ประเพณีไทย ประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

 

ช่วงเวลาที่จัดงานประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

วันแรม ๘ ค่ำ ถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ รวม ๘ วัน เป็นวันประกอบพิธีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จากนั้นในวันที่ ๙ คือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันถวายพระเพลิง

ความสำคัญของประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

ประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่บ้านหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมานานนับร้อยปี บนพื้นฐานความเชื่อว่าพุทธศาสนิกชนที่ได้ร่วมถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า จะได้บุญกุศลอย่างแรงกล้า

พิธีกรรมของประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

ก่อนงานชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันสร้างโลงและรูปจำลองของพระพุทธเจ้า แล้วนำไปตั้งเบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ครั้นวันแรม ๘-๑๕ ค่ำ พระสงฆ์จะลงสวดพระอภิธรรมตั้งแต่ ๒๐.๐๐ น. เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นกุศลแก่ผู้สดับธรรม แต่ละคืนชาวบ้านจะร่วมกันนำจตุปัจจัยมาถวายแด่พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นการทำบุญ ครั้นวันขึ้น ๑ ค่ำ หลังสวดพระอภิธรรมก็จะมีการนำเอาโลงและรูปจำลองของพระพุทธเจ้า แห่เวียนรอบพระเมรุมาศจำลอง แล้วจึงยกขึ้นวางบนจิตกาธาน พระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล ถวายดอกไม้จันทน์ร่วมกับชาวบ้านแล้วถวายพระเพลิง

สาระของประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

เนื้อหาประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าคือ การระลึกถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จปรินิพานอันเป็นการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวง ก่อให้เกิดสติที่ไม่ติดยึดอยู่กับวัตถุใดๆ และเห็นชีวิตเป็นอนิจจัง

ที่มาประเพณีไทย ประเพณีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า : ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ