วันสำคัญของไทย วันที่ 13 ตุลาคม วันตำรวจ

วันตำรวจ
วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี

กิจการตำรวจได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า “จตุสดมภ์” ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา และพร้อมกันนี้ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา

ในปี พ.ศ. 2405 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรก ตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศ โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดีย เป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล ให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปรับปรุงกอง โปลิศ และจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นทหารโปลิศ ในปี พ.ศ. 2419 เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถ ปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยได้ว่าจ้างนาย G.Schau ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้วางโครงการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 กองทหารโปลิศได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมกองตระเวณหัวเมือง และได้มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทนกรมกองตระเวณหัวเมืองในปี พ.ศ. 2440 และได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พลตรี พระยาวาสุเทพ (G.Schau) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร และได้มีการขยายกิจการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวบรวมกิจการตำรวจมาเป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน และในปลายปีได้เปลี่ยนเป็นกรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล และยกฐานะของเจ้ากรมขึ้นเป็นอธิบดี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้รวมกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงพระนครบาลเป็นกระทรวงเดียวกันเรียกว่า กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลจึงโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมตำรวจภูธร แต่ยังคงแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • ตำรวจที่จับกุมโจรผู้ร้าย ไต่สวนทำสำนวนฟ้องศาลโปลิศสภาโดยตรงเรียกว่า ตำรวจนครบาล
  • ตำรวจที่ทำการจับกุมโจรผู้ร้ายได้แล้ว ส่งให้อำเภอไต่สวนทำสำนวนให้อัยการฟ้องศาลอาญาประจำจังหวัดนั้น ๆ เรียกว่า ตำรวจภูธร

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกรมตำรวจภูธร มาเป็นกรมตำรวจ จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันประกาศรวมกรมพลตระเวนกับกรมตำรวจภูธรเป็นกรมเดียวกัน กรมตำรวจจึงได้ยึดถือเอาวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธีในวันตำรวจอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งในขณะนั้น พล.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจและจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้จัดให้มีพิธีเดินสวนสนาม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2500 จึงระงับการจัดพิธีเดินสวนสนาม ประกอบแต่พิธีทางศาสนา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี

แหล่งอ้างอิง
ศิริวรรณ คุ้มโห้. วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด