วันนี้เรามาพูดถึงผลไม้ ที่ใช้เป็นยาสมุนไพรไทยกันบ้าง และผลไม้สมุนไพรชนิดที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ทุกคนคงรู้จักและเคยทาน ผลไม้ชนิดนี้มีรสชาติที่หอมหวาน และเนื้อในที่ขาวเนียนซึ่งถูกซ่อนเอาไว้ในเปลือกหนาสีแดงอมม่วง พูดลักษณะมาแบบนี้หลายคนคงนึกออกแล้วใช่ไหมคะ จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก “มังคุด” นั่นเอง
ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ขอถามทุกคนก่อนว่าสำหรับมังคุดนั้น เวลาทาน แล้วเปลือกมังคุดที่แกะออกมาล่ะ ทำไงกับมันต่อ หลายคนก็คงจะตอบทันทีว่า ก็ทิ้งสิ จะเก็บไว้ทำไม ทานก็ไม่ได้ !!! ก็ถูกอีก ถูกตรงที่ทานไม่ได้ แต่ถ้าเป็นด้านสมุนไพรไทย แล้วนับว่าน่าเสียดายมากที่จะทิ้งเปลือกมังคุด เพราะส่วนเปลือกเป็นส่วนที่จะใช้เป็นยาสมุนไพรได้มากที่สุด ก่อนที่เราจะพูดถึงต่อไปว่าเปลือกมังคุดเอาไปทำยาสมุนไพรอะไรได้บ้าง เรามารู้จักลักษณะของมังคุดกันก่อนดีกว่าค่ะ
มังคุด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana Linn.
ชื่อโดยทั่วไป มังคุด หรือ mangosteen
ชื่ออื่นๆของมังคุด แมงคุด ,เมงค็อฟ
ลักษณะของมังคุด
– ลำต้น มังคุดเป็นไม้ยืนต้น สูง 10-12 เมตร ลำต้นตรง เปลือกลำต้นภายนอกมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ภายในเปลือกประกอบด้วยท่อน้ำข— ยาง มีน้ำยางสีเหลือง (โดนเสื้อผ้าแล้วซักออกยากมาก)
– ใบ ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม รูปไข่หรือรูปวงรี มีขอบขนาน กว้าง 6-12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร เนื้อใบหนาและค่อนข้างเหนียวคล้ายหนัง หลังใบสีเขียวเข้มลักษณะเป็นมัน ท้องใบจะมีสีอ่อนกว่า
– ดอก ลักษณะดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่โดยจะออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง เป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลืองโดยจะติดอยู่จนเป็นผล(ดังที่เราเห็นกลีบสีเขียว ติดอยู่ที่ผลมังคุดที่วางขาย) กลีบดอกมีสีแดง ลักษณะฉ่ำน้ำ
– ผล ลักษณะผลสด ค่อนข้างกลม เปลือกนอกค่อนข้างแข็ง แก่เต็มที่มีสีม่วงแดง มียางสีเหลือง(แบบเดียวกับลำต้น) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 เซนติเมตร เนื้อในมีสีขาวฉ่ำน้ำ อาจมีเมล็ดอยู่ในเนื้อผลได้ ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของผล จำนวนกลีบของเนื้อจะเท่ากับจำนวนกลีบดอกที่อยู่ด้านล่างของเปลือก
คุณค่าทางโภชนาการ นักโภชนาการได้ศึกษาจนพบว่าในมังคุด 100 กรัม ให้พลังงาน 76 แคลอรี โปรตีน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรท 18.4 กรัม ใยอาหาร 1.7 กรัม แคลเซียม 11 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 17 มิลลิกรัม เหล็ก 0.9 มิลิลกรัม วิตามินบี1 0.09 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.06 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.01 มิลลิกรัม นับว่าเป็นผลไม้ที่ให้คุณค่ามากทีเดียว
สรรพคุณด้านสมุนไพรไทยจากมังคุด
ในที่สุดก็ถึงหัวข้อหลักของบทความนี้ ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าสรรพคุณด้านสมุนไพรของมังคุด จะอยู่ที่เปลือกมาดูกันว่าเปลือก
มังคุดมีสรรพคุณอะไรบ้าง
– รักษาโรคท้องเสียเรื้อรัง และโรคลำไส้ โดยมีสูตรยาสมุนไพรคือ ใช้เปลือกมังคุดครึ่งผล (ประมาณ 4-5 กรัม) ต้มกับน้ำรับประทานครั้งละ 1 แก้ว
– รักษาอาการท้องเดิน ท้องร่วง โดยมีสูตรยาสมุนไพรคือ ใช้เปลือกมังคุ ต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนกับน้ำรับประทาน ดดยมีขนาดรับประทานอยู่ที่ เด็กให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชาทุก 4 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะทุก 4 ชั่วโมง
– รักษาแผลน้ำกัดเท้า แผลพุพอง (ปีนี้ไหนน้ำท่วมอีก คงได้ใช้สูตรนี้ แต่ยังไงขอให้ไม่ท่วมจะดีกว่า) สูตรสมุนไพรนี้จะใช้เปลือกผลสดหรือแห้ง ฝนกับน้ำปูนใสให้ข้นๆ พอสมควร ทาแผลน้ำกัดเท้า แผลพุพอง วันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย (ก่อนที่จะทา ควรล้างเท้าฟอกสบู่ให้สะอาด ถ้ามีแอลกลอฮอร์เช็ดแผลควรเช็ดก่อน) สาเหตุที่เปลือกของมังคุดสามรถรักษาแผลได้เพราะในเปลือก มีสาร คือแทนนิน (tannin) ทำให้แผลหายเร็ว ช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้ดี
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก thai wikipedia หนังสือ สมุนไพรก้นครัว และไทยสมุนไพร.net
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.mfa.go.th/