ประเพณีไทย ประเพณีการแต่งงาน

 

ประเพณีการแต่งงาน
การแต่งงานเกิดขึ้นภายหลังเมื่อผู้ชายได้บวชเรียนแล้ว ในสมัยนี้มักเรียกกันว่า บวชก่อนเบียด เพราะเป็นเวลาที่ได้เรียนรู้มนุษยธรรมแล้วตามทางที่ชอบ จนถึงเวลาที่คิดตั้งตนและวงศ์ตระกูลเองได้ เมื่อเลือกหาหญิงดีตามสมควรแก่ฐานะแล้วฝ่ายชายก็ให้ผู้ใหญ่ช่วยจัดการสู่ขอ ต่อผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงเป็นการประกันสัญญาว่าจะไม่ทิ้งขว้างหย่าร้าง

ประเพณีการแต่งงานแบบไทย จะเริ่มจาก เฒ่าแก่ทาบทาม เนื่องจากในสมัยก่อนไม่ได้มีการเลือกคู่หรือคบหาดูใจกันแบบอิสระเหมือนยุค สมัยนี้ โดยพ่อแม่ของฝ่ายชายและหญิงจะเป็นผู้จัดการเองทั้งหมดหรือในสมัยก่อนเรียก ว่า คลุมถุงชน แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยนี้แล้ว ยังคงมีการให้ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ เข้าไปทำการทาบทามหรือสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติทางฝ่ายหญิง

เมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะมาจัดแจ้งในส่วนของฤกษ์ยาม และสินสอดทองหมั้น
ฤกษ์ยามที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานนี้มีตั้งแต่ฤกษ์ยกขันหมาก สู่ขอ ฤกษ์หมั้น ฤกษ์หลั่งน้ำ ส่งตัวและฤกษ์เรียงหมอนการหาฤกษ์จะดูทั้งวัน เดือน ปีที่สมพงษ์กับคู่แต่งงาน คนไทยนิยมแต่งงานเดือนคู่ตามปฏิทินจันทรคติ ยกเว้นเดือนสิบสองเพราะถือว่าเป็นฤดูที่สัตว์มีคู่ วันสิบสองค่ำทั้งข้างขึ้นข้างแรมโบราณห้ามแต่งเพราะถือว่าเป็น “วันจม” วันอังคารและวันเสาร์ถือว่าเป็น “วันแรง” วันพุธก็เป็นวันสุนัขนามไม่ดี วันพฤหัสบดีไม่เหมาะอีกเพราะในตำนานฮินดูนั้นลูกสาวพระพฤหัสบดีแต่งงานไป แล้วมีชู้ วันที่เหมาะจะแต่งงานคือวันศุกร์ เพราะมีเสียงพ้องกับ “สุข” และถ้าได้วันที่เป็นอธิบดีและวันธงชัยก็ยิ่งดี แต่วันที่ดีเลิศนั้นมีไม่กี่วันในหนึ่งปี คู่ที่ไม่อยากรอนานจึงถือเอา “ฤกษ์สะดวก” คือ ปลอดจากฤกษ์ไม่ดีทั้งหลายเป็นพอ

สินสอด – ทองหมั้น
เมื่อสองฝ่ายเห็นชอบกันว่ามีการแต่งงานเกิดขึ้น ฝ่ายชายจะแต่งเฒ่าแก่สู่ขอไปเจรจากับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงถึงเรื่องสินสอดทอง หมั้นและกำหนดวันแต่งงาน สมัยก่อนผู้ชายเป็นผู้ปลูกเรือนหอบนที่ของฝ่ายหญิงตามธรรมเนียม “แต่งเขยเข้าบ้าน” ก็จะมีการตกลงเรื่องนี้กันด้วย

ขันหมากแต่ง
ประกอบด้วยขันหมากเอกและขันหมากเลวหรือขันหมากโท ขันผ้าไหว้สำหรับพ่อแม่ฝ่ายหญิงคู่หนึ่งและสำรับผ้าขาวสำหรับไหว้ผีปู่ย่าตา ยาย ขันหมากเอกประกอบด้วยขันหมากบรรจุลูกหมาก พลูเรียงเหมือนขันหมากหมั้น โบราณให้รองก้นขันด้วยใบรักและใบสวาด แต่อย่างหลังนี้คงจะหาได้ยาก ขันสินสอด บรรจุเงินสินสอดตามที่ตกลงกัน ขันทุนสินหรือขันเงินทุนซึ่งทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างก็เตรียมไว้ จำนวนเท่ากันเพื่อให้คู่บ่าวสาวใช้เป็นเงินทุนตั้งตัว ขันทุนสินนี้มักใส่เงินปลีกลงมาด้วยเอาเคล็ดว่าให้เงินจำนวนนี้งอกงามต่อไป และใช้เสี่ยงทายในพิธีสู่ขอด้วย ทั้งขันสินสอดและขันทุนสินให้รองก้นด้วยข้าวเปลือก ถั่ว งา และใบไม้ดอกที่มีชื่อเป็นมงคลต่าง ๆ เช่น ใบเงิน ใบทอง ใบแก้ว ใบรัก ใบสวาด ดอกพุทธชาด ดอกบานไม่รู้โรย ในหมู่ขันหมากเอกยังมีเตียบ ซึ่งเป็นพาชนะบรรจุอาหารทรงคล้ายตะลุ่ม ปากผาย มีฝาครอบ จัดเป็นคู่ ๆ บรรจุอาหารคาวหวาน ที่นิยมกันก็มี ไก่ หมู่ ห่อหมก ขนมจีน สองอย่างแรกเป็นของที่ใช้เซ่นไหว้ตามธรรมเนียมสองอย่างหลังมีความหมายดี เนื่องจาก “หมก” หมายถึง “รวม” และขนมจีนนั้นมีเส้นยาวเป็นเคล็ดว่าให้คู่บ่าวสาวรักกันนาน ๆ ของหวานที่นิยม มีฝอยทอง ขนมชั้นขนมกล้วย ขนมกง มะพร้าวอ่อนทั้งใบ กล้วย ส้มทั้งผล สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือขันไหว้ผีใส่มะพร้าวอ่อน อ้อย และเหล้าทั้งขวด นอกจากนี้ยังมักจัดพานถัวงาสำหรับใช้ในพิธีสู่ขอ

ขันหมากเลวหรือขันหมากโท (เลวหมายถึงสามัญ) จะจัดกี่คู่ก็ได้ บรรจุขนมต่าง ๆ เช่น ทองเอก ฝอยทอง ขนมจันอับของจีนหรือขนมเค้กแบบฝรั่ง แล้วแต่ความนิยม และผลไม้พื้นบ้าน เช่น กล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน สมัยก่อนเจ้าบ่าวจะส่งขันหมากเลวมาล่วงหน้าก่อนวันแต่ง 1 วัน (วันสุกดิบ) เพื่อที่ฝ่ายเจ้าสาวจะได้นำอาหารนั้นมาเลี้ยงแขกในวันแต่งงานด้วย

พิธีหลั่งน้ำ
เดิมทีเป็นพิธีซัดน้ำ โดยนิมนต์พระสงฆ์เป็นผู้ประพรม หรือ “ซัด” น้ำมนต์บนตัวแก่คู่บ่าวสาว ซึ่งมักว่ากันถึงเปียกปอนเลยทีเดียว ต่อมาจึงแปลงเป็นการให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายและแขกเหรื่อร่วมรดน้ำอวยพรแก่คู่ บ่าวสาวแทน เครื่องใช้ในพิธีซึ่งฝ่ายเจ้าสาวต้องเตรียมได้แก่

๑.โต๊ะหมู่บูชา ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าไม่สะดวกจะหันไปทิศอื่นก็ได้ ยกเว้นทิศตะวันตก ซึ่งถือว่าเป็นทิศของคนตาย

๒.ธูป เทียน สำหรับจุดนมัสการพระพุทธ ใช้ธูป ๓ ดอก เทียน ๑ คู่ ยังไม่ต้องจุด

๓.ตั่งหลั่งน้ำ ปกติใช้ตั่งสำหรับคู่บ่าวสาวนั่งห้อยเท่าหรือพับเพียบและที่วางมือรับน้ำ สังข์ ตั้งไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา ห้ามไม่ให้วางหันไปทางทิศตะวันตกเช่นกัน หน้าตั่งวางขันน้ำหรือพานสำหรับรองรับน้ำสังข์

๔.โต๊ะวางหม้อน้ำสังข์ สังข์ พานมงคลแฝด โถแป้งกระแจะสำหรับเจิมหน้าคู่บ่าวสาว มงคลแฝดนี้ปกติเจ้าภาพ จะเตรียมสายสิญจน์แล้วนิมนต์ให้ประธานสงฆ์เป็นผู้ทำมงคล แต่พระบางรูปจำไม่รับนิมนต์ เจ้าภาพต้องตระเตรียมเอง ส่วนน้ำสังข์ จะใช้ “น้ำพระพุทธมนต์” ที่พระสงฆ์ปลุกเสกให้

๕.มาลัยบ่าวสาว ๑ คู่ เมื่อได้ฤกษ์ ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะนำคู่บ่าวสาวมาจุดธูปเทียนบูชาพระ เสร็จแล้วคู่บ่าวสาวขึ้นนั่งบนตั่งรดน้ำ ให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา จากนั้นผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในพิธีกราบพระแล้วสวมมาลัยให้คู่บ่าวสาว สวมมงคลคู่ รดน้ำสังข์แล้วเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาว จากนั้นจึงเชิญแขกร่วมรดน้ำตามลำดับอาวุโส เมื่อเสร็จพิธี ประธานจะถอดมงคลพร้อมกล่าวอวยพรแก่คู่บ่าวสาว จากนั้นทั้งคู่จึงลุกจากที่พร้อม ๆ กัน แต่บางคนอาจถือเคล็ดว่าใครปลุกก่อนจะมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

พิธีปูที่นอน
นิยมเชิญคู่สามีภรรยาที่รักกัน อยู่ร่วมกันมายาวนาน มีลูกหลานสืบสกุลและเป็นคนดีมีศีลธรรมมาเป็นประธานเมื่อได้ฤกษ์ประธานจะไหว้ พระสวดมนต์แล้วขึ้นนอนคู่กันบนที่นอนพอเป็นพิธี โดยอาจจะมีคำกล่าวเอาเคล็ดต่างๆ บ้างก็จะใช้ ฟัก หินบดยา แมวขาว ถั่วงา ดอกรัก หรือกลีบกุหลาบ เนื่องมาจากความหมายของสิ่งของในแต่ละอย่างคือ ฟัก หมายความถึงให้คู่บ่าวสาวเย็นในเหมือนฟัก, หินบดยา หมายถึงความหนักแน่นดังหิน, แมว หมายความถึงการอยู่กับเย้าเฝ้ากับเรือน อดทนอดกลั่น, ถั่วงา หมายความถึงการเจริญงอกงามไม่ว่าจะทำการใด และกลีบกุหลาย ดอกรัก ที่โปรยลงบนที่นอนของคู่บ่าวสาวนั้น หมายความถึงให้คู่บ่าวสาวครองรักกันไปนานๆ

พิธีส่งตัว
พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะพาเจ้าสาวมาส่งทีห้องหอ ให้โอวาทและอวยพรแก่ทั้งคู่ บางบ้านอาจจะให้ทำพิธีเกี่ยวก้อยตามแบบโบราณ โดยให้เจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวแล้วเข้าไปอยู่หลังม่านในห้องหอ เจ้าบ่าวไหว้เฒ่าแก่ในพิธีแล้วจึงยื่นมือเข้าไปเกี่ยวก้อยกับเจ้าสาวในม่าน จากนั้นเฒ่าแก่จะให้เจ้าสาวกราบหมอนเจ้าบ่าวแล้วนอนลงทางฟากของตนก่อนเป็น เคล็ดให้เจ้าบ่าวเกรงใจเจ้าสาว เฒ่าแก่อาจจะสั่งสอนทั้งสองฝ่ายถึงหน้าที่สามีภรรยาก่อนจะลากลับ โดยเมื่อทำการส่งตัวเสร็จเรียบร้อย ในคืนนั้นทั้งคืนคู่บ่าวสาวห้ามออกจากห้องหอ ถือเป็นความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ ว่าหากภายในคืนั้นออกมาจากห้องจะทำให้อยู่กันไม่ยืดยาว

ที่มา ประเพณีไทย ประเพณีการแต่งงาน ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.baanmaha.com

 

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ