วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งต้องใช้ไขมันและแร่ธาตุมาช่วยในการดูดซีมเข้าสู่ร่างกาย โดยร่างกายคนเราสามารถเก็บสะสมวิตามินเอได้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารเสริมทดแทนทุกวันแต่อย่างใด
วิตามินเอแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ วิตามินเอแบบสำเร็จที่เรียกว่า เรตินอล Retinol (พบในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น) และโปรวิตามินเอหรือแคโรทีน (พบทั้งพืชและสัตว์) ซึ่งวิตามินเอนั้นมีหน่วยวัดเป็น IU, USP และ RE โดยที่นิยมใช้กันมากก็คือหน่วย IU
แหล่งอาหารของวิตามินเอที่พบได้โดยทั่วไป เช่น น้ำมันตับปลา ตับ แครอท ผักสีเหลืองและเขียวเข้ม ผักตำลึง ยอดชะอม คะน้า ยอดกระถิน ผักโขม ฟักทอง มะม่วงสุก บรอกโคลี แคนตาลูป แตงกวา ผักกาดขาว มะละกอสุก ไข่ นม มาร์การีน และผลไม้สีเหลือง เป็นต้น
โทษของวิตามินเอ ได้แก่อาการ ปวดกระดูก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาไม่ปกติ ผมร่วง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผิวลอก ผมร่วง ตามัว ผดผื่น และอาการตับบวมโต โดยอาจเป็นอันตรายได้สำหรับวัยผู้ใหญ่ที่รับประทานมากกว่า 50,000 IU ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายเดือน และสำหรับหญิงตั้งครรภ์อาจแท้งลูกได้หากรับประทาน 18,500 IU ต่อเนื่องกันทุกวัน ส่วนเบต้าแคโรทีน หากทานมากกว่า 34,000 IU ต่อเนื่องกันทุกวัน สีผิวอาจเปลี่ยนสี เป็นสีเหลืองได้ และศัตรูของวิตามินเอ ได้แก่ กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนและแคโรทีนจะทำงานขัดแย้งกันกับวิตามินเอ หากในร่างกายมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระไม่เพียงพอ
ประโยชน์ของวิตามินเอ
1. ช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
2. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ช่วยรักษาโรคตาได้หลายโรค โดยช่วยสร้างเม็ดสีที่มีคุณสมบัติไวต่อแสง
3. ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. วิตามินเอช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
5. ช่วยลดจุดด่างดำ รอยแผลเป็น รอยแผลสิวที่ผิวหนังได้ดี
6. ช่วยสร้างเนื้อเยื่อชั้นนอกของอวัยวะต่างๆ ให้มีสุขภาพดีขึ้น
7. ส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย ผิวพรรณ ผม ฟัน เหงือก และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก
8. รักษาโรคถุงลมโป่งพองและไทรอยด์เป็นพิษได้
9. หากใช้ทาบริเวณผิวหนังจะช่วยรักษาสิวได้ ลดริ้วรอยตื้นๆ
10. ช่วยรักษาโรคผิวหนังชนิดเป็นตุ่มพุพองที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ฝี ชันนะตุ และแผลเปิดต่างๆ ผลจากการขาดวิตามินเอ จะทำให้นัยน์ตาแห้ง มีอาการตาบอดตอนกลางคืน การขาดวิตามินสาเหตุอาจมาจากการดูดซึมไขมันบกพร่องเรื้อรัง พบมากในวัยเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ เนื่องจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
คำแนะนำในการรับประทานวิตามินเอ
A โดย 5,000 IU เป็นขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่เพศชาย และ 4,000 IU สำหรับเพศหญิง แต่ในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรหารับประทานเพิ่มอีกเด็ดขาด แต่สำหรับหญิงผู้ให้นมบุตรแล้ว อาจหาอาหารเสริมรับประทานเพิ่มได้ประมาณ 100 IU ในช่วงหกเดือนแรก และเพิ่มอีก 80 IU ในช่วงหกเดือนหลัง
B ทั้งนี้ เบต้าแคโรทีน ยังไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน เพราะยังไม่ได้รับการจัดให้เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเป็นทางการ แต่โดยทั่วไปแล้วเบต้าแคโรทีน 10,000-15,000 IU ถือเป็นขนาดที่เพียงพอและเทียบเท่ากับขนาดที่แนะนำในวิตามินเอ
C วิตามินเอในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่วางขายส่วนมากจะมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรกคือ รูปที่สกัดจากน้ำมันตับปลาตามธรรมชาติและรูปที่กระจายตัวในน้ำ ซึ่งรูปนี้จะเป็นในรูปของแอซิเทตหรือปาล์มมิเทต เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ควรรับประทานน้ำมัน เช่น ผู้ที่เป็นสิวหรือหน้ามันมากๆ ซึ่งขนาดที่แนะนำคือ 5,000-10,000 IU รูปแบบที่สอง กรดวิตามินเอแบบทา (Retin-A) ซึ่งใช้ในการรักษาสิว และการรักษาริ้วรอยเป็นหลัก โดนรูปนี้ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
D รูปแบบของวิตามินเอที่จะแนะนำให้รับประทาน คือ วิตามินในรูปของเบต้าแคโรทีน เพราะไม่มีความเสี่ยงจากการกินสะสมเหมือนวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีนสามารถป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้ ช่วยลดระดับบคอเลสเตอรอลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาว และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย
E การรับประทานวิตามินอี 400 IU จะต้องใช้วิตามินเออย่างน้อย 10,000 IU ควบคู่กัน
F การรับประทานยาคุมกำเนิด จะทำให้ร่างกายมีความต้องการวิตามินเอน้อยลง
G หากรับประทานแครอท ตับ ผักขม มันเทศ แคนตาลูป ในปริมาณมากเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานวิตามินเอจากอาหารเสริมอีก
H ไม่ควรรับประทานวิตามินเอร่วมกับน้ำมันสกัดจากธรรมชาติ
I วิตามินเอจะทำงานร่วมกับ วิตามินบีรวม วิตามินดี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส และ ธาตุสังกะสี ได้ดีที่สุด
J วิตามินเอช่วยป้องกันไม่ให้วิตามินซีถูกออกซิไดซ์
K หากรับประทานยาลดระดับคอเรสเตอรอล ร่างกายจะดูดซึมวิตามินได้น้อยลง และอาจจะหามาต้องรับประทานเสริม
L หญิงมีครรภ์ไม่ควรใช้วิตามินเอในทุกๆกรณี เพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์แรง ซึ่งเด็กทารกในครรภ์อาจพิการได้