กระแตไต่ไม้ สมุนไพรไทย

กระแตไต่ไม้ สมุนไพรไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drynaria quercifolia (L.) J.Sm.
วงศ์ : POLYPODIACEAE
ชื่ออื่น : กระแตไต่ไม้ (ภาคกลาง), กระปรอก (จันทบุรี), กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี), กูดขาฮอก เช้าวะนะ พุดองแคะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เดาน์กาโละ (มลายู-ปัตตานี), ใบหูช้าง สไบนาง (กาญจนบุรี), สะโมง (ส่วย-สุรินทร์), หัวว่าว (ประจวบคีรีขันธ์)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-4 ซม. ยาวได้ถึง 1 ม. หรือมากกว่า มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม เกล็ดแคบ กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 1.8 ซม. ปลายเรียวยาว รากสั้นๆ มีรากขนอ่อนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว มีรูปร่างและหน้าที่ต่างกัน 2 แบบ ใบไม่สร้างอับสปอร์เป็นรูปไข่ กว้าง 10-25 ซม. ยาว 15-35 ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบหยักเว้ามนตื้นๆ เข้าหาเส้นกลางใบทั้ง 2 ด้าน ปลายมน ไม่มีก้านใบ ใบชนิดนี้จะมีสีเขียวอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งแต่ยังคงติดอยู่กับต้น ดังนั้นจะเห็นซ้อนกันหลายใบ เป็นที่สะสมของใบไม้แห้งที่ตกลงมา ซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ยให้ต้น ใบสร้างอับสปอร์กว้าง 20-35 ซม. ยาว 0.6-1 ม. รูปคล้ายใบประกอบแบบขนนก ขอบหยักเว้าลึกเข้าหาเส้นกลางใบทั้ง 2 ด้าน แต่ละหยักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบชนิดนี้มีสีเขียวตลอดอายุ เมื่อใบแก่แผ่นใบจะร่วงไป คงเหลือส่วนก้านใบและเส้นกลางใบติดอยู่กับต้น เส้นใบเป็นร่างแห กลุ่มอับสปอร์รูปกลมหรือรูปไข่ เรียงตัวค่อนข้างมีระเบียบ 2 ข้างของเส้นใบที่แบ่งกลางแต่ละแฉก

ส่วนที่ใช้ : ส่วนหัว

สรรพคุณ :

ส่วนหัวของกระแตไต่ไม้
– ปรุงเป็นยาต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะพิการและกระปริกระปรอย
– ขับระดูขาว
– แก้เบาหวาน
– แก้ไตพิการ
– เป็นยาคุมธาตุ
– เป็นยาเบื่อพยาธิ

ใบ – ตำพอกแผล แก้แผลเรื้อรังและแผลพุพอง

วิธีใช้ : ใช้ส่วนหัวของกระแตไต่ไม้ ต้มรับประทาน

สรรพคุณของกระแตไต่ไม้

  1. สมุนไพรไทยกระแตไต่ไม้ เหง้ามีรสจืดเบื่อ สรรพคุณเป็นยาช่วยสมานคุมธาตุ (เหง้า)
  2. ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้เหง้าประมาณ 3-4 เหง้า ผสมกับตำลึงเอื้องเงิน 1 ต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง (เหง้า)
  3. ช่วยให้โลหิตในร่างกายหมุนเวียน ช่วยขยายหลอดเลือด แก้อาการมือเท้าเย็น (เหง้า)
  4. เหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยรักษามะเร็งในปอด และช่วยรักษาปอดพิการ (เหง้า)
  5. สรรพคุณกระแตไต่ไม้ เหง้าช่วยแก้เบาหวาน (เหง้า)
  6. เหง้าใช้ผสมกับหัวยาข้าวเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืด (เหง้า)
  7. ขนจากเหง้า นำมาบดให้ละเอียด แล้วใช้สูบแก้อาการหืด (ขนจากเหง้า)
  8. รากและแก่นนำมาต้มน้ำดื่มและนำมาใช้อาบ มีสรรพคุณช่วยแก้ซาง (ราก,แก่น)
  9. ใบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ใช้ต้มกับน้ำอาบ แก้ไข้สูง (เหง้า)
  10. เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ฝนกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการกระหายน้ำได้ (เหง้า)
  11. เหง้านำมากินสดๆ โดยใช้เนื้อสีขาว ที่เอาขนออกแล้ว นำมาฝานตากแดดแล้วนำมาบด มีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดประดงเลือด (เหง้า)
  12. ช่วยแก้ริดสีดวงจมูก ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาใช้ฝนกับน้ำดื่ม (เหง้า)
  13. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  14. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  15. ใช้เป็นยาเบื่อพยาธิ ขับพยาธิ (เหง้า)
  16. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะปวด หรือกะปริบกะปรอย หรือเป็นขุ่นข้น มีสีเหลืองเข้ม หรือมีเลือด) (เหง้า)
  17. กระแตไต่ไม้ สรรพคุณของเหง้าช่วยแก้นิ่ว (เหง้า)
  18. ช่วยแก้ไตพิการ (อาการเกี่ยวกับโรคทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น สีเหลืองเข้มหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้) (เหง้า)
  19. สรรพคุณสมุนไพรกระแตไต่ไม้ เหง้าช่วยขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)
  20. รากและแก่นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการประจำเดือนไหลไม่หยุดของสตรี (ราก,แก่น)
  21. ใบนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยรักษาอาการไม่สบาย มีอาการอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟในช่วงหลังคลอดบุตร (ใบ)
  22. เหง้านำมาพอกช่วยแก้อาการปวดบวม (เหง้า)
  23. ใบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ต้มกับน้ำอาบช่วยแก้บวม (ใบ)
  24. ใบ้ใชตำพอกแผล ช่วยรักษาแผลเรื้อรังและแผลพุพอง (ใบ)
  25. ช่วยรักษาแผลพุพอง แผลเนื้อร้าย (เหง้า)
  26. ช่วยแก้แผลฝี หนอง (เหง้า)
  27. เหง้านำมาฝนใช้ทาแก้งูสวัด (เหง้า)
  28. ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น หรือใช้เพียงแต่เหง้าอย่างเดียว)
  29. เหง้าใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการปวดเส้น (เหง้า)
  30. ใช้บำบัดอาการป่วยอันเนื่องมาจากกระดูกแตกและเส้นเอ็นฉีกขาด อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว แก้ไขข้ออักเสบ อาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดข้อ โดยใช้ทั้งแบบเดี่ยวและนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ไม่ระบุว่าส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นเหง้า)