เทศกาลกินเจ 2566 ตรงกับวันที่ 15-23 ต.ค. เปิดประวัติ ความหมาย และการปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
เทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก การบริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี รวม 9 วัน ซึ่งจะตรงกับเดือนตุลาคมของไทย
“กินเจ” ตรงกันวันอะไร
สำหรับในปี 2566 เทศกาลกินเจจะตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม หลายคนอาจจะเริ่มเตรียมล้างท้องก่อนในมื้อเย็นในวันที่ 14 ต.ค.
ความหมายของคำว่า “เจ”
“เจ” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
ประวัติ ความเชื่อเกี่ยวกับ “เทศกาลกินเจ”
ตามตำนานเล่าว่า เมื่อเล่าจื๊อ ศาสดาแห่งลัทธิเต๋าเกิดขึ้นได้ถือพรตของลัทธิเต๋าแต่นั้นมา เมื่อก่อนนั้น การกินเจไม่มีการกำหนดว่าจะกินกันเมื่อไร แต่ถือเอาความสะดวกของผู้กิน จะกินวันไหน เดือนไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนิยมกินเจในช่วงไว้ทุกข์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฎิบัติตนในทางที่ดีงาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย
ต่อมาเมื่อเกิดกบฏไท้เผ้ง ซึ่งชาวจีนได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านและหวังกอบกู้แผ่นดินจากพวกแมนจู ผู้ก่อการกบฏ ถูกจับประหารชีวิต ยังความโศกเศร้าเสียใจให้กับชาวจีน จึงร่วมกันปฎิบัติธรรม โดยกินเจและถือศีล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ถูกประหารชีวิต การกินเจจึงถูกกำหนดให้เป็นเทศกาลตั้งแต่นั้นมา
บางแห่งเชื่อกันว่ากินเจเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ส่วนความเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับเทศกาลกินเจนั้นมีดังนี้
ตำนานที่ 1
กล่าวกันว่า การกินเจเริ่มขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักรบ “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งเป็นทหารชาวบ้านของจีนที่ต่อสู้ต้านทานกองทัพแมนจูอย่างกล้าหาญ ฝ่ายแมนจูมีปืนไฟของชาวตะวันตกที่ฝ่ายจีนไม่มี นักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้จะประกอบพิธีกรรมนุ่งขาวห่มขาว ไม่กินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน และท่องบริกรรมคาถาตามความเชื่อของจีน เชื่อกันว่าจะสามารถป้องกันปืนไฟได้ แต่ก็ไม่ประสบผล
ครั้นจีนพ่ายแพ้แมนจู ชายชาวจีนถูกบังคับให้ไว้ผมอย่างชาวแมนจู ซึ่งสร้างความคับแค้นให้แก่ชาวจีนอย่างมาก ชาวจีนจึงรำลึกถึงนักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้ด้วยสำนึกในบุญคุณ
ตำนานที่ 2
เพื่อเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ดาวนพเคราะห์” ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้สาธุชนในพระพุทธศาสนาสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีลงดเว้นเนื้อสัตว์และแต่งกายด้วยชุดขาว
ตำนานที่ 3
ผู้ถือศีลกินเจในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ (หรือ “เก้าอ๊อง”)
ตำนานที่ 4
เพื่อเป็นการบูชา “จักรพรรดิซ่งตี้ปิง” ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง การที่เผยแผ่มาสู่เมืองไทยได้นั้นเพราะชาวจีนจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่
ตำนานที่ 5
1,500 ปีมาแล้ว มณฑลกังไสเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองมาก ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเป็นเลิศทั้งบุ๋นและบู๊จึงทำให้หัวเมืองต่างๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็งและมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มีทั้งหมดที่มากกว่าหลายเท่าตัวโอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้ง 9 ไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ
จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่าอีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วยแต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสาและเพ่งญาณเห็นว่าควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญ ลีฮั้วก่าย
คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่ามีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบเศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไปและประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อนและผู้อื่นจึงปฏิบัติตามจนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย
เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไสจึงได้ศึกษาตำราการกินเจของเศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธีเชี้ยยกอ๋องส่องเต้
ตำนานที่ 6
ชายขี้เมานามว่า เล่าเซ็ง เข้าใจผิดคิดว่าแม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่ได้มาเข้าฝันบอกว่า แม่ตายไปได้รับความสุขมากเพราะแม่กินแต่อาหารเจและตอนนี้แม่อยู่บนเขาโพถ้อซัว ตั้งอยู่บนเกาะน่ำไฮ้ ในมณฑลจิ๊ดเจียงถ้าลูกอยากพบแม่ให้ไปที่นั่น
ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งอยากไปแต่ไปไม่ถูกจึงตามเพื่อนบ้านที่จะไปไหว้พระโพธิสัตว์ เพื่อนบ้านเห็นเล่าเซ็งสัญญาว่าจะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงให้ไปด้วย ระหว่างทางเดินสวนกับคนขายเนื้อเล่าเซ็งลืมสัญญาที่ให้ไว้เพื่อนบ้านก็หนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินผ่านมาและต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เล่าเซ็งจึงขอตามนางไป
เมื่อถึงเขาโพถ้อซัวขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบไหว้พระโพธิสัตว์นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูปที่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเดินทางกลับเขาได้แยกทางกับหญิงสาวและได้พบเด็กชายคนหนึ่งยืนร้องไห้อยู่จึงเข้าไปถามไถ่ได้ความว่าเป็นลูกของเขากับภรรยาที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วยแล้ววันหนึ่งหญิงสาวที่นำทางไปเขาโพถ้อซัวมาขออาศัยอยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
หญิงสาวผู้นั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ประพฤติตนเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรมและถือศีลกินเจอยู่เนืองนิตย์ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้วจึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางอาบน้ำแต่งตัวด้วยอาภรณ์ที่ขาวสะอาดแล้วนั่งสักครู่ก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่จึงเกิดศรัทธายกสมบัติให้ลูกชายแล้วประพฤติตนใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่และหญิงสาวและประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้น
ความหมาย “ธงเจ”
มีพื้นธงเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับคนสองกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มกษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มอาจารย์ปราบผี ดังจะเห็นจากยันต์สีเหลืองตามภาพยนตร์จีน ดังนั้นสีเหลืองจึงเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล
บนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า “ไจ” หรือ “เจ” มีความหมายว่า “ของไม่มีคาว” เหตุที่ใช้สีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่า เป็นสีมงคล สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต
ธงเจ นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนถือศีลกินเจได้ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงกินเจ
3 จุดประสงค์หลัก “กินเจ”
ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
1. กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา
3. กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย (ถ้าไม่ฆ่าไม่ขายก็ไม่มีคนกิน) กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น
การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้
1. รับประทาน “อาหารเจ”
2. งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก งดผักที่มีกลิ่นฉุนทั้งหลาย แยกภาชนะสำหรับอาหารเจเท่านั้น
3. รักษาศีลห้า
4. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ ไม่พูดคำหยาบคาย รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์ ทำบุญทำทาน ไหว้พระ สวดมนต์
5. นุ่งขาวห่มขาวตลอดเทศกาลกินเจ และควรแต่งกายชุดขาวเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆในแต่ละศาลเจ้า
ที่มา : https://www.thaipbs.or.th/
วิกิพีเดีย , สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง