จะดีหรือร้าย เมื่อฉีด “Botox”

เรื่องความสวยความงามหลาย ๆ ท่านคงให้ความสำคัญไม่น้อย ด้วยวิทยาการการแพทย์ในปัจจุบันเรามีทางเลือกมากมายที่จะช่วยให้เป็นไปได้ตามความต้องการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการฉีดโบท็อกซ์ (BOTOX®) แต่คงไม่ปฏิเสธว่าเรามักจะได้ยินข่าวคราวของผลเสียรวมถึงอาการข้างเคียงของผู้ที่เคยได้รับการฉีดเจ้าสารชนิดนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดข้อกังขาต่าง ๆ นานา เรามาทำความรู้จักกับโบท็อกซ์ไปพร้อม ๆ กัน

โบท็อกซ์ คืออะไร

โบท็อกซ์ คืออะไร?

โบท็อกซ์” เป็นชื่อทางการค้าของสาร “โบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ” (Botulinum toxin A) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) ที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษแก่มนุษย์ หากได้รับในปริมาณมากๆ เช่น จากอาหารกระป๋องที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อตัวนี้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จากการที่กล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ผู้ป่วยจึงหยุดหายใจ ในปัจจุบันสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน เอ ที่ใช้ในประเทศไทยผลิตจาก 2 บริษัทคือ โบท็อกซ์ (BOTOX®) และดีสพอร์ต (Dysport®)

โบทูลินั่ม ท็อกซิน ออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทได้ เป็นผลให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัวได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อนั่นเอง โดยจะเกิดผลเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่ได้รับการฉีด เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 วัน เห็นผลสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ และมีฤทธิ์อยู่ได้นาน 3-4 เดือน หลังจากนั้นกล้ามเนื้อจะค่อยๆกลับมาหดตัวได้เหมือนเดิม เนื่องจากฤทธิ์ที่ไม่ถาวรนี้เองจึงทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาซ้ำ หากต้องการคงสภาพของผลการรักษา

 

ข้อควรปฏิบัติ

  1. ไม่ควรนอนราบ ในช่วง 3-4 ชั่วโมงหลังการรักษา
    2. ห้ามนวดในบริเวณที่ทำการรักษาเนื่องจากอาจทำให้ยากระจายไปยังบริเวณที่ไม่ต้องการรักษาได้
  2. 3. มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษา เมื่อพบความผิดปกติใดเกิดขึ้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อที่จะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง

 

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

การใช้โบทูลินั่ม ท็อกซินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิต้านทานต่อโบทูลินั่ม ท็อกซินได้ จากสถิติของสหรัฐอเมริกาที่รวบรวมผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด โบทูลินั่ม ท็อกซิน จำนวนมาก พบว่าไม่มีอันตรายถึงชีวิต เมื่อใช้โดยผู้เชี่ยวชาญและใช้ฉีดเพื่อเสริมความงาม ผลข้างเคียงจากการฉีดที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ อาการปวดศีรษะหรือความรู้สึกเจ็บๆคันๆ (พบประมาณ 2.5%) รอยช้ำจากการที่เข็มฉีดยาทำให้เกิดความบาดเจ็บต่อหลอดเลือด มักเกิดบริเวณหางตา อาการคิ้วหรือหนังตาตก (มีโอกาสเกิด 1-3%) อาการปวดบวมบริเวณที่ฉีด (2.5%) กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉพาะที่ (1.7%) ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มักเป็นเล็กน้อยหรือปานกลาง และมักหายไปเองใน 1-2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจะลดลงมาก หากได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญ และผู้ป่วยจะต้องดูแลและปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดระหว่างรับการรักษา

 

เราสามารถรักษาด้วยโบทูลินั่ม ท็อกซินต่อเนื่องได้นานแค่ไหน และมีข้อจำกัดอย่างไร

ท่านสามารถรับการรักษาด้วยโบทูลินั่ม ท็อกซินได้นานตราบเท่าที่ต้องการคงสภาพผลการรักษา โดยทั่วไปมักทำการรักษาซ้ำทุก 3-6 เดือนหรือนานกว่านี้ ขึ้นกับการทำงานของกล้ามเนื้อที่ต้องการรักษา สำหรับกรณีที่เกิดภูมิต้านทานขึ้น อาจทำให้ฤทธิ์สั้นลงและอาจต้องใช้ปริมาณยาเพิ่มขึ้นในการรักษา

 

โบทูลินั่ม ท็อกซินไม่ใช่แค่ช่วยด้านความงาม…

นอกจากโบทูลินั่ม ท็อกซินจะถูกนำมาใช้ในการรักษาริ้วรอยที่เกิดจากการขยับกล้ามเนื้อที่บริเวณใบหน้าและลำคอแล้ว แพทย์ยังใช้โบทูลินั่ม ท็อกซินในการรักษา

  1. ภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการทำงานมากเกินของกล้ามเนื้อ เช่น ตาเข (Strabismus) หนังตากระตุก (Blepharospasm) กล้ามเนื้อคอเกร็งตัว (Cervical dystonia)
  2. การปวดศีรษะแบบไมเกรน (Migrain) หรือ การปวดศีรษะจากความเครียด (Tension)
  3. ภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง (Myofascial pain)
  4. ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)

         

ห้ามฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน ถ้าคุณ…

  1. มีความผิดปกติทางกล้ามเนื้อและระบบประสาท เพราะอาจมีอาการแย่ลง เช่น โรค Myasthenia gravis หรือ โรค Amyotrophic lateral sclerosis
  2. กำลังตั้งครรภ์ / อยู่ในระหว่างให้นมบุตร แม้ไม่เคยมีรายงานถึงอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการรักษา

 

การรักษาด้วยโบทูลินั่ม ท็อกซินนั้น ถ้าเป็นการรักษาโดยแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญ เพื่อการรักษาโรคหรือภาวะที่มีข้อบ่งชี้ ให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้และเป็นผู้ป่วยที่สามารถดูแลและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ก็จัดว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีและปลอดภัย อาจมีผลข้างเคียงที่เกิดชั่วคราวได้แต่ไม่ร้ายแรง

 

อ.พญ.ศศิมา เอี่ยมพันธุ์

   ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา

                      รศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ

                                      ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

บทความดีๆจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล