ประเพณีไทย ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ


ปากน้ำประแส เป็นเมืองที่ติดชายทะเลแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง ที่มีประเพณีการทอดผ้าป่าที่แปลกกว่าที่อื่น ๆ คือ ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ สืบเนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมง ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือตลอด เรือจึงเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพวกเขา ชาวประมงเวลาอยากทำบุญบ้าน (เรือ) ให้เป็นสิริมงคล จึงได้มีการจัดทำบุญทอดผ้าป่าขึ้นในเรือ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมานานกว่า ๑๐๐ ปี จากการสอบถามบุคคลเก่าของชุมชนปากน้ำประแส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ คือ คุณแม่มณี หวานเสนาะ เกิดปี พ.ศ.๒๔๓๗ และคุณแม่พวง บุญช่วยรอด เกิดปี พ.ศ.๒๔๔๔ เดิมชาวประแสที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ชายหาด ชายคลองแม่น้ำประแส ตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ไม่หนาแน่นนัก มีอาชีพหาปลาโดยวิธีตกเบ็ด ยกยอ ทอดแห ดักรอก ฯลฯ ใช้พาหนะเรือแจวบ้าง เรือพายบ้าง ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธมาแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีเงินมีทองก็คิดจะทำบุญ ซึ่งชาวประแสจะมีประเพณีอยู่อย่างหนึ่ง เวลาบ้านใดทำบุญบ้าน งานแต่งงาน ต้องมีการทอดผ้าป่าด้วย ผู้ที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลองถ้าจะทำบุญทอดผ้าป่าส่วนมากต้อง อาศัยเรือตัดไม้มาทำพุ่มผ้าป่า ใช้ไม้ไผ่ปักไว้ด้านหัวเรือ-ท้ายเรือ แล้วนิมนต์พระไปสวดมนต์ที่บ้าน เวลาขากลับนิมนต์ชักผ้าป่าในเรือ แต่บางแห่งชักผ้าป่าก่อนสวดมนต์ก็มี แต่บางแห่งถึงบ้านชักผ้าป่าก่อนก็มี แต่การจัดทำบุญทุกครั้งคราว เข้าใจว่า ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่เกิดของ ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ ของชาวประแส

ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ ถือเป็น ประเพณีไทย ที่ ได้สืบทอดมาระยะยาวนานแต่ได้มีการหยุดการจัดไประยะหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ เนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน แล้วนำมาเริ่มจัดใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ ในช่วงแรก ๆ จะทำพุ่มผ้าป่าไว้บนเรือแล้วนิมนต์พระภิกษุไปชักพุ่มผ้าป่าบนเรือ ต่อมาคณะกรรมการฯ เห็นว่าเป็นการสร้างความลำบากให้กับพระภิกษุ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงการทำพิธีชักผ้าป่า โดยให้ชาวประมงมาจัดพุ่มผ้าป่าไว้ตามบ้านแล้วพระภิกษุจับสลากหมายเลขพุ่ม ผ้าป่า และในปัจจุบันได้มีการวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีการทำแพผ้าป่าไว้กลางแม่น้ำประแส พร้อมนิมนต์พระทำพิธีทอดผ้าป่าบนแพ ส่วนพุ่มผ้าป่าตามบ้านเรือนประชาชนก็คงไว้เหมือนเดิม พระภิกษุจะจับสลากหมายเลขพุ่ม แล้วเดินชักพุ่มผ้าป่าตามหมายเลขที่จับได้ และมีการจัดงานมหรสพประมาณ ๓-๔ วัน จัดขึ้นทุกปี วันทอดผ้าป่ากลางน้ำ จะตรงกับวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ส่วนวันอื่น ๆ แล้วแต่คณะกรรมการจัดงานจะกำหนดกันในแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแข่งเรือพาย การดำน้ำ ว่ายน้ำ มวยทะเล ประกวดเรือ ประกวดร้องเพลง จัดดนตรีชมงาน ฯลฯ

ที่มาประเพณีไทย ประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำ : เทศบาลตำบลปากน้ำประแส

ประเพณีไทย ประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง

ช่วงเวลาที่จัดงานประเพณีไทย ประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง

: ช่วงเวลา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ความสำคัญของประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง

ประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง เป็นประเพณีทอดผ้าป่าของหมู่บ้านไผ่ดำ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันทำบุญเนื่องในวันลอยกระทง

พิธีกรรมของประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง

ในตอนบ่ายของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ชาวบ้านจะนำเรือออกเรี่ยไรสิ่งของต่าง ๆ เพื่อร่วมกันทำบุญ จากนั้นนำสิ่งที่ได้มาจัดแต่งลงเรือ เรือที่นำกองผ้าป่าและสิ่งของไปทอดนี้เรียกว่า เรือองค์ผ้าป่าหรือเรือองค์ ครั้นพอค่ำหรือตอนที่พระจันทร์ขึ้นพ้นทิวไม้ก็จะยกขบวนเรือซึ่งมีทั้งเรือ พาย เรือแจว เรืออื่น ๆ ลากจูงเรือองค์ไปยังวัด และกระทำการถวายผ้าป่าที่ศาลาวัดนั้น ก่อนที่จะกลับมาทอดยังวัดไผ่ดำซึ่งเป็นวัดสุดท้ายของพิธีการ ระหว่างขากลับจะมีการแข่งขันชักเย่อเรือองค์เป็นที่สนุกสนานกลางท้องน้ำ และหลังกลับไปทอดผ้าที่วัดไผ่ดำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการแข่งเรือประลองฝีพายกันอีกครั้ง ที่หน้าวัดไผ่ดำนั่นเอง

สาระของประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง

แก่นสารของประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง คือการหากิจกรรมที่นำให้ชาวบ้านรู้จักการให้ คือบริจาคจตุปัจจัยและวัตถุต่างๆเพื่อการบุญ โดยมีการละเล่นที่สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบนั้นคือการแข่งเรือ และเป็นการชักนำให้ผู้คนในท้องถิ่นเกิดความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันใน กิจกรรมทางสังคม

ที่มาประเพณีไทย ประเพณีทอดผ้าป่าน้ำเพ็ง : ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีไทย ประเพณีทอดผ้าป่าแถว

ความสำคัญของประเพณีทอดผ้าป่าแถว

เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะ ได้ถวายเครื่องนุ่งห่มและไทยธรรม เป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์ก่อนจะทำพิธีลอยกระทงบูชาพระพุทธบาทตามคติความ เชื่อแต่โบราณ ในอดีต เนื่องจากในเขตชุมชนเมืองกำแพงเพชรมีวัดสำคัญ ๓ วัด คือ วัดบาง วัดคูยาง วัดเสด็จ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดพิธีบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวเมืองจึงนัดหมายกันประกอบพิธีบุญใหญ่หมุนเวียนกันไปตามวัดทั้ง ๓ วัด เมื่อกำหนดประกอบพิธีบุญใหญ่ในวัดใด ก็จะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นอีก ๒ วัดมาร่วมประกอบพิธีกันในคราวเดียว

ช่วงเวลาในการจัดงานประเพณีทอดผ้าป่าแถว

ในอดีต กระทำเฉพาะในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) ณ วัดบาง ปัจจุบัน กระทำในวันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) ณ วัดบาง และในงานประเพณีนบพระเล่นเพลง ณ วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

พิธีกรรมในประเพณีทอดผ้าป่าแถว

ในเวลาเย็นก่อนทำพิธีลอยกระทง ศาสนิกชนทั้งผู้สูงอายุ หนุ่มสาว และเด็ก ในแต่ละครอบครัวจะนำผ้าซึ่งอาจจะเป็นผ้าสบง จีวร หรือ ผ้าเช็ดตัวสีเหลือง และเครื่องไทยธรรมมี ธูป เทียน หอม กระเทียม พริกแห้ง น้ำตาลทราย ไม้ขีดไฟ เป็นต้น จัดบรรจุในชะลอมหรือภาชนะอื่นๆ ไปรวมกันในสถานที่ที่นัดหมายกันไว้กรรมการวัดจะเตรียมกิ่งไม้สดพร้อมใบไม้ ปักแสดงตำแหน่งไว้เป็นแถว ๆ ต่างว่าเป็นป่าเมื่อชาวบ้านแขวนผ้าที่นำมาไว้บนกิ่งไม้จึงเรียกว่าผ้าป่าแถว เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว เจ้าของผ้าป่าจะไปจับสลากชื่อฉายาของพระสงฆ์ที่จะมาชักผ้าป่าของตนแล้วนำ ชื่อฉายานั้นมาติดแสดงไว้ที่ผ้าป่า หลังจากนั้นต่างก็จับกลุ่มกันรอเวลาที่พระสงฆ์จะมาส่องไฟหาชื่อฉายาของท่าน ซึ่งกว่าจะพบก็เป็นที่สนุกสนานของเด็กๆ และหนุ่มสาวที่คอยให้กำลังใจแก่พระสงฆ์ เมื่อพบชื่อฉายาของท่านที่กองผ้าป่าใด ท่านก็จะทำพิธีชักผ้าป่า พร้อมกับสวดมนต์ให้พรแก่เจ้าของกองผ้าป่าเป็นเสร็จพิธี

สาระของประเพณีทอดผ้าป่าแถว

แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาวเมือง กำแพงเพชรในการจัดการให้เกิดความสะดวกแก่การประกอบพิธีบุญร่วมกัน และส่วนของความสนุกสนานก็นับว่าเป็นกุศโลบายนำเด็กและเยาวชนให้รู้จักและสืบ ทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นต่อไป

ที่มาประเพณีไทย ประเพณีทอดผ้าป่าแถว : ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/