เครดิตบูโร เปรียบเสมือน “ถังข้อมูลพฤติกรรมหนี้” ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย และอีกนัยหนึ่งก็ยังเป็น “สัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจ”…หาก เพราะ เครดิตบูโร สามารถนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ระบบการเงิน รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดความล่มสลายได้อีกด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา เครดิตบูโร ได้ตกเป็นที่สนใจของคนในสังคมอีกครั้ง หลังจากมีกระแสข่าวยืนยันแน่ชัดแล้วว่า จะมีการล้างประวัติลูกหนี้แบล็กลิสต์ 600,000 ราย ที่เคยค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน กระนั้น ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวม 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับเครดิตบูโรมาไว้ที่นี่แล้ว ฉะนั้น หากคุณคิดจะทำบัตรเครดิต ซื้อบ้าน ออกรถ ขอสินเชื่อ ทำบัตรกดเงินสด…เราว่าคุณควรอ่าน 10 ข้อดังต่อไปนี้ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน
1. What’s เครดิตบูโร ?
บริษัทที่ทำหน้าที่รวบรวม ข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่งที่เป็นสมาชิก โดยนำมารวบรวมประมวลผลเป็นข้อมูลเครดิตในภาพรวมของเจ้าของข้อมูลแต่ละราย และเมื่อสถาบันการเงินหรือลูกค้าเจ้าของข้อมูลต้องการเรียกดูรายงานข้อมูล เครดิตภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด บริษัทข้อมูลเครดิต ก็จะเปิดเผยข้อมูลเครดิตนั้นในรูปของรายงานข้อมูลเครดิต
2. ค้างชำระค่าโทรศัพท์ จะติดเครดิตบูโร หรือขอสินเชื่อยากขึ้นหรือไม่ ?
เครดิต บูโรไม่มีการจัดเก็บข้อมูลการชำระ หรือค้างชำระเกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ รายการบัญชีเงินฝาก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า หรือข้อมูลทรัพย์สินเงินฝากแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ดำเนินการจัดเก็บ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษในทางอาญา และปัจจุบันยังไม่มีการนำส่งข้อมูลจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเข้ามาใน ระบบข้อมูลเครดิตอีกด้วย
3. เหตุใด ไฉนกันคุณจึงถูกปฏิเสธขอสินเช่ือ ?
การ พิจารณาวิเคราะห์สินเชื่อ หรือออกบัตรเครดิตให้กับผู้ที่มาขอสินเชื่อนั้น สถาบันการเงินจะนำข้อมูลนี้ไปพิจารณารวมกับข้อมูลที่แสดงความสามารถในการทำ รายได้ เช่น เงินเดือน อาชีพ ภาระในครอบครัว เป็นต้น ดังนั้น การพิจารณาให้-ไม่ให้ หรืออนุมัติ-ไม่อนุมัติ เป็นสิทธิและเป็นอำนาจของสถาบันการเงิน เครดิตบูโรไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
4. คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า เหตุที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ…คุณทำผิดอะไร ?
ตาม กฎหมาย หากสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อแก่คุณ เพราะได้รับรู้ข้อมูลเครดิตของคุณไป สถาบันการเงินนั้นๆ ต้องแสดงเหตุผลและแจ้งให้ท่านทราบเป็นหนังสือ โดยคุณสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ศูนย์ตรวจสอบเครดิตบูโร ภายในสามสิบวันนับจากวันที่ได้รับคำปฏิเสธการขอสินเชื่อ
5. ข้อมูลในเครดิตบูโรจะอัพเดตทุกๆ กี่เดือน กี่ปี ?
กฎหมาย กำหนดไว้ว่า ข้อมูลของบุคคลธรรมดาและข้อมูลของนิติบุคคลให้เก็บไว้ในระบบประมวลผลได้ไม่ เกิน 3 ปี และ 5 ปีตามลำดับ นับตั้งแต่สถาบันการเงินรายงานข้อมูลมายังบริษัท โดยที่จะมีข้อมูลใหม่เข้าไปแทนที่ข้อมูลเก่าเรื่อยไป ส่วนการอัพเดตข้อมูลนั้น สถาบันการเงินจะรายงานประวัติการชำระของคุณเข้ามาที่บริษัทฯ ทุกๆ สิ้นเดือน
6. อุ๊บส์! ติด BLACKLIST คืออะไร ?
ระบบเครดิตบูโร จะไม่มีคำว่า “Blacklist” หรือแม้กระทั่งคำว่า “ติดเครดิตบูโร” ซึ่งคำดังกล่าว เป็นภาษาพูดที่ใช้กันจนชินปาก เช่น พวกรับจ้างทวงหนี้ หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ปฏิเสธไม่ให้สินเชื่อคุณ มักชอบอ้างใช้คำนี้ ซึ่งคำว่า Blacklist ก็คือการที่เราไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเวลาที่กำหนด และทำให้ไม่สามารถยื่นขอที่ใดๆ ได้อีก หากไม่ชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
ขณะเดียวกัน บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะเก็บข้อมูลไว้ในระบบ 3 ปี หลังจากนั้นคุณสามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถาบันการเงิน ฉะนั้น คำตอบที่ดีที่สุดของปัญหานี้คือ ใช้หนี้ให้หมดและสร้างความมั่นคงการเงินใหม่ คุณจะมีรายงานข้อมูลเครดิตที่ดี และสามารถทำธุรกรรมต่อได้อย่างปกติ
7. ราชกิจจานุเบกษาประกาศล้างประวัติลูกหนี้ 6 แสนราย…ใครบ้างหนอได้รับโอกาส ?
ลูกหนี้ รายย่อยประมาณ 6 แสนรายที่โชว์ประวัติการค้างชำระหนี้เกิน 90 วันอยู่ในฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติครบ 8 ปี จะถูกลบประวัติการค้างหนี้ออกจากระบบ จึงทำให้มีโอกาสยื่นขอสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ได้อีกครั้ง ส่วนยอดหนี้ยังคงเดิม ไม่มีการลบทิ้งหรือล้างข้อมูลออกไปแต่อย่างใด
ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้ที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2541 โดย 95% เป็นรายย่อย และอีก 5% เป็นนิติบุคคล ซึ่งมียอดหนี้ไม่สูง และธนาคารพาณิชย์ไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการดำเนินการฟ้องร้อง
8. เอ๊ะ! ประวัติเครดิตบูโร เราเป็นอย่างไรบ้าง ต้องเช็กทางไหน ?
– บุคคลธรรมดา สามารถตรวจเครดิตบูโรได้ที่
1. ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ สาขาสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง สาขาอาคารกลาสเฮ้าส์ ปากซอยสุขุมวิท 25 และสาขาห้างเจ-เวนิว (นวนคร) รับรายงานได้เลยภายใน 15 นาที
2. ยื่นคำขอผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ได้ทุกสาขา บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานผ่านทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนภายใน 7 วัน
3. ยื่นคำขอผ่านตู้เบิกเงินสด (ATM) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานผ่านทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนภายใน 7 วัน
4. ยื่นคำขอผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ของธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานผ่านทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนภายใน 7 วัน
5. ยื่นคำขอผ่านช่องทางออนไลน์ (Internet Banking) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานผ่านทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนภายใน 7 วัน
– นิติบุคคล สามารถตรวจสอบเครดิตบูโร ได้ที่
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สาขาธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ รับรายงานภายใน 15 นาที และผ่านทางไปรษณีย์ บริษัทฯ จะจัดส่งรายงานผ่านทางไปรษณีย์ แบบลงทะเบียนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทฯ ได้รับเอกสารครบถ้วน
9. ทำไมข้อมูลเครดิตของคุณถูกส่งมาให้บริษัทข้อมูลเครดิต ทั้งที่คุณไม่เคยอนุญาต ?
ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 บัญญัติให้สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องนำส่ง ข้อมูลของลูกค้าของตนแก่บริษัทข้อมูลเครดิตที่ตนเป็นสมาชิก แต่เมื่อได้นำส่งในครั้งแรกแล้ว สถาบันการเงินนั้นต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นำส่ง ข้อมูล แต่ไม่ต้องขออนุญาตจากลูกค้า นอกจากนั้น สถาบันการเงินสมาชิกอาจต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบในกรณีอื่นๆ
10. ทำอย่างไรให้เครดิตแจ่ม รักษาประวัติหรู ?
– ไม่ควรมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนสูงเกินไป จนทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและชำระหนี้
– ควรมีบัตรเครดิตเท่าที่เพียงพอต่อความจำเป็น และควรปิดบัญชีบัตรเครดิตที่ไม่ใช้แล้ว เพราะหากมีมาก แนวโน้มการก่อหนี้ก็จะมีมากขึ้น
– ควรชำระหนี้ทุกรายการตามใบแจ้งหนี้จากสถาบันเจ้าหนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ขั้นต่ำตามที่กำหนด
– หากชำระไม่ทันตามเวลา ควรรีบติดต่อกับสถาบันผู้ออกบัตรทันที และควรดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษร.
เฮ! รับโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน พึงระวังลวงลบประวัติมืด
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ได้กล่าวไว้ว่า ระยะเวลา 8 ปี ถือว่านานพอสมควรที่จะได้รับโอกาสใหม่อีกครั้ง และ ธปท. อยากให้ลูกหนี้ที่ได้รับการลบประวัติการค้างชำระหนี้ไปแล้ว ครองตนเป็นผู้ที่มีวินัยทางการเงินมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้ตกเป็นผู้มีประวัติทางการเงินไม่ดี จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ได้เตือนให้ประชาชนได้ตระหนักว่า “เครดิตบูโรไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ลบทิ้งให้ต่างไปจากความเป็นจริงได้ และไม่มีใครปลดล็อกอะไรกันได้ตามที่มีการโฆษณาหลอกลวง จึงอยากให้ระมัดระวัง และอย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด หากเพราะการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการขอสินเชื่อนั้น ควรติดต่อสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด”
คนที่ได้รับการหยิบยื่นโอกาส อาจเป็นผู้ที่โชคดี แต่คนที่สร้างโอกาสให้ตัวเองได้คือคนเก่ง…หากเพราะสิ่งที่ยากกว่าการได้ รับโชคชะตา คือการรักษาโอกาสอันมีค่าไว้ให้ดีที่สุด
http://www.thairath.co.th/content/453568