SQ คืออะไร ? ความฉลาดทางสังคมที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น

SQ คืออะไร หมายความว่าอะไร ทำความรู้จักให้มากขึ้น

ทุกวันนี้ การเข้าสังคมคือสิ่งที่สำคัญมาก และการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากพอสมควร เพราะทุกคนเติบโตมาจากสิ่งแวดล้อม และ การปลูกฝังจากครอบครัวที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละบุคคล ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีพฤติกรรม การตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การที่เราได้ศึกษาและวางพื้นฐานความฉลาดในทุกด้าน  ตั้งแต่วัยเด็ก จะทำให้บุคคลนั้นปรับตัวให้ เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดี พร้อมทั้งยังสามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ว่า สิ่งไหนดีควรทำ หรือสิ่งไหนไม่ดีและไม่ควรทำเป็นต้น

บางคนมองว่า ความฉลาดที่จะอยู่ในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีการปรับพัฒนาเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้สังคมของยุคปัจจุบันนี้ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิต เข้าสังคม การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การอยู่ในสังคมอย่างชาญฉลาด ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริม หรือพัฒนา ความฉลาดของเด็ก เพื่อที่จะให้เด็กสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ ไม่ควรมองข้าม ทั้งความฉลาดทางด้านสติปัญญา IQ (Intelligence Quotient) , ความฉลาดทางด้านอารมณ์ EQ (Emotional Quotient) และ SQ (Social Quotient) ความฉลาดในการเข้าสังคม เป็นต้น อีกทั้งสิ่งที่เราไม่คุ้นตา และหลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อนอย่าง  “SQ “ คืออะไร สำคัญมากน้อยเพียงใด มาทำความรู้จักกับ SQ (Social Quotient) ให้มากขึ้นไปพร้อมกันเลย

SQ คืออะไร หมายความว่าอย่างไร ?

SQ ย่อมาจาก Social Quotient หรือ “ความฉลาดทางสังคม”เป็นทักษะที่ต้องมีสำหรับการใช้ชีวิต อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่ายุคสมัย มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การปรับตัวให้เป็น ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และแน่นอนว่า เราจะต้องมีความฉลาด ที่จะสามารถปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รวมถึงปรับให้เข้ากับผู้คนในสังคมได้หลากหลาย ด้วย

หากใครที่สามารถ ปรับตัวได้เร็ว ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างราบรื่น และ พร้อมที่จะใช้ชีวิตให้เข้ากับยุคสมัยใหม่อยู่เสมอ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มี SQ จะได้เปรียบกว่าเด็กที่มีระดับปกติทั่วไป เพราะเราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญ ได้อย่างชาญฉลาด นับว่า SQ จัดเป็นการวัดมาตรฐานที่ได้รับการ ยอมรับจากทั่วโลก ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิต เมื่อวัดระดับทักษะในด้านนี้ และมีการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติม ทำให้มีโอกาสก้าวหน้า และประสบความสำเร็จสูงขึ้นนั่นเอง

 

ลักษณะของผู้ที่มี SQ หรือ Social Quotient เป็นอย่างไรบ้าง

เชื่อว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ รวมถึงตัวของคุณเอง คงไม่เคยสังเกตทักษะในด้านนี้ของตนเองสักเท่าไหร่ มาลองสังเกตดูว่า เราเข้ากับลักษณะของผู้ที่มี SQ หรือไม่ เพื่อให้เราปรับเปลี่ยน พัฒนาทักษะความสามารถุในด้านนี้ และเริ่มสร้าง SQ ให้กับตัวเอง เพื่อที่จะให้เราสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างฉลาด โดยลักษณะของผู้ที่มีทักษะในด้านนี้สูง ตามด้านล่างนี้

  • คนผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีทัศนคติในเชิงบวก (Positive) – คือ มีความคิด การกระทำ หรือ การตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ได้อย่างดี ถือเป็นเป็นคนมองโลกในแง่ดี
  • คนผู้นั้นเป็นคนที่สามารถ เข้าใจตัวเอง และผู้อื่นได้ – ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความคิด อารมณ์ การแสดงออก และความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับตนเอง เมื่อเราสามารถเข้าใจคนอื่นได้แล้ว จะทำให้การปฏิบัติตัวต่อกันในสังคม ราบรื่นมากขึ้น ลดการกระทบกระเทียบ ลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์
  • ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยที่ไม่มีปัญหา – การอยู่กับผู้คนในการใช้ชีวิตจริง จะต้องมีการติดต่อ ประสานงาน หรือร่วมงานกับบุคคลอื่นหลายต่อหลายคน หากไม่มีทักษะการทำงานเป็นทีม จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะเราจะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานน่วมกับคนแปลกหน้า มันเริ่มตั้งแต่เข้าเรียนอนุบาล ไปจนถึงตอนจบระดับมหาวิทยาลัย และต่อเนื่องสู่การทำงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น
  • คนผู้นั้นจะต้องคำนึงถึงผู้อื่น – เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ควรมี เนื่องจากการคำนึงถึงผู้อื่นนั้น สามารถลดการขัดแย้งในระหว่างบุคคลได้ ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีลักษณะ การอยู่อาศัยพึ่งพา และอยู่ในสังคมเดียวกัน จำเป็นจะต้องเห็นอกเห็นใจกัน อย่างคำพังเพยที่ว่า “ใจเขาใจเรา”
  • เป็นคนมีวินัย – สามารถทำตาม กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่มีความหลากหลายได้ กฎเกณฑ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มันเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนยึดมั่นอยู่ในระเบียบ เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการใช้ชีวิต ลดการขัดแย้ง ความรุนแรงบนสังคม ที่มีผู้คนร้อยพ่อ พันแม่ดำรงชีวิตปะปนกันทั่วไป
  • เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ในเชิงบวก – จะต้องเป็นผู้ที่เปิดใจ ยอมรับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามา หรือ มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ
  • รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง – จะต้องทราบว่า เราอยู่ในสถานะหรือ อาชีพใด ต้องปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เช่น เป็นนักเรียน มีบทบาทหน้าที่เรียนหนังสือ ตามหลักเกณฑ์ , มีอาชีพเป็นหมอ บทบาทหน้าที่ คือต้องรักษาคนไข้ ไม่ว่าจะอยู่ใน หรือ นอกโรงพยาบาล เป็นต้น
  • สร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี – ปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อ่อนน้อม ถ่อมตน ทั้งในความคิด การพูดจา และ การแสดงออกต่าง ๆ
  • เป็นผู้ที่แสดงออกทางสีหน้า แววตาที่ดี – ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะตามความเหมาะสม รู้จักวางตัว กาลเทศะ เช่นนี้จะมีผู้คนในสังคมให้การยอมรับ และสนใจที่อยากจะมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมด้วยนั่นเอง

วิธีการเริ่มต้นสร้าง SQ ให้กับตนเอง และคนในครอบครัว

แน่นอนว่า คนในครอบครัวย่อมมีความประสงค์ ที่จะให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัว เป็นผู้มี SQ ที่ดี เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นที่จะสร้าง SQ ขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับการปลูกฝัง และ การเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว ซึ่งอาจจะมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป แต่เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างทักษะในด้านสังคมที่ดี ให้กับคนในครอบครัวควรเริ่มต้นตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ทางด้าน อารมณ์ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติตัว  และความฉลาดในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดี  ซึ่งวิธีที่จะเริ่มสร้าง SQ ในวัยเด็ก สามารถทำได้ดังนี้

  • ช่วงวัยแรกเกิด ถึง 6 เดือน
    ในการส่งเสริมทักษะความฉลาดในสังคม สามารถเริ่มสร้างได้ ตังแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก โดยในช่วงแรกเริ่ม เด็กทารกจะยังไม่สามารถจัดการ กับอารมณ์ของตัวเองได้ ดังนั้น ผู้ดูแลจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยการพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้มากที่สุด ไม่ปล่อยให้ต้องอยู่คนเดียว หรือร้องไห้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อจิตใจเมื่อโตขึ้นได้
  • ช่วงวัย 6 เดือน ถึง 12 เดือน
    เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ และแสดงออกมาตามที่ตัวเองรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นการ ยิ้มโดยไร้สาเหตุ หรือ หัวเราะออกมาได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น และวัยนี้ ยังเป็นวัยที่เริ่มหยิบจับสิ่งของ หากมีการยื่นของให้ เราจะต้องสอนให้รอ หรือ ขอบคุณ เมื่อได้รับของนั่นเอง
  • ช่วงวัย 1 ขวบ ถึง 3 ขวบ
    วัยนี้เป็นวัยกำลังเรียนรู้ ควรพาเด็กออกไปเจอสังคมภายนอก เช่น ผู้คนระแวกบ้าน สัตว์ รวมถึงเด็กในวัยเดียวกันให้เด็กได้รู้จักทักทายผู้อื่น เช่น “สวัสดี” เล่นกับเพื่อนคนอื่นที่มาจากต่างครอบครัว แบ่งปันขนม หรือ แบ่งปันของเล่นเด็กที่ตนเองมีอยู่ ให้กับผู้อื่น ฝึกให้เด็กได้เรียนรู้การเข้าสังคมเพิ่มขึ้น
  • ช่วงวัย 3 ขวบ ถึง 5 ขวบ
    สำหรับวัยนี้ จะได้สัมผัสกับสังคมอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังเริ่มเข้าเรียน ได้เจอสังคมใหม่ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ที่จะต้องพบเจอกันทุกวัน  เป็นวัยที่กำลังเรียนแบบสิ่งที่ได้พบเห็น และ ชอบจดจำสิ่งรอบตัวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบวินัยในโรงเรียน ก็จะจำมาทำที่บ้านด้วย เช่น การถอดรองเท้าเป็นระเบียบ การแปรงฟันหลังเวลาอาหารกลางวัน การปูที่นอนในช่วงบ่าย และกินอาหารเสร็จแล้ว เก็บอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ปกครองจะเห็นพฤติกรรมแปลกใหม่ของเด็ก ดังนั้น จะต้องค่อยเป็นค่อยไป พยายามฝึกและเน้นตัวกระตุ้นการพัฒนา SQ เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เราควรมีวีธีการที่หลากหลายไม่จำเจ ที่จะนำมาสอนเด็กน้อยเหล่านี้  ให้มีทักษะในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อถึงวัยที่ต้องเผชิญสังคมด้วยตนเอง ผู้ปกครองจะได้หายห่วง และมั่นใจถึงศักยภาพในการใช้ชีวิต เราจะแนะนำ 5 วิธีสอนให้เด็ก มี SQ ตามด้านล่างนี้

 

5 วิธีเสริมสร้าง SQ ให้เด็กเล็ก 

  1. ให้เด็กได้เข้าสังคมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน -ได้มีโอกาสเล่นสนุก ตามวัยที่กำลังเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ระแวกบ้าน โรงเรียน หรือ กับญาติ ให้เด็กได้ฝึกพูดคุยกับวัยเดียวกัน และ วัยที่โตกว่า เพราะแต่ละช่วงวัยจะมีบทบาทต่างกัน เด็กน้อยจะสามารถฝึกและเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอดได้
  2. เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับคนในครอบครัว – ไม่ว่าจะเป็นการ ชวนทำงานบ้าน กรอกน้ำเข้าตู้เย็น เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ หรือ ชวนเด็กไปจ่ายตลาดกับครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ ความรู้รอบตัว และมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เด็กรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น
  3. ฝึกให้รู้จักพูด สวัสดี/ขอบคุณ/ขอโทษ – โดยทั้ง 3 คำนี้เป็นสิ่งพื้นฐาน ที่ครอบครัวสามารถสอนเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดก่อนไปโรงเรียน หรือเจอหน้าผู้ใหญ่ต้องสวัสดี , รับของจากผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ต้องพูดคำว่า ขอบคุณเสมอ , และเมื่อทำผิด ต้องรู้จักขอโทษ แม้ว่าตนเองจะทำผิดเพียงเล็กน้อยก็ตาม
  4. ต้องมีคำชื่นชม – หากเด็กสามารถทำงาน หรือ กิจกรรมบางอย่างได้สำเร็จด้วยความภูมิใจ ควรชื่นชม หรือ หากผิดพลาด ควรให้กำลังใจ เพราะในสังคมที่จริง เมื่อได้ร่วมงานกับผู้อื่น เมื่อเพื่อนทำดี จะทำให้เราสามารถชื่นชมผู้อื่นได้ตามความเหมาะสม และสามารถชื่นชมออกมาได้อย่างใจจริง
  5. รู้จักแบ่งปัน – สอนให้เด็กรู้จักแบ่งปัน แบบไม่หวังผลตอบแทน เพราะเด็กเล็ก อาจจะหวงของเล่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน ดังนั้น หากสอนให้รู้จักแบ่งปันผู้อื่น ก็จะทำในอนาคตข้างหน้า เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจดีโอบอ้อมอารีย์ มีความคิดที่ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ด้วยใจจริง

 

สุดท้าย การสร้าง SQ หรือ ความฉลาดทางสังคม สามารถเริ่มต้นการสร้างได้ในครอบครัวของตนเอง และการอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมอาจจะเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อได้รับการปลูกฝัง หรือ ฝึกฝนพัฒนาความฉลาดทางสังคม จะทำให้เหล่าเด็กเล็กทั้งหลายได้มีการเรียนรู้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะสามารถเอาตัวรอด และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขได้ในที่สุด