ประเพณีไทย ประเพณีการเดินเต่า

ประเพณีไทย ประเพณีการเดินเต่าประเพณีการเดินเต่า คือการเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ซึ่งแหล่งที่มีการเดินเต่าทางภาคใต้นั้นมีหลายแหล่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่คือบริเวณชายฝั่ง แถวฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหาดทรายที่มีความยาวโดยตลอดร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร ซึ่งในบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น จะมีเต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย เมื่อถึงฤดูวางไข่ ชนิดของเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ตามชายฝั่งตะวันตกนี้มีหลายชนิด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันหลายชื่อได้แก่ เต่ากระ เต่าเฟือง เต่าเล็ก เต่าหางยาว เป็นต้น
ในแต่ละปีเต่าทะเลแต่ละชนิดจะขึ้นมาวางไข่ ๔ ครั้ง การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นมีนิสัยที่แปลกประหลาดและน่าสนใจกว่าสัตว์อื่น ๆ ตรงที่จะขึ้นมาวางไข่ประจำที่หรือประจำหาด ทั้ง ๆ ที่ทะเลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นต้นว่าเต่าทะเลตัวใด ที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดไหนคราวต่อไปก็ขึ้นมาวางไข่ตรงที่หาดนั้นทุกครั้งไป เป็นประจำทุกปี อาจยกเว้นว่าบางครั้งมันอาจขึ้นมาพบคนรบกวนก็อาจต้องเปลี่ยนไปที่หาดอื่นบริเวณใกล้ ๆ กัน
เนื่องจากลักษณะของเต่าทะเลพิศดารอย่างนี้ ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงสามารถเก็บไข่เต่าได้ โดยอาศัยความทรงจำของเต่าให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าเต่าทะเลแต่ละตัวหากขึ้นวางไข่ที่ใดแล้วหลังจากนั้นไปเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ หรือ ๒ สัปดาห์ เต่าตัวเดิมนี้ จะขึ้นมาวางไข่อีกที่หาดเดิม แต่ตำแหน่งที่คลานขึ้นมาวางไข่จะห่างจากที่เคยขึ้นวางไข่ครั้งก่อนราว ๑๐-๒๐ เมตร อาจเป็นเพราะว่ามันกลัวจะไปขุดถูกหลุมไข่ที่เคยวางไว้แล้ว ก็เป็นได้ ส่วนเวลาไหนนั้นชาวบ้านจะต้องคำนวณโดยการนับน้ำว่าวันที่ครบกำหนดวางไข่นั้น เป็นวันข้างขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ ก็พอรู้ได้ว่าเวลาเท่าไรที่น้ำขึ้นครึ่งฝั่งน้ำลงครึ่งฝั่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เต่าขึ้นวางไข่ จากนั้นก็สามารถเอาตะกร้าไปรอรับไข่เต่าได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเดินไปเดินมา และไม่ต้องเสียเวลาหาหลุมไข่เต่าในตอนหลัง เช่นครั้งที่ ๑ ขึ้นมาวางไข่ในแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ครั้งต่อไปก็จะขึ้นวางอีกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังจากครั้งก่อน ๗ วัน) หรืออาจไม่ขึ้นมาวางไข่ในวันดังกล่าวนี้ ก็จะขึ้นมาวางไข่ในวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๑๒ (หลังจากครั้งก่อน ๑๔ วัน) จากปากคำของชาวบ้านที่เคยได้สัมปทานไข่เต่าหรือเรียกกันในภาษาเดิมว่า “ผูกเต่า” บอกว่าใช้วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเดินให้เมื่อยเลย อาจจนอนอยู่ที่บ้านแล้วพอถึงเวลาที่คำนวณไว้ก็ค่อยเดินไปนั่งรอที่จุดนั้น ๆได้ และมักจะถูกต้องเสมอทุกคราวไป
แต่ในปัจจุบันนี้ ประเพณีการเดินเต่าไม่มีแล้ว เพราะว่าประชาชนในท้องถิ่นได้ร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเล อันดามัน ได้แก่ เต่าทะเล เป็นต้น ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนใน ถือเป็นการทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้

พิธีกรรม
ประเพณีการเดินเต่าจะทำกันในตอนกลางคืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นหากไม่ค่อยมีความรู้ ก็อาจเดินหาตามความยาวของหาดทราย ระยะทางหลายกิโลเมตร โดยไม่เจอไข่เต่า แม้แต่หลุมเดียว (หลุมรัง) ก็เป็นได้ แต่สำหรับคนรุ่นก่อน ๆ นั้นมีเคล็ดในการหาไข่เต่าหลายอย่าง อย่างแรก คือเวลาที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ เต่าจะขึ้นมาวางไข่เมื่อไหร่นั้นให้ดูได้คือ
๑. ให้ดูดาวเต่า ดาวเต่านี้จะประกอบด้วยดาวหลายดวงซึ่งคนที่ชำนาญจะมองเห็นเป็นรูปเต่า ตำแหน่งที่ดาวเต่าเริ่มหันหัวลงทางทิศตะวันตก คือดาวเต่าเริ่มคล้อยลง (คล้าย ๆ กับดวงอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป) เมื่อดาวเต่าหันหัวลงทะเลก็เป็นเวลาที่เดินเต่าได้ คนโบราณเชื่อว่าเต่าจะขึ้นมาวางไข่เวลานี้
๒. ให้ดูน้ำ หมายถึงน้ำทะเลขึ้นลงนั่นเอง หากว่าน้ำขึ้นครึ่งฝั่ง หรือน้ำลงครึ่งฝั่ง ก็เป็นเวลาที่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ ไม่ปรากฏว่าเต่าทะเลขึ้นมาขณะน้ำลดน้ำขึ้นมา
ดัง นั้น เต่าทะเลก็มีกำหนดเวลาขึ้นวางไข่ในเวลาที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม กี่ค่ำที่ทำให้น้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

สาระ
ประเพณีการเดินเต่า ชาวบ้านในท้องถิ่นพบเต่าทะเลที่กำลังขึ้นมาวางไข่ก็รู้ได้จากรอยคลานของเต่า ที่ปรากฏ อยู่บนหาดทราย ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน เพราะมันจะใช้ทั้ง ๒ คู่สับลงบนพื้นทรายแล้วลากตัวขึ้นมา จึงปรากฏรอยในลักษณะที่คล้ายรอยของรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก โดยปรากฏเป็นทาง ๒ ทาง คือทางขึ้น ๑ ทาง ทางลงอีก ๑ ทาง จากรอยนี้ก็บอกได้ว่าต้องมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ แต่การหาหลุมที่เต่าวางไข่นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะว่าหาดทรายกว้าง ชาวบ้านในสมัยก่อนที่มีความรู้ มีวิธีสังเกตเพื่อหาหลุมไข่เต่าหลายวิธี ได้แก่
๑. ดูปลายทราย หมายถึงให้สังเกตทรายที่เต่าขุดขึ้นมาแล้วสาดไปโดยรอบลำตัวขณะที่ขุดหลุมวาง ไข่ จะปรากฏให้เห็นเป็นแนวโดยรอบ ๆ หลุมในระยะพอสมควร ซึ่งพอสันนิษฐานได้ว่าบริเวณที่อยู่จากถัดจากปลายทรายเข้าไปนั้น ต้องเป็นหลุมไข่เต่า แต่บางครั้งก็ไม่แน่นอนเพราะเต่ามักมีการพรางหรือหลอกโดยการสาดทราย หลาย ๆ จุด แต่ไม่ได้วางไข่จริง ๆ จะดูว่าเต่ามันหลอกเราหรือไม่นั้นก็ดูทรายที่สาด หากเป็นทรายเปียกหรือจับเป็นก้อนเล็ก ๆ แสดงว่าเป็นบริเวณหลุมที่วางไข่จริง เพราะเป็นทรายที่ขุดจากทรายชั้นล่าง หรือจากก้นหลุม
๒. ใช้ไม้ปลายแหลมแทงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “สัก” ลงไปตามพื้นทรายให้ลึกประมาณ ๒ ฟุต แล้วสังเกตว่า ไม้ที่แทงนั้นผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ เช่น แทงลงโดยง่าย ทันทีอาจแทงบนหลุมเต่าก็ได้ อาจทดสอบได้ด้วยการดมปลายไม้ดู หากแทงถูกหลุมวางไข่จะมีกลิ่นคาวของไข่เต่าติดปลายไม้ขึ้นมา
๓. ถ้าเป็นเวลากลางวันให้ดูแมลงวันว่าไปตอมบริเวณใด เพราะแมงวันจะไปตอมบริเวณที่วางไข่ ซึ่งมีคาวเมือกขณะที่เต่าทะเลวางไข่ตกอยู่
หากทั้ง ๓ วิธีไม่สามารถหาหลุมวางไข่ ชาวบ้านสมัยก่อนใช้วิธีสุดท้าย คือสังเกตพื้นทรายบริเวณที่มีรอยของเต่าในเวลาประมาณ ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ นาฬิกา จะพบว่าบริเวณที่เป็นหลุมไข่เต่าจะมีลักษณะเป็นไอหรือควันขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเมื่อไข่มีอุณหภูมิสูง เมื่อมาถูกกับความเย็นของทรายชั้นล่างก็เกิดการคายความร้อน และเกิดไอขึ้นเหนือทรายได้
ไข่ เต่าในแต่ละหลุมหรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “รัง” จะมีจำนวนแตกต่างกันตามชนิดของเต่า และลำดับครั้งที่วางไข่ เช่น เต่ากระ ครั้งแรกอาจไข่รังละ ๘๐ ฟอง ครั้งต่อไป ก็อาจถึง ๑๒๐ ฟอง แล้วลดลงมาจนครั้งสุดท้ายอาจมีราว ๓-๔ ฟอง นอกนั้นเป็นไข่ที่ไม่มีไข่แดง ซึ่งเรียกว่า “ไข่ลม” เต่าเล็กจะไข่ครั้งแรกประมาณ ๑๐๐ ฟอง ครั้งต่อไปราว ๑๕๐ ฟอง ครั้งสุดท้ายก็ลดลงเหลือไม่กี่ฟอง เต่ามะเฟืองราว ๑๒๕ ฟอง ส่วนเต่าหางยาวมีจำนวนมากที่สุดราว ๑๕๐ ฟอง

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ