ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton stellatopilosus Ohba
ชื่อพ้อง : Croton sublyratus Kurz
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : เปล้าท่าโพ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้น สูง 1 – 4 เมตร ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปใบหอกกลับ กว้าง 4 – 6 ซม. ยาว 10 – 15 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง และที่ปลายกิ่ง ดอกช่อย่อยขนาดเล็ก แยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน กลีบดอกสีนวล ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู
สรรพคุณของเปล้าน้อย
- เปล้าน้อย สรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ,เปลือก)
- ช่วยแก้เลือดร้อน (เปลือกและกระพี้)
- ช่วยรักษาอาการไอ (ใบ,แก่น,ดอก,เปลือก)
- สรรพคุณเปล้าน้อย ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ใบ,ราก)
- ช่วยขับเสมหะ (ใบ,แก่น,ดอก,เปลือก)
- ช่วยกระจายลม (แก่น)
- รากมีรสร้อน สรรพคุณช่วยแก้ลมขึ้นเบื้องบนให้หายเป็นปกติ (ราก)
- เปลือกต้นมีรสร้อน ช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกต้น,กระพี้)
- ช่วยรักษาโรคท้องเสีย (เปลือกและใบ)
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มขณะอุ่น ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (ราก, ใบ)
- ใบ ใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีสาร “เปลาโนทอล” (Plaunotol) ที่มีฤทธิ์ลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะน้อยลง และทำให้ระบบป้องกันการดูดซับกรดของเนื้อเยื่อบุกระเพาะที่ถูกทำลายจากสาร บางชนิด ให้กลับคืนปกติ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุในลำไส้ที่เสียไป ทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้นขึ้น และมีฤทธิ์ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ได้เป็นอย่างดี โดยสารชนิดนี้ควรใช้ครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ จะทำให้อาการดีขึ้นถึง 80-90% แต่อาจมีอาการค้างเขียงบ้าง แต่ก็น้อยรายนัก และมีความเป็นพิษต่ำ คือ อาจมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง แน่นท้อง ท้องผูก มีผื่นขึ้น เป็นต้น โดยสาร Plaunotol จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี แต่ส่วนใหญ่จะถูก Oxidise ในตับ และจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและทางอุจจาระ ซึ่งผลจากการทดสอบฤทธิ์ของเปลาโทนอลในคนไข้โรคกระเพาะที่มีแผลในกระเพาะ อาหาร (ผลขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ได้ผลว่า คนไข้จำนวน 8 ใน 10 คน หลังได้รับยาเปลาโนทอลเข้าไป แผลในกระเพาะอาหารจะหายสนิทภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ (ใบ)
- ช่วยขับผายลม (ราก)
- เปล้าน้อย สรรพคุณทางยาใช้เป็นยาขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ (ดอก) ช่วยแก้พยาธิต่างๆ (ใบ,ราก)
- ช่วยขับไส้เดือน (แก่น)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ,ราก)
- ช่วยบำรุงโลหิตประจำเดือนของสตรี (ใบ,เปลือกและใบ)
- ลูกใช้ดองสุรากินเป็นยาขับโลหิตระดูในเรือนไฟ (เข้าใจว่าเป็นผล)
- ช่วยขับโลหิต (แก่น)
- ช่วยรักษาแผล สมานแผล (ใบ,แก่น,ดอก,เปลือก)
- ช่วยแก้โรคน้ำเหลืองเสีย (ผล)
- ผลมีรสร้อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับหนองให้กระจาย (ผล)
- ช่วยขับเลือดหนองให้ตก (แก่น)
- ช่วยแก้อาการคันตามตัว (ใบ,ราก)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน (ใบ,ราก,เปลือกและใบ)
- ช่วยรักษามะเร็งเพลิง (ใบ,ราก)[2]
- แก่นมีรสร้อน มีสรพคุณช่วยแก้อาการช้ำใน (แก่น)
ประโยชน์ของเปล้าน้อย
- ใบ เปล้าน้อยสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ด้วยการทานร่วมกับน้ำพริก หรือจะใช้ใบสดนำมาขงเป็นชาสมุนไพรดื่มก็ได้เช่นกัน แต่ยังมีข้อจำกัดก็คือ ใบเปล้าน้อยมีรสขมมาก อีกทั้งปริมาณของสารเปลาโนทอลก็มีอยู่ค่อนข้างต่ำ จึงใช้รับประทานครั้งละมากๆ ไม่ได้ และไม่เพียงพอต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเฉียบพลัน เหมือนกับการใช้ยาเปลาโนทอลแบบสำเร็จรูป แต่ทั้งนี้สามารถใช้รับประทานเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพระยะยาวได้ เนื่องจากจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง ลดอาการกำเริบของโรค ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น[4]
- สมุนไพรเปล้าน้อย ใบและรากใช้สามารถนำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะได้ โดยใบเปล้าน้อยสามารถนำไปสกัดเป็นยา “เปลาโนทอล” (Plaunotol) หรือยารักษาโรคกระเพาะ โดยจะเริ่มเก็บใบได้เมื่อต้นมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งในหนึ่งปีจะสามารถเก็บผลผลิตจากต้นเดิมได้แค่ 3 ครั้ง ถ้ามีการบำรุงดูแลที่ดี สำหรับวิธีการเก็บก็คือการตัดช่อใบจากส่วนยอดของแต่ละกิ่ง โดยนับจากปลายยอดลงมาไม่เกินใบที่ 10 หรือยาวไม่เกิน 6 นิ้ว เมื่อเก็บใบมาได้ก็นำมาผึ่งในร่มจนแห้ง แล้วนำไปบรรจุในภาชนะส่งโรงงาน เพื่อใช้ผลิตเป็นยาเปลาโนทอลในรูปเม็ดสำเร็จ แบบซอง หรือแบบแคปซูลซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่าย[2],[4],[5]
วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบ หรือรากสด ตำให้ละเอียด ใช้น้ำคั้นที่ออกมาทาบริเวณที่เป็น
หมายเหตุ : สารเปลาโนทอลมีอยู่เกือบทุกส่วนของต้นเปล้าน้อย แต่มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยส่วนที่มีสารเปลาโนทอลสูงสุดคือส่วนของใบที่อยู่บริเวณปลายช่อที่ได้รับ แสงแดด และใบที่แก่จะมีสารเปลาโนทอลน้อยกว่าใบอ่อน ดังนั้น ถ้าจะเก็บมาใช้เองก็ควรเด็ดเอาเฉพาะใบอ่อนที่อยู่ปลายยอดในช่วงความยาว ประมาณ 5-6 นิ้วเท่านั้น และไม่ต้องเอาก้าน