ชาวบ้านในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ และใกล้เคียง เชื่อกันว่าในชั่วชีวิตของตนต้องขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อที่ไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง ซึ่งมีปราสาทหินเขาพนมรุ้งเป็น ที่สถิตของเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น ฉะนั้นผู้เฒ่าผู้แก่มักจะเรียกร้องให้บุตรหลานพาขึ้นเขาพนมรุ้ง เพื่อนมัสการ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชั่วชีวิตของตน ความเชื่อดังกล่าวนี้ริเริ่มมีมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ แต่พบว่าชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงได้ยึดถือปฏิบัติกันสืบต่อมา ผ่านคนรุ่นหนึ่งสู่อีกคนรุ่นหนึ่ง จนถือกันเป็นประเพณีไทยต้องขึ้นเขาพนมรุ้ง นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันสิงสถิตอยู่ที่ปราสาทหินทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนร่ำรวยต้องหาโอกาสให้ได้
ฉะนั้นในอดีต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก่อนพุทธศักราช ๒๔๘๑ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะเตรียมตัวพร้อมเสบียงอาหารที่เดินทางไกลไปยังเขาพนมรุ้งส่วนใหญ่ มักจะนัดแนะเพื่อนบ้านญาติพี่น้องไปพร้อม ๆ กันเป็นกองเกวียนขนาดใหญ่ หรือถ้าเป็นคหบดี ค่อนข้างมีฐานะ จะเดินทางโดยระแทะ เป็นเกวียนขนาดเล็กที่มีการตกแต่งอย่างงดงาม เป็นการแสดงฐานะของผู้เป็นเจ้าของด้วย เดินทางรอนแรมกันไปหลายวันตามระยะทางใกล้หรือไกลจากหมู่บ้านของเขา การขึ้นเขาพนมรุ้งในสมัยแรก ๆ นั้น เป็นลักษณะต่างคนต่างไป และไปพบกันที่เขาพนมรุ้ง บางกลุ่มเดินทางขึ้นเขา ขณะที่บางกลุ่มเดินลงเขาเพื่อกลับยังเคหะสถาน ตลอดฤดูแล้งระหว่างเดือน ๓ ถึงเดือน ๕ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ว่างจากงานไร่ นา แต่กระนั้นก็ตามชาวบ้านในละแวกจังหวัดบุรีรัมย์และใกล้เคียงได้เรียนรู้ว่า ในวันเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำนั้น เป็นวันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง ๑๕ ช่องตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกของปราสาทพนมรุ้ง และในเย็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ พระจันทร์จะขึ้นตรงกับช่องประตูทุกช่อง เช่นเดียวกัน “ในกรณีดังกล่าวอธิบายได้ว่า สถาปนิกหรือช่างก่อสร้างชาวขอมโบราณมีความรอบรู้ เรื่องดาราศาสตร์มาก และได้วางผังปราสาทโดยวางให้ตรงตามทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยกำหนดเอาวันที่พระอาทิตย์ส่องแสงตั้งฉากกับพื้นโลกในบริเวณประเทศไทย นั้นคือ พระอาทิตย์จะส่องแสงตั้งฉากกับพื้นโลกเวลาเที่ยงตรง (คนยืนกลางแจ้งจะไม่มีเงา) วันที่พระอาทิตย์ส่องแสงตั้งฉากกับพื้นโลกคือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ (แต่ปัจจุบัน พระอาทิตย์ได้ทำมุมเอียงไปบ้างแล้วตามวงโคจรของโลก พระอาทิตย์ พระจันทร์ ได้ทำมุมเปลี่ยนไปตามระบบสุริยจักรวาล) ฉะนั้นจึงพบว่าชาวบ้านจะนิยมขึ้นเขาพนมรุ้งในวันเดือน ๕ ขึ้น ๑๕ค่ำ หรือในวันใกล้เคียง เพื่อจะได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ดังกล่าวด้วย ครั้นมีผู้คนไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวันดังกล่าวจำนวนมาก จึงมีผู้ริเริ่มทำบุญกุศลจัดงานนมัสการพระพุทธบาทจำลอง ปิดทองพระพุทธรูป แต่กระนั้นก็ตามยังไม่ได้จัดทำบุญกันสม่ำเสมอทุกปี
ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งได้กระทำกันอย่างสม่ำเสมอ น่าจะนับได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นต้นมา โดยมีพระภาสธรรมญาณ วัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งท่านมักจะไปธุดงค์ที่เขาพนมรุ้งเป็นประจำทุกปี เพื่อปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเห็นว่ามีผู้คนชาวไทย-ลาว ชาวเขมร และไทยเบิ้ง มักจะขึ้นเขาพนมรุ้งมาบำเพ็ญกุศลในวันเวลาดังกล่าวจำนวนมาก ประกอบกับท่านได้เห็นตัวอย่างชาวสุรินทร์ได้มีประเพณีขึ้นเขาพนมสวาย ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เพื่อปิดทองนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รอยพระพุทธบาทจำลอง ท่านจึงจัดประชุมชาวบ้านบุ ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงเขาพนมรุ้ง ช่วยกันถากถางตกแต่งสถานที่บริเวณลานหน้าปราสาทเขาพนมรุ้ง เพื่อจัดงานบุญงานกุศลอันเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง โดยจัดงานนมัสการและปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง