จังหวัดชัยนาท

ชัยนาท แปลตามศัพท์มีความหมายว่า ชัยชนะที่มีเสียงบันลือ เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตัวเมืองเดิมอยู่บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองแพรกศรีราชา ใต้ปากน้ำเก่า สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยพญาเลอไทครองกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ.ศ. 1860-1879 เมืองๆ นี้จึงได้ชื่อว่า เมืองแพรก หรือเมืองสรรค์ มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ เมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง เมืองแพรกได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เกิดชุมชนใหม่ไม่ไกลจากเมืองสรรค์ มีเจ้าสามพระยาเป็นผู้ครองเมือง ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้เป็นเมืองใหญ่ มีชื่อว่า ชัยนาท ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายตัวเมืองจากบริเวณแหลมยางมาตั้งตรงฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเมืองสรรค์นั้นเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะผู้คนอพยพมาอยู่ที่ชัยนาทเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดก็กลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของชัยนาทเท่านั้น ชัยนาทเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยใช้เป็นที่ตั้งทัพรับศึกพม่าหลายครั้ง และมีชัยทุกครั้งไป จึงเป็นที่มาของชื่อ เมืองชัยนาทแห่งนี้

ชัยนาท มีเนื้อที่ประมาณ 2,469.74 ตารางกิโลเมตร

หน่วยการปกครอง
การปกครองแบ่งออกเป็น 6 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหันคา อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรคบุรี อำเภอสรรพยา อำเภอวัดสิงห์ และกิ่งอำเภอหนองมะโมง

คำขวัญประจำจังหวัด
หลวงปู่ศุขลือชา เขื่อนเจ้าพระยาลือชื่อ นามระบือสวนนก ส้มโอดกขาวแตงกวา

ตราประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัดชัยนาท
รูปธรรมจักรกับภูเขา หมายถึงหลวงพ่อธรรมจักร ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วิหารบนไหล่เขาธรรมามูล ชาวเมืองเคารพนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ ว่าจะบันดาลความร่มเย็นเป็นสุข และอุดมสมบูรณ์ให้แก่ตน

ต้นไม้ประจำจังหวัด
มะตูม

ดอกไม้ประจำจังหวัด
ชัยพฤกษ์

ผลไม้ประจำจังหวัด
ส้มโอขาวแตงกวา

สถานที่สำคัญ
แหล่งท่องเที่ยว
สวนนกชัยนาท สวนลิง เขื่อนชัยนาท วัดปากคลองมะขามเฒ่า วัดพระบรมธาตุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี