วันนักข่าว/วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ
ทุกวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี
วันนักข่าว หรือ วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ในประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน)
ความสำคัญของนักข่าว
ปัจจุบันข่าวสารข้อมูลกำลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แต่ความจำเป็นดังกล่าวไม่ใช่เพียงเนื้อหาของข่าวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวก็มีความสำคัญ ในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนไปยังผู้ อ่านด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากจะเปรียบเทียบคนทำข่าวเฉกเช่นกระจกสะท้อนสังคมก็คงไม่ผิดอะไรนัก เพียงแต่ควรจะสะท้อนทุกด้านอย่าสะท้อนเพียงด้านเดียวเท่านั้น
ในแวดวงหนังสือพิมพ์มีผู้เรียกนักหนังสือพิมพ์หรือนักข่าวว่า ฐานันดร 4 ความหมายโดยนัยคือ ผู้มีสถานะแตกต่างจากบุคคลอื่นตามธรรมดาทั่วไป หรือแปลความหมายในลักษณะผู้มีอภิสิทธิ์ในการขีด เขียน เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางสื่อมวลชน
กว่าจะมาเป็นวันนักข่าว
วันที่ครั้งหนึ่งบุคคลที่อยู่ในวิชาชีพข่าวสาร เคยถกเถียงกันอย่างคร่ำเคร่งพอสมควรว่า…เราควรให้ความสำคัญ หรือไม่ให้ความสำคัญ?
กลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรให้ความสำคัญ ให้เหตุผลว่า เพราะนักข่าวควรเป็นบุคคลที่ถ่อมตัว สมถะ ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตนเองเพื่อประชาชน เพื่อชุมชนและเพื่อประเทศชาติ โดยไม่ควรเรียกร้องอะไรมากนัก ถ้าเรายังมีวันนักข่าว ก็แปลว่าเรายกตัวเองเหนือคนอื่น ถึงขนาดประกาศให้มีวันพิเศษขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะในอดีต เคยกำหนดให้เป็นวันหยุดด้วย ดูจะเป็นการให้ความสำคัญจนเกินเหตุไป ในทางที่ถูก เราควรใช้ชีวิตอย่างธรรมดาๆ ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งเหมือนกันทุกวัน โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดให้วันใดวันหนึ่งเป็นวันของบุคคลในอาชีพนี้
แต่กลุ่มที่เห็นว่าควรให้ความสำคัญ ก็เถียงว่า เหตุที่อยากให้มีวันนักข่าว และเน้นให้เห็นความสำคัญของวันนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อตัวนักข่าวเท่านั้น สิ่งที่ต้องการคือการยํ้าให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า นักข่าวหรือนัก หนังสือพิมพ์นั้นคือ ผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แทนประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ใช้ปากกาและใช้หน้ากระดาษแสดงความคิดความเห็นแทนประชาชนว่าอย่างนั้น เถิด การมีวันนักข่าวจึงเท่ากับการมีอะไรสักอย่าง ที่เป็นเครื่องเตือนใจนักข่าวทั้งหลายให้ระมัดระวังตัวเอง ไม่เอาสิทธิของประชาชนไปใช้ผิดๆ หรือทำผิดๆจนกลายเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยความคึกคะนอง ทุกครั้งที่สื่อมวลชนติติง วิพากษ์วิจารณ์ใคร จะต้องระมัดระวังอยู่เสมอๆว่า เรากำลังวิจารณ์แทนประชาชน มิใช่วิจารณ์ตามอำเภอใจ หรือตามแต่ใจเรา ดังนั้นถ้าเรามีวันนักข่าวพร้อมกับกำหนดกิจกรรมให้วันนี้ เป็นวันที่มีความหมายในทางสบัติหน้าที่ และจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมในที่สุด
หลังจากที่แสดงความคิดเห็นกันอยู่ระยะหนึ่ง ผลก็ออกมาในลักษณะพบกันครึ่งทางดังจะเห็นได้ว่าในห้วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ วันนักข่าวค่อยๆแปรโฉมไปสู่ความมีสาระมากขึ้น โดยเฉพาะที่เคยกำหนดให้วันนักข่าวเป็นวันหยุดของนักข่าวทั้งหลายก็เลิกล้มไป ปัจจุบันนี้ วันนักข่าว เป็นวันทำงาน (อย่างเต็มที่) ของหนังสือพิมพ์ทุกๆฉบับ มิใช่วันหยุดสำหรับการออกไปพักผ่อน เฮฮา ดังเช่นในอดีต
กำเนิดวันนักข่าว
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่น บุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือ
- นายโชติ มณีน้อย
- นายเท่ห์ จงคดีกิจ
- นายประจวบ อัมพะเสวต
- นายวิเชียร โรจนวงศานนท์
- นายถาวร มุ่งการดี
- นายสนิท เอกชัย
- นายเชาว์ รูปเทวินทร์
- นายจรัญ โยบรรยงค์
- นายกุศล ประสาร
- นายชลอ อาภาสัตย์
- นายอนงค์ เมษประสาท
- นายวิสัย สุวรรณผาติ
- นายนพพร ตุงคะรักษ์
- นางวิภา สุขกิจ
- นายเลิศ อัศเวศน์ นั
ดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมี นายชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม
โดยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่าน ว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดากระจอกข่าวทั้งหลายนั่นเอง แต่แล้วหนังสือพิมพ์ก็แอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนผู้อ่านตื่นตัว และต้องการรับข่าวสารมากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่างๆ ตามความเหมาะสม
ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข> จนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมวันนักข่าว
* กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์วันนักข่าว อาทิ การประกาศยกย่องหนังสือพิมพ์ หรือนักข่าว ช่างภาพ ที่มีผลงานยอดเยี่ยม สมควรได้รับรางวัล อิศรา อมันตกุล
* กิจกรรมพบปะสังสรรค์ในระยะสั้นๆในห้วงเวลาเย็นๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้นักข่าวจากทุกสำนักมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
* กิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พี่ป้าน้าอา หรือเพื่อนๆ นักข่าวผู้ล่วงลับ โดยมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดชนะสงครามทุกๆปี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
– อักษรดอทคอม
– สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิหนังสือพิมพ์
– วิกิพีเดีย