ประเพณีไทย ประเพณีงานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

งานบุญประจำปีทางฝั่งธนบุรีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่รู้จักของคนฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวางในสมัยก่อน คือ “งานชักพระวัดนางชี” หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ

วัดนางชีเป็นวัดเก่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยไหน แต่สันนิษฐานได้ว่าเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีได้สร้างร่วมกับพระยาฤาชัยณรงค์ และออกหลวงเสนาสุนทร สาเหตุที่สร้างก็เนื่องมาจากแม่อิ่มลูกสาวของเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีป่วย อย่างไม่รู้สาเหตุ จนกระทั่งมีชีปะขาวมานิมิตเข้าฝันให้เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีแก้บนโดยให้ลูก สาวบวชชี ดังนั้นเมื่อแม่อิ่มหายป่วย เจ้าพระยาพิชัยมนตรีจึงให้ลูกสาวบวชชีพร้อมกับสร้างวัดนี้ วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างในปลายแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (พระราชาธิราชที่ ๒) เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากอยู่ระหว่างทำสงครามกับพม่าก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้ง ที่ ๒ วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ่อค้าสำเภาชื่อพระยาโชฏึกราชเศรษฐี ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีนอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามได้เป็นผู้บูรณะและปฏิสังขรณ์ ขึ้นใหม่ทั้งวัด ได้ดัดแปลงและแก้ไขรูปทรงพระอุโบสถพระวิหารให้เป็นแบบจีน ประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบ และนำตุ๊กตาหินแบบจีนและหินปูทางเดินมาจากเมืองจีนเพื่อมาทำการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดนี้ นอกจากนี้ได้ถวายเครื่องใช้แบบจีนเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเตียงไม้มะเกลือประดับลายหอยมุกและหินอ่อน ซึ่งเป็นของลูกสาวที่เสียชีวิตอยู่บนเตียงนี้เมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี ๑ หลัง เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายวัดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระ อารามหลวง ได้พระนามว่า “วัดนางชีโชติการาม” ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระยาราชานุชิต (จ๋อง) ได้บูรณะและปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้งและถวายเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ปูชนียวัตถุพิเศษที่สำคัญในวัดได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอน อาจจะเพิ่มหรือลดลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี ก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้ประชาชนสรงน้ำ จะมีการตรวจนับจำนวนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทุกครั้ง เมื่อแห่พระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้วก็จะตรวจอีกครั้งหนึ่งก่อนจะนำไป ประดิษฐานเก็บไว้บนกุฎิเจ้าอาวาส พระบรมธาตุนั้นจะมีขนาดเล็กมากคือมีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเมล็ดข้าวสาร หัก เวลาตรวจนับจะต้องใช้แว่นขยายช่วยจึงจะมองเห็นชัด กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาได้เขียนเล่าเกี่ยวกับจำนวนพระธาตุที่เพิ่มขึ้น และลดลงไว้ในหนังสือตำราพระธาตุว่า พระบรมธาตุและพระธาตุนี้ก็เป็นของแปลก ถ้าเป็นพระบรมธาตุก็ว่าเสด็จมาเองบ้าง เสด็จไปเองบ้าง ครั้งหนึ่งประมาณ ๒๐ ปีล่วงแล้ว เขาพูดว่าพระบรมธาตุที่วัดนางชี อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี บางปีก็มี

จำนวนเพิ่มขึ้นบางปีก็มีจำนวนลดลง ที่ว่าไปพิสูจน์นั้น ได้เป็นจริงดังที่เขาว่ากัน ปีแรกที่ไปดูมีจำนวนมาก ครั้งที่สองน้อยลง ครั้งที่สามจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงจำนวนที่ไปดูครั้งแรก สงสัยว่าทางวัดจะเอาออกหรือเพิ่มขึ้นเพื่อลวงว่ามีอภินิหาร ถามเจ้าอาวาสท่านบอกว่าไม่เคยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าอาวาสมาหลายปีแล้วไม่เคยเอาออกมาดูเลย เอาออกมาสรงน้ำปีละครั้งคือวันแห่และตรวจต่อหน้ากรรมการด้วย

พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีมิได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ดังเช่นพระบรมธาตุที่ อื่นแต่บรรจุไว้ในผอบแก้วซึ่งเป็นขวดน้ำหอมจากฝรั่งเศสที่ชาววังใช้น้ำหอม ผสมน้ำอาบกันในสมัยก่อน แล้วประดิษฐานไว้ ณ มณฑปที่จัดทำเป็นพิเศษ ตามประวัติที่เล่ากันต่อ ๆ มากล่าวว่า เมื่อ ประมาณ พ.ศ ๑๒๑๙ คณะพราหมณ์ ๓ ท่าน และชาวจีน ๙ ท่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุผอบทองคำ ๒ ผอบมาโดยเรือสำเภาจากชมพูทวีป เพื่อไปประดิษฐานไว้ที่เมืองปทาคูจาม อาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) และที่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง แต่เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานที่เมืองนครศรีธรรมราช (ในปัจจุบันนี้ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระสถูปเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วได้เดินทางต่อไปจนเรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงที่ตรงบริเวณปากน้ำคลอง ด่านปัจจุบัน (ตามสภาพภูมิศาสตร์ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยทางแถบเมืองธนบุรียังเป็นป่าทึบ และพื้นดินยังไม่งอกออกมามากมายเท่าในปัจจุบัน) คณะพราหมณ์และชาวจีนจึงได้

พร้อมใจกันอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุขึ้นห่างจากที่เรือล่มประมาณ ๕ไมล์ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีก็ตกลงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ ที่นั้น แต่ไม่ทราบว่าได้ประดิษฐานไว้อย่างไร เมื่อนานเข้าผอบทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้ถูกฝังจมดิน พระบรมสารีริกธาตุที่ทูลเชิญเสด็จมาในครั้งนั้นมีด้วยกัน ๕ พระองค์คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ส่วนใหญ่ ส่วนแขน ซี่โครง หัวเข่าและขา ต่อมาในสมัยพระชัยราชา (พระเอก) กษัตริย์องค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๘๒ เป็นปีที่วัดนางชีสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบรมสารีริกธาตุเสด็จขึ้นมาให้ปรากฏแก่แม่ชีอิ่มให้เห็นทั้ง ๕ พระองค์ แม่ชีอิ่มได้ทูลเชิญเสด็จบรรจุไว้ในผอบแก้วและได้ประดิษฐานไว้ ณ วัดนางชีแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา

ช่วงเวลาของประเพณีไทย ประเพณีงานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

จัดขึ้นในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติแล้ว ทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ หรือที่รู้จักกันในสมัยก่อนว่า “งานชักพระ” หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ

ความสำคัญของประเพณีไทย ประเพณีงานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

เป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และยังแตกต่างไปจากงานชักพระทางจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีอันสืบเนื่องมา จากพระพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์เมื่อเสด็จมาจากดาว ดึงษ์แล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธองค์ประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แห่แหนไปสู่ที่ประทับ ซึ่งจัดทำกันในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาโดยอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกที่อยู่บนรถ หรือบนเรือแล้วให้เรือชาวบ้าน หรือคนช่วยกันจับปลายเชือกลากพระไป แต่งานชักพระวัดนางชีเป็นการเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบกแทนแล้วชักแห่ไปทางเรือจากหน้าวัดนางชี ไปตามลำคลองด่าน เลี้ยวซ้ายออกไปตามคลองบางกอกใหญ่ และผ่านมาช่วงปลายของคลองซึ่งเรียกว่าคลอง

ชักพระ (ปัจจุบันนี้คำว่าคลองชักพระยังปรากฎเป็นชื่อของสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณนั้น เช่น ตำบลคลองชักพระ สะพานคลองชักพระ ถนนชักพระ เป็นต้น) แล้วอ้อมไปทะลุคลองบางกอกน้อยล่องขบวนไปตามคลองบางกอกน้อย คาดว่าพอถึงวัดไก่เตี้ยเขตตลิ่งชันประมาณตอนเพลหยุดขบวนและขึ้นเลี้ยงพระที่ นั่น เสร็จแล้วก็ล่องขบวนไปออกปากคลองบางกอกน้อย เลี้ยวขวาเลียบมาตามลำน้ำเจ้าพระยาแล้วมาเข้าคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แล้ววกมาเข้าปากคลองด่านกลับไปยังวัดนางชีตามเดิม การแห่ครั้งนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า “แห่อ้อมเกาะ”

พิธีกรรมของประเพณีไทย ประเพณีงานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

ในสมัยก่อนงานชักพระวัดนางชีเป็นงานเทศกาลประจำที่ครึกครื้นมโหฬารที่สุดใน แถบนั้น ผู้ที่เข้าขบวนแห่จะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม ประณีต เรียบร้อยจะเตรียมซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไว้ตั้งแต่มีงานภูเขาทอง เป็นที่เชื่อกันว่าในปีใดถ้าไม่มีการแห่พระบรมธาตุจะต้องมีอันเป็นไปอันทำ ให้ชาวบ้านแถบนั้นเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางรัฐบาลห้ามไม่ให้มีการแห่แหนหรือจัดงานใดเลย แต่งานแห่พระบรมธาตุก็ยังคงต้องดำเนินไปตามประเพณีโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุในสมัยก่อนจะเป็นขบวนเรือพายช่วยกันชักจูงเรือที่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไป ทางวัดจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้สรงน้ำแต่เช้าตรู่ และจะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากวัดตั้งแต่ ๖.๐๐ น. ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้นำพระบรมสาริริกธาตุมาให้สรงน้ำตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ ของวัน แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงเวลา ๙.๐๐ น. ของวันต่อมา เรือที่มาร่วมขบวนมีจำนวนหลายร้อยลำและมาจากตำบลทั้งใกล้และไกล เรือที่มา

ร่วมขบวนแห่มีหลายแบบ ผู้คนในเรือแต่ละลำก็จะแต่งตัวให้เหมือนกันแล้วแต่จะตกลงกัน บางลำก็แต่งเป็นตัวตลกเช่นใส่หัวล้านทั้งลำ หรือจัดให้มีการเล่นละคร ลิเก เพลง ในเรือเป็นการสนุกสนาน นอกจากนั้นก็มีเรือที่ลากจูงเรือพระบรมธาตุ เรือพวกนี้จะเป็นเรือที่ตกแต่งหัวเรือและท้ายเรือไว้อย่างสวยงาม เช่น เป็นหัวสุครีพ หงส์ เป็นต้น เรือพวกนี้ทางวัดต่าง ๆ จะจัดเตรียมไว้ พอจวนถึงงานชักพระในละแวกนั้นจะไปยืมเรือที่วัดมาเตรียมยาเรือและตกแต่ง เพื่อเข้าขบวนแห่ เรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจะเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ตกแต่งอย่างสวยงาม มีวงปี่พาทย์บรรเลงสมโภชไปในเรือตลอดทาง กาญจนาคพันธุ์ เล่าไว้ว่า กระบวนแห่ชักพระนั้นเป็นเรือยาวอย่างที่เรียกกันว่า “เรือแล่น” …ลงน้ำมันสวยสดงดงามนั่งได้อย่างน้อยก็ ๕-๖ คน พายก็ใช้พายที่เรียกว่า “พายคิ้ว” คือมีลวดลายตลอดกลางใบพาย ทุกลำมีแพรแดงผูกที่หัวเรือ …เรือที่มีคนพาย

แต่งชุดต่าง ๆ แปลก ๆ เหล่านี้มีตั้ง ๒๐๐ ลำ อีกพวกหนึ่งเป็นเรือยาวพวกเรือชะล่า เรือมาด ….เรือพวกนี้คนนั่งอย่างน้อยราว ๒๐ คน……รวมทั้งหมดเห็นจะราวสัก ๕๐ ลำ เรือพวกนี้เข้าใจว่าจะมาจากที่ไกล ๆ …นอกจากนี้ก็เป็นเรือแล่นที่แสดงการเล่นละคร ลิเก ฯลฯ ในเรือด้วยมีราวสัก ๑๐ ลำ (แต่ไม่ใช่แสดงทั้งโรง ลำหนึ่ง ๆ ก็มีเพียง ๒-๓ ตัว) ส่วนเรือพระนั้นเป็นเรือใหญ่ตั้งบุษบกตกแต่งอย่างสวยงามทั้งลำมีเรือจูงอีก พวกหนึ่งราวสัก ๒๐ ลำ ในขณะที่ขบวนแห่เคลื่อนไปนั้น เมื่อถึงสะพานใดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นจากเรือ ให้คนถือเดินข้ามสะพานไปลงเรือทางอีกด้านหนึ่งตลอดทางเมื่อถึงวัดไก่เตี้ยจะ เปิดโอกาสให้คนบริเวณนั้นลงมาสรงน้ำพระบรมธาตุในเรือขณะที่หยุดพักจะมีการละ เล่น การแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน

ระยะต่อมา ได้เปลี่ยนมาใช้เรือยนต์จูงเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การละเล่นที่สนุกสนานก็ยังคงมีอยู่ เรือที่ตามเรือพระบรมธาตุก็ น้อยลง สมัยนี้ใช้เรือยนต์ลากเรือทรง เรือพายน้อยไปเพราะพายไม่ทันเรือพ่วง พายไม่ทันเลยไม่มีความหมาย เรือก็น้อยลงไปโดยลำดับ เพราะการร่าเริงอยู่ที่จับกลุ่มตามเรือทรงพระบรมธาตุไปเรื่อย ๆ ตามกำลังแรงคน เร็วหรือช้าเขาไม่อุทรณ์ร้อนใจ บางทีนึกสนุกขึ้นมาก็ขึ้นมาช่วยกันเอาเรือทรงผูกไว้ตามต้นไม้ ไม่ยอมให้ไปก็มี เมื่อได้สนุกพอแก่ความต้องการที่ปล่อยเรือจูงลากไป

ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่ ที่ยังจัดตกแต่งเรืออย่างแบบเดิม ส่วนเรือที่ตามขบวนก็เปลี่ยนเป็นเรือหางยาวซึ่งมีผู้ที่จะร่วมขบวนต้องเสีย เงินเป็นค่าโดยสารเรือขบวนนั้น ถึงแม้จะไม่มีเรือของชาวบ้านมาร่วมขบวนแห่อย่างเอิกเกริกดังเช่นสมัยก่อน บรรดาชาวบ้านตามริมคลองยังคงมานั่งดูขบวนแห่ตามริมคลองอย่างหนาแน่นพวกที่ อยู่ลึกเข้าไปจะพายเรือมาจอดรถดูขบวนเป็นทิวแถว เมื่อขบวนเรือไปใกล้บริเวณวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน จะเริ่มมีขบวนเรือของพวกชาวบ้านพายมาเข้าร่วมขบวนแห่ ยังมีเรือหลายลำแต่งตัวสวยงาม เป็นแบบเดียวกัน บางลำมีการร้องรำทำเพลง เต้นรำกันไปในเรืออย่างสนุกสนาน พอถึงวัดไก่เตี้ยจะเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนที่ซึ่งทางวัดจัด ไว้เพื่อให้ชาวบ้านแถบนั้นได้สักการบูชา

สาระของประเพณีไทย ประเพณีงานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

ท่านผู้สูงอายุหลายท่านเล่าว่าในสมัยก่อนพระบรมสารีริกธาตุมีปาฎิหารย์ปราก ฎให้เห็นเสมอ เช่นจะเกิดแสงสว่างอย่างประหลาดทั่วท้องฟ้าก่อนที่จะแห่พระบรมสารีริกธาตุ หรือมีลูกไฟดวงใหญ่ปรากฏทางทิศตะวันออก หรือเกิดแสงสว่างอย่างประหลาดในบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น ปาฏิหาริย์เป็นที่เรื่องลือกันและกล่าวขวัญถึงจนทุกวันนี้ก็คือ ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เมื่อครั้งยังใช้เรือลากจูงเรือพระบรมธาตุเล่ากันต่อ ๆ มาว่า เมื่อขบวนแห่กลับมาถึงหน้าวัดอินทาราม (ใต้) เกิดมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบนเรือ ผู้คนต่างตกอกตกใจ หลบหนีกันชุลมุนจนทำให้เรือพระธาตุล่มลง มณฑปพระบรมธาตุและผอบที่บรรจุพระบรมธาตุที่ตั้งอยู่บนบุษบกโค่นหล่นน้ำจมลง กลางคลองตอนเวลาประมาณบ่าย ๒ โมงเศษ ชาวบ้านช่วยกันงมหาก็ไม่พบ ในที่สุดขบวนแห่ต้องกลับวัดนางชีโดยไม่มีพระบรมธาตุไปด้วย เจ้าอาวาสเสียใจมาก เมื่อ

กลับมาถึงวัดทำพิธีอาราธนาพระบรมธาตุให้กลับมาวัดนางชีดังเดิม หลังจากนั้นไม่กี่วันมีชาวบ้านบริเวณวัดอินทาราม (ใต้) เห็นผอบแก้วที่บรรจุพระบรมธาตุตั้งอยู่บนแท่นโคนโพธิ์ จึงได้อัญเชิญมาถวายวัดนางชีดังเดิม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ งานแห่พระบรมสาริริกธาตุได้เปลี่ยนไปจัดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หลังวันลอยกระทง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้มาเป็นประธานในการแห่พระบรมสารีริกธาตุ ขบวนเรือที่ที่เข้าร่วมขบวนแห่ได้ตกแต่งเป็นเรือบุบผาชาติอย่างสวยงาม และกองทัพเรือได้จัดเรือดั่งพร้อมฝีพายมาร่วมขบวนด้วย และจัดเป็นเรืออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ

เอกสารอ้างอิง
กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) เมื่อวานนี้ ตอนเด็กคลองบางหลวง , เล่ม ๒ ก.ท. เรืองศิลป์ ๒๕๒๐

“งานชักพระ”ที่บ้านดอน สยามรัฐ ฉบับวันหยุดสุดสัปดาห์ , ปีที่ ๒๙ ฉ.๙๗๔๒ : ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๑

ดำเนิร เลขกุล “วัดนางชี” สตรีสาร , ปีที่ ๙ ฉ.๒๐๗ : กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐

ตำนานพระอารามหลวง พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์)

ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง ๒๓ เมษายน ๒๕๑๕ นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : อรุณการพิมพ์ ๒๕๑๕

“นครศรีธรรมราช” สยามรัฐ ฉบับวันหยุดสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๙ ฉ ๙๗๗๘ : ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๑.

นางชี, วัด งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ, ประจำปี ๒๕๑๕

งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ, ประจำปี ๒๕๑๘

ประสานอักษรพรรณ, พระ ผู้รวบรวม “ประวัติวัดนางชี” (โดยรับสั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า) แถลงการ

คณะสงฆ์ เล่ม ๑๘ ภาค ๓ มิถุนายน ๒๔๗๓

 

ที่มา ประเพณีไทย ประเพณีงานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี: ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

Related posts
ประเพณีไทย ประเพณีแห่นางแมวขอฝน
ประเพณีไทย ประเพณีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน (ประเพณีเข้ากรรมเมือง)
ประเพณีไทย ประเพณีบุญข้าวหลาม
ประเพณีไทย ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย
ประเพณีไทย ประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือข้าวมธุปายาธ
ประเพณีไทย ประเพณีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ