ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางกระดาน

สงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่แบบเก่าของไทยซึ่งตรงกับเวลาที่ดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศี เมษ กำหนดตามสุริยคติ ตกวันที่ 13-14-15 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่าต่อสังคม ครอบครัว ศาสนา วัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การสานต่อเพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม สำหรับนครศรีธรรมราชมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น หมายถึงความงดงามที่แฝงไปด้วยคติความเชื่อ อารยธรรมโบราณที่สืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี

วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันเจ้าเมืองเก่า” เป็นวันส่งเจ้าเมืองเก่า เจ้าที่เจ้าทาง ชาวเมืองคอนจะทำความสะอาดบ้านเรือน จากนั้นร่วมอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาประดิษฐานที่สนามหน้าเมือง ให้ประชาชนได้สักการบูชา สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” เชื่อกันว่าเจ้าเมืองยังสถิตอยู่บนสวรรค์ ประชาชนจะร่วมกันทำบุญแล้วนำอาหาร เครื่องบูชา ไปเคารพผู้อาวุโส พระสงฆ์ ถือโอกาสนี้รดน้ำขอพร วันนี้จะมีการละเล่นพื้นบ้านอย่างสนุกสนาน

วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกเรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” เชื่อกันว่าเจ้าเมืองที่ได้รับมอบให้คุ้มครองเมืองต่างๆ ลงมาประจำเมือง ชาวเมืองจึงเตรียมต้อนรับด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ แล้วนำอาหารไปถวายพระที่วัด

นครศรีธรรมราชมีรูปแบบแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ เพราะเมืองคอนเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงศาสนา วัฒนธรรม มีพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นปูชนียสถานสำคัญ คู่บ้านคู่เมือง มีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญเมือง ชาวนครศรีธรรมราช สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในวันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ ด้านศาสนาพราหมณ์นั้น มีหออิศวร หอพระนารายณ์ โบราณสถานเขาคา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวิมานของพระอิศวร

เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีสีสันมากขึ้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ผนวกเอางาน แห่นางกระดาน มาร่วมกับงานสงกรานต์ เพื่อให้ความรู้เรื่องประเพณีที่เก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาเจริญ รุ่งเรืองในนครศรีธรรมราช

แห่นางกระดาน ประเพณีพราหมณ์ ส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า เป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จลงโลกมนุษย์ในเดือนยี่ของทุกปี เชื่อว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุข คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย เทพที่อัญเชิญรับเสด็จ ประกอบด้วย พระอาทิตย์พระจันทร์/พระแม่คงคา/ พระแม่ธรณี เทพดังกล่าวจารึกหรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ ชาวเมืองคอนเรียกไม้แกะสลักนี้ว่า “นางกระดาน” เมื่อถึงวันก็อัญเชิญนางทั้ง 3 มายังเสาชิงช้าเพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลก

หากเรียงตามลำดับ “นางกระดาน” ไปตามศักดิ์แล้วคือ นางกระดานแผ่นที่ 1 ในขบวนแห่นามว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ โดยพระอาทิตย์ เป็นผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่างและความร้อนแก่โลกมนุษย์และดาวเคราะห์อื่นๆ พระจันทร์หรือ “รัชนีกร” เป็นเทพผู้สร้างกลางคืน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และงดงาม ถือเป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อน ผสมพันธุ์สืบถึงปัจจุบัน

นางกระดานแผ่น 2 นามว่าพระธรณี เทพองค์นี้มีหน้าที่รับน้ำหนักสรรพสิ่งและพยุงสิ่งทั้งหลายสิ่งที่พระอิศวร สร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย รองรับทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลกและขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรงจึงทดสอบโดยหยั่งพระบาทลงมาซึ่งหากหยั่ง ทั้งสองพระบาท เกรงโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทเพียงข้างเดียว ในการนี้มีพระธรณีได้เข้ามาทำหน้าที่รองรับพระบาทของพระอิศวรไว้

กระดานแผ่น 3 นามว่าพระคงคา เทพองค์นี้เป็นธิดาองค์แรกของพระหิมวัตกับนางเมนา พระสวามีของพระคงคาคือพระอิศวร พระคงคาเป็นเทพผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำสมบูรณ์ให้แก่สรรพสิ่ง

ขบวนแห่จะจัดขึ้นอย่างงดงามทั้งเมือง ขบวนเริ่มด้วยการบวงสรวงเทพยดาผู้ปกปักรักษาเมือง พระอิศวร พระนาราย โดยเริ่มจากสนามหน้าเมืองนครฯ สู่หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ แล้วประกอบพิธีโล้ชิงช้าที่เดิมเป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ด้วยยุคสมัยใหม่การแห่จึงเน้นความอลังการ สวยงาม อนุรักษ์ประเพณีโบราณเมืองแห่งพราหมณ์ คือนครศรีธรรมราชนั่นเอง

โดย … กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล

ที่มา ประเพณีไทย ประเพณีสงกรานต์เมืองคอน : ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึกดอทคอม

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ