล่นออเพื่อรักษาคนป่วย การเล่นออจะเล่นในวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ การเล่นมอและออมีข้อแตกต่างตรงมอใช้ช้างม้าเล่น ออใช้ดอกจำปา มอไหว้ครูใช้เงิน 112 บาท ออใช้เงิน 300 บาท การเข้าทรง มอร่างทรงจะโยกซ้าย – ขวา ส่วนออร่างทรงจะโยกหน้า – หลัง

พิธีกรรมกฎเกณฑ์ เกิดจากความเชื่อทั้ง 3 ประเภทได้แก่พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาและพิธีกรรมในข้อขะลำต่าง ๆ ทุกอย่าง เมื่อเกิดพิธีกรรมแล้วกฎเกณฑ์ย่อมมาตามด้วย

ภูมิปัญญา ได้มาจากองค์ประกอบของบริบทชุมชน ได้แก่ การเกิดจะมีภูมิปัญญา ในการทำคลอด การพยาบาลแม่และเด็กทารก การแต่งงานมีภูมิปัญญาด้านการทำนายคางไก่ การตายมีภูมิปัญญาการใช้ผ้าควบคลุมศพ การเอาน้ำมะพร้าวอ่อนล้างกระดูกกันกลิ่น การถนอมอาหาร การสร้างที่อยู่อาศัย ด้านเทคโนโลยี การจักสาน และอื่น ๆ

อุดมการณ์การอยู่ร่วมกัน ได้มาจาก องค์ประกอบความเป็นกูย อันได้จากทัศนะของชาติพันธุ์กูยเอง เกิดจากทัศนะของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยเน้นจากการแสดงออกทางภาษา ความเชื่อและการนับถือ การแต่งกาย ศิลปะ นันทนาการ สถาปัตยกรรม

วัฒนธรรมการแต่งกาย
การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กูย ประกอบด้วย การแต่งกายในชีวิตประจำวัน การแต่งกายในการเกิด การแต่งงาน การตาย การบวชนาค การทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา

การเกิด ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์จนคลอดบุตร และการรักษาพยาบาลบุตรและตัวแม่เองได้แก่ ขณะตั้งครรภ์แต่งกายในการออกนอกบ้านไปทำงานต้องแต่งกายด้วยชุดดำ ซึ่งเป็นสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ สามารถป้องกันอันตรายจากภูตผีปีศาจได้

การแต่งงาน เจ้าบ่าวในสมัยก่อนจะแต่งด้วยผ้าจูงกระเบน เสื้อคอกลมสีขาว คาดเอวด้วยผ้าสไบ บางคนจะเอาผ้าสไบพาดบ่าด้วย ส่วนเจ้าสาวจะแต่งด้วยผ้าสิ้นไหมลายสมอ สาคู หรืออับพรม เสื้อคอกลมแขนยาวสีแดง ทัดดอกไม้หรือทรงผมจะประดับด้วยดอกไม้สีต่าง ๆ สวยงาม หลังจากแต่งงานแล้วจะมีพิธีเซ่นผีปู่ย่าตายาย ในพิธีเซ่นผีจะมีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ปู่ย่าหรือตายาย โดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเป็นผู้นำเอาผ้าไหมไปไหว้และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ หลังจากนั้นจะมีพิธีไปขึ้นบ้านฝ่ายเจ้าบ่าว การไปขึ้นบ้านเจ้าบ่าวนั้นเจ้าบ่าวจะมีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายใหม่โดยนุ่ง ผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกลมสีขาว (แขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้) ส่วนเจ้าสาวจะเปลี่ยนผ้าสิ้นเป็นลายดอกหรือลายมัดหมี่ สวมเสื้อสีขาว สีเขียว หรือเหลืองก็ได้ และมีผ้าสไบพาดบ่า

บ้านไหนมีคนตาย จะมีพิธีเซ่นผีเพื่อบอกกล่าวให้ช่วยดูแลวิญญาณผู้ที่ตายให้อยู่อย่างสุขสบาย ส่วนบุตรหลานและแขกผู้มีเกียรติจะแต่งกายด้วยชุดสีดำทุกคนเพราะมีความเชื่อ ที่ว่าสีดำเป็นสีที่เป็นมงคล มีความมั่นคง ความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นงานศพจึงจำเป็นต้องแต่งกายด้วยสีดำ

งานบวชในส่วนของแขกและญาติผู้มีเกียรติจะแต่งกายตามเพศตาม วัยในชุดสุภาพโดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศชายจะนุ่งผ้าโสร่ง สวมเสื้อคอกลมสีน้ำเงิน สีขาว ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าสิ้นไหม ผ้าควบ ผ้าสมอ ผ้าสาคู สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นหรือแขนยาวสีดำ สีแดง สีเหลืองตามสะดวก สิ่งที่ไม่ลืมคือผ้าสไบ หรือผ้าเจียดตรูย ส่วนเด็ก ๆ หรือหนุ่มสาวก็จะใส่เสื้อผ้าตามความสะดวก เช่น กางเกงขาก๊วย เสื้อแขนกระบอก เป็นต้น

การแต่งกายในวันขึ้นบ้านใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์กูย ของชาย หญิง บ้านตรึม บ้านแตล มีลักษณะคล้ายกันกับงานแต่งงาน การแต่งกายของเจ้าบ่าวจะแต่งด้วยผ้าจูงกระเบน เสื้อคอกลมสีขาว คาดเอวด้วยผ้าสไบ บางคนจะเอาผ้าสไบพาดบ่าด้วย ส่วนเจ้าสาวจะแต่งด้วยผ้าสิ้นไหมลายสมอ สาคู หรืออับพรม เสื้อคอกลมแขนยาวสีแดง ทัดดอกไม้หรือทรงผมจะประดับด้วยดอกไม้สีต่าง ๆ สวยงาม

คุณค่าที่ได้จากวัฒนธรรมการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กูย

1. คุณค่าด้านเศรษฐกิจ
จะเห็นได้ว่า นอกจากกลุ่มชาติพันธ์กูย จะมีอาชีพทำนาแล้ว ในเวลาว่างพวกเขายังใช้เวลาในการเลี้ยงไหม ทอผ้า หารายได้เสริม เศษผ้าที่เหลือสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ประจำตำบลได้อีกทาง ดังนั้นจึงมีคุณ ค่าด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน ในครอบครัว ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น สังเกตได้จากการ สร้างบ้านเรือน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 20,000-25,000 บาทต่อปี

2. คุณค่าด้านสังคม
คุณค่าด้านสังคมคือเกิดการรวมกลุ่ม เกิดการพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออาทรต่อกัน สร้างจิตสำนึกรักถิ่นกำเนิด ภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตน เป็นการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดทั้งสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษและยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่ บ้าน ชุมชนและจังหวัดสุรินทร์อีกด้วย ( เรณุกา ศรีผ่องงาม. 2547 : 99 )

3. คุณค่าด้านการเมืองการปกครอง
พ่อวัง ดัชถุยาวัตร “ การดำเนินธุรกิจทอผ้าไหมในบ้านตรึม เป็นการ

รวมกลุ่มการบริหารจัดการในรูปคณะกรรมการ มีการประชุมคณะกรรมการปีละ 2 ครั้ง มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารทุกปี ทำให้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองการปกครองในรูปแบบการปกครองในรูปแบบต่างๆ เช่น การเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(ส.อบต.)” ( วัง ดัชถุยาวัตร สัมภาษณ์ : 11 มิ.ย. 2550 )

กล่าวโดยสรุป ความเชื่อและคุณค่าด้านวัฒนธรรมการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์กูย บ้านบ้านตรึม ประกอบด้วย ความเชื่อด้านการเกิด การแต่งงาน การตาย การบวชนาค การขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา ส่วนคุณค่าที่ได้ ได้แก่คุณค่าด้านเศรษฐกิจ คุณค่าด้านสังคม และคุณค่าด้านการเมืองการปกครอง

บรรณานุกรม
เรณุกา ศรีผ่องงาม. …….มหาวิทยาลัยราช
ภัฏสุรินทร์, 2547.
อุษา หม้อทอง. การนับถือผีของกลุ่มชาติพันธุ์กูยในประเทศและส่วยในสาธารณรัฐ
ประชาธิปไตยประชาชนลาว. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, 2547.
วัง ดัชถุยาวัตร. ( 2550 ) . สัมภาษณ์ 11 มิ.ย. 2550
ศรี ดัชถุยาวัตร. สัมภาษณ์ : 11 มิ.ย. 2550

ที่มาของความเชื่อกลุ่มชาติพันธุ์กูยบ้านตรึม : baanjomyut.com

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ