กระดังงาไทย สมุนไพรไทย พร้อมสรรพคุณและประโยชน์

กระดังงาไทย สมุนไพรไทย
กระดังงาไทย สมุนไพรไทย พร้อมสรรพคุณและประโยชน์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata Hook.f. & Thomson var. odorata
ชื่อสามัญ : Ylang-ylang Tree
วงศ์ : ANNONACEAE
ชื่ออื่น : กระดังงา, กระดังงาใบใหญ่ , กระดังงาใหญ่, สะบันงา, สะบันงาต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-20 ม. มีรอยแผลใบขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป กิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายย้อยลู่ลง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ยาว ปลายแหลม โคนมนหรือเว้าและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบอ่อนมีขนทั้ง 2 ด้าน ใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบ ช่อดอกสั้น ออกห้อยรวมกันบนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อหนึ่งๆ มี 3-6 ดอก ดอกใหญ่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม มีขน กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แต่ละกลีบรูปขอบขนานปลายแหลม มีขน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบชั้นในแคบกว่าชั้นนอกเล็กน้อย โคนกลีบด้านในสีม่วงอมน้ำตาล ดอกอ่อนกลีบสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม 4-15 ผล แต่ละผลรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเขียวคล้ำจนเกือบดำ มี 2-12 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่แบน

สรรพคุณกระดังงาไทย :

ดอกแก่จัด – ใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน ชูกำลังทำให้ชุ่มชื่น ให้น้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ ทำน้ำหอม ใช้ปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ

ใบ, เนื้อไม้ – ต้มรับประทาน เป็นยาขับปัสสาวะพิการ

สรรพคุณของกระดังงา

  1. กระดังงา สรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ดอก)
  2. กระดังงาไทยสรรพคุณช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ทำให้ชุ่มชื่น (ดอก)
  3. สรรพคุณกระดังงา ดอกช่วยบำรุงโลหิต (ดอก)
  4. สรรพคุณกระดังงา ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
  5. ช่วยแก้อาการไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ (ดอก)
  6. ดอกใช้ปรุงเป็นยาหอม ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้ (ดอก)
  7. ช่วยบำรุงประสาทและช่วยสงบประสาท (น้ำมันหอมระเหย)
  8. ช่วยแก้อาการซึมเศร้า กระวนกระวายใจ (น้ำมันหอมระเหย)
  9. ช่วยลดความดันโลหิตได้ (น้ำมันหอมระเหย)
  10. ช่วยแก้หอบหืดได้ (น้ำมันหอมระเหย)
  11. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)
  12. ช่วยขับลม (น้ำมันหอมระเหย)
  13. เปลือกต้นรสเฝื่อนใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกต้น,เนื้อไม้,น้ำมันหอมระเหย)
  14. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการได้ (เปลือกต้น,เนื้อไม้)
  15. ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคได้ (น้ำมันหอมระเหย)
  16. ดอกกระดังงาจัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเกสรทั้ง 7 (สัตตะเกสร)” และ “พิกัดเกสรทั้ง 9 (เนาวเกสร)”
  17. ดอก กระดังงามีปรากฏในตำรายาแผนโบราณ ชื่อคัมภีร์มหาโชติรัตน์ ยาชื่อมาลาสันนิบาต ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ลมจุกคอ แก้อาการแน่นหน้าอก แก้จุกเสียกและแก้สะอึก (ดอก)

ประโยชน์ของกระดังงา

  1. คนไทยโบราณมีการใช้ดอกกระดังงามาทอดกับน้ำมันมะพร้าวเพื่อใช้ทำเป็นน้ำมันใส่ผมได้ (ดอก)
  2. น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากดอก หรือ Cananga oil หรือ Ylang-ylang oil ถูกนำมาใช้ในทางยาเป็น Aromatherapy (น้ำมันหอมระเหย)
  3. น้ำมันหอมใช้ปรุงเป็นน้ำหอม หรือนำไปปรุงขนมและอาหารได้ (น้ำมันหอม)
  4. มีการใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกมาผลิตเป็นเครื่องสำอาง หรือทำเป็นเครื่องหอมต่างๆ (น้ำมันหอมระเหย)
  5. ประโยชน์กระดังงาไทย เปลือกสามารถนำมาทำเป็นเชือกได้ (เปลือก)

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิธีใช้ :

ใช้ดอกกลั่น ได้น้ำมันหอมระเหย

การแต่งกลิ่นอาหาร ทำได้โดยนำดอกที่แก่จัด ลมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิ หรือปรุงอาหารอื่นๆ

สารเคมี : ใน ylang -ylang oil มีสารสำคัญคือ linalool , benzyl benzoate p-totyl methylether, methylether, benzyl acetate