ช่วงเวลาที่จัดงานประเพณีไทย งานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยว วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน-๑๐ ธันวาคม ของทุกปี
ความสำคัญของงานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยว
งานเทศกาลไหมเป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าพื้น เมือง (ผ้าไหม) และของที่ระลึกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
ประเพณีผูกเสี่ยว ก็เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่า “เสี่ยว” เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน
พิธีกรรมของงานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยว
อุปกรณ์ที่สำคัญมีพานบายศรีอาจเป็นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือ ๗ ชั้น และมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง คือ สุรา ๑ ขวด ไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง ข้าวต้มมัด ๔ ห่อ กล้วยสุก ๔ ผล ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน
เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยวนั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับ เนื้อกับตัว จบแล้วหมอพราหมณ์และแขกจะนำด้วยมงคลผูกข้อมือของคู่ขวัญ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่ขวัญก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน เป็นอันเสร็จพิธี
สาระของงานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยว
เรียกขวัญเพื่อเป็นการเตือนสติให้รู้จักภาวะของตนเอง เช่น จะแต่งงาน บวช หรือเสี่ยว จะต้องปฏิบัติอย่างไร เชื่อกันว่า ขวัญสิงสถิตอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจ เมื่อทำพิธีเรียกขวัญแล้วก็จะเกิดพลังกายและพลังใจที่เข้มแข็งได้
ที่มาประเพณีไทย งานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยว: ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/