ประเทศมาเลเซีย

ประเทศมาเลเซีย ข้อมูลประเทศมาเลเซีย

ประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ 2 ส่วน คือ 11 รัฐบนแหลมมลายู และอีก 2 รัฐบนเกาะบอร์เนียว คือ ซาราวักและ ซาบาห์ ซึ่งรวมเข้ากับประเทศมาลาเซียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ดังนั้นประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย จึงกล่าวถึงเฉพาะพื้นที่บนแหลมมลายูเท่านั้น ในอดีตเส้นทางเดินเรือจากยุโรปสู่เปอร์เซียมายังตะวันออกจำเป็นต้องผ่านช่องแคบระหว่างแหลมมลายูและเกาะสุมาตราเพื่อเป็นการย่นระยะทางทำให้ดินแดนทางทิศตะวันตกของแหลมมลายูได้รับการพัฒนาเป็นเมืองท่า คือ เมืองท่ามะละกา จนเป็นที่มาของชื่อ “ช่องแคบมะละกา” ความเจริญนี้นำมาซึ่งการต้องการครอบเมืองท่าที่เป็นจุดสำคัญของเส้นทางเดินเรือ เป็นเหตุให้มะละกาตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกถึงสามชาติ เริ่มจาก โปรตุเกส ฮอลันดา จนถึงอังกฤษ ซึ่งการตกเป็นอาณานิคมนี้ไม่ได้ถูกครอบครองเฉพาะพื้นที่ในส่วนของมะละกาแต่รวมไปถึงพื้นที่ทั้งหมดของแหลมมลายู เมืองปะลิส เกดะห์ (หรือไทรบุรี รวมทั้งเกาะหมากหรือปีนัง) กลันตัน และตรังกานู จนกระทั่งปี พ.ศ. 2491 กองทหารป่าภายใต้การนำของตนกูอับดุล เราะห์มาน ลุกขึ้นต่อต้านการปกครองของอังกฤษจนนำมาซึ่งเอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นวันชาติมาเลเซีย แต่ประเทศมาเลเซียได้ถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ. 2506 เมื่อมีการผนวกรัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์ และเกาะสิงคโปร์ (ภายหลังจากนั้น 2 ปี สิงค์โปร์ได้แยกตัวออกมาเป็นอีกประเทศหนึ่ง) โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Federation of Malaysia หรื สหพันธรัฐมาเลเซีย

ภูมิประเทศและการปกครอง
• ภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ แหลมมลายูกับพื้นที่บริเวณส่วนเหนือของเกาะบอร์เนียว รวมพื้นที่ 329,758 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้นเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบไม่มากนัก
• การปกครองแบ่งเป็น 13 รัฐ อยู่บนแหลมมลายู 11 รัฐ ประกอบด้วย รัฐปะลิส (Perlis) รัฐเกดะห์ (Kedah) รัฐปีนัง (Penang) รัฐเประ (Perak) รัฐกลันตัน (Kelantan) รัฐตรังกานู (Trengganu) รัฐสลังงอร์ (Selangor) รัฐเนกรีเซมบิลัน (Negeri Sembilan) รัฐมะละกา (Melaka) รัฐปะหัง (Pahang) และรัฐยะโฮร์ (Jahor) ส่วนอีก 2 รัฐ คือ รัฐซาราวัก (Sarawak) และรัฐซาบาห์ (Sabah) ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว มีกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) เป็นเมืองหลวง และปุตราจายา (Putrajaya) เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ โดยทั้งสองเมืองนี้ตั้งอยู่บนรัฐสลังงอร์
• ประเทศมาเลเซียนี้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมี ยัง ดี เปอร์ตวน อากง (Yang di Pertaun Agong) หรืพระราชาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ มาจากการเวียนกันของสลุต่านจากรัฐต่าง ๆ ทุก ๆ 5 ปี และมีนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ประชากรและศาสนา
• ประชากรในมาเลเซียมีหลากหลายเชื้อชาติโดยส่วนใหญ่ของประเทศคือ ชนเชื้อสายมาเลย์ รองลงมาคือ จีน และอินเดีย นอกจากนั้นคือชนพื้นเมือง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นศาสนาประจำชาติ รองลงมาคือศาสนาพุทธนิกายมหายาน นอกจากนี้คือ ศาสนาฮินดู และคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

สภาพภูมิอากาศ
• เนื่องจากตั้งอยู่เกือบถึงเส้นศูนย์สูตร สภาพภูมิอากาศจึงเป็นแบบเขตร้อน อีกทั้งอยู่บนคาบสมุทร ทำให้ได้รับอิทธิพลของลมมรสุม ฝนตกชุกเกือบตลอดปีโดยเฉพาะช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม และตุลาคมถึงพฤศจิกายน ส่วนฝั่งตะวันออกของประเทศจะได้รับอิทธิพลของลมมรสุมมากกว่าทำให้ฝนตกนานจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลงานประเพณี
• มกราคม
• การแข่งเรือนานาชาติ จัดขึ้นที่ Royal Lankawi Yatch Club เกาะลังกาวี
• เทศกาลโคมไฟ จัดขึ้นบนถนนยองเกอร์ในเมืองมะละกา ซึ่งตามบ้านเรือนแหละเหล่าโบราณสถานจะประดับโคมไฟอย่างสวยงาม อีกทั้งถนนสายนี้ยังเป็นถนนคนเดินเต็มไปด้วยร้านอาหารและศิลปวัฒนธรรม
• เทศกาลไทปูซัม เป็นเทศกาลใหญ่ของศาสนาฮินดู จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม (บางปีอาจอยู่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์) ที่ถ้ำบาตู เพื่อเทิดพระเกียรติเทพเจ้ามูรูก้า โดยจะมีขบวนแห่พระราชรถและการทรมานตนด้วยเหล็กแหลมของเหล่าสาวก
• กุมภาพันธ์
• วันดินแดนแห่งสหพันธรัฐ หรือรู้จักกันในชื่อ “ซิตี้เดย์” จัดขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อระลึกถึงการประกาศเป็นสหพันธรัฐโดยมีกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 2517 ในงานจะเต็มไปด้วยขบวนพาเหรด พลุ ดอกไม้ไฟ และการละเล่นต่าง ๆ
• เทศกาลตรุษจีน จัดขึ้นในย่านไชนาทาวน์ของทุกเมือง
• มีนาคม
• เทศกาลอาหารนานาชาติ จัดขึ้นที่ International Sports Arena เมืองปีนัง
• เมษายน
• Malaysia Water Festival จัดขึ้นที่ Desaru เมืองชายฝั่งทะเลในรัฐยะโฮห์ และที่ซีนัง ชายหาดบนเกาะลังกาวี เป็นงานแข่งขันกีฬาทางน้ำ
• พฤษภาคม
• เทศกาลอาหารและผลไม้ จัดขึ้นที่จัตุรัสเมอร์เดกา กัวลาลัมเปอร์
• มิถุนายน
• วันเฉลิมพระชนมายุของพระราชาธิบดี ตรงกับวันเสาร์แรกของเดือนมิถุนายน จัดขึ้นที่จัตุรัสเมอร์เดกา กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยจะมีการสวนสนามของเหล่ากองทัพ พร้อมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรม และดนตรี
• กรกฎาคม
• Malaysia Mega Sale จัดขึ้นทุกห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงกัวลาลัมเปอร์
• สิงหาคม
• วันชาติมาเลเซีย ตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม มีการจัดงานเฉลิมฉลองที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเมืองหลวงของแต่ละรัฐทั่วประเทศจะมีการแสดงต่าง ๆ ขบวนพาเหรด พลุและดอกไม้ไฟ
• กันยายน
• เทศกาลฮารีรายออิดิลฟิตรี้ (Hari Raya Aidilfitri) การฉลองหลังถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยชาวมุสลิมจะประดับประดาบ้านเรือนด้วยโคมไฟในยามค่ำคืน และมีพิธีละหมายอิดิลอัฎฮาที่มัสยิด (เทศกาลนี้อาจแตกต่างกันในแต่ละปี เนื่องจากการนับตามปฏิทินจันทรคติ ควรตรวจสอบจากปฏิทินอิสลาม)
• ตุลาคม
• วันดีปาวาลี (Deepavali) งามเฉลิมฉลองของชาวฮินดู เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าความดีอยู่เหนือความชั่ว
• Penang World Music Festival งานแสดงดนตรีท้องถิ่นของมาเลเซียและจากทั่วโลก จัดขึ้นที่ Botanic Gardens ที่เกาะปีนัง
• พฤศจิกายน
• Malaysia Savings Sales คืองานลดราคาสินค้าในทุกห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงกัวลาลัมเปอร์
• ธันวาคม
• Langkawi International Maritime and Aerospace Exhibition (LIMA) จัดขึ้นทุก ๆ สองปีที่เกาะลังกาวี เป็นการแสดงเรือและเครื่องบินผาดโผนการแสดงดนตรี นาฏศิลป์ และเทศกาลอาหารจากทุกรัฐในมาเลเซีย
• อาหารการกิน
• ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทั้งมลายู จีน อินเดีย และไทย ทำให้อาหารการกินในมาเลเซียมีให้เลือกหลากหลาย ในกัวลาลัมเปอร์ที่ถนนเพทาลิง (Jalan Petaling) หรือไชน่าทาวน์ในกัวลาลัมเปอร์ อยู่ไม่ไกลจากสถานีขนส่ง Puduraya ถนนสายนี้เต็มไปด้วยร้านอาหารจีน และในฝั่งตรงข้ามสถานี Puduraya ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวอินเดียจึงมีร้านอาหารอินเดียวหลายร้านสามารถชิมอาหารอินเดียได้ที่นี่
• ในเขตเมืองกัวห์ ที่ลังกาวี บนถนนเคอลิบัง (Jalan Kelibang) ตลอดเส้นทางบนถนนสายนี้เต็มไปด้วยอาหารทะเล และยังมีอาหารมุสลิม อาหารอาหรับ หรืออาหารมาเลย์จำพวกเนื้อย่างหรือสะเต๊ะ โดยเปิดให้บริการในช่วงค่ำ
• ปีนัง ในเมืองจอร์จทาวน์มีร้านอาหารจีนเป็นจำนวนมาก และที่ตลาดเช้าในรัฐกลันตัน Pasar Siti Khadijah จะเต็มไปด้วยสารพัดอาหารหวาน และอาหารคาวที่น่าสนใจ คือ นาซิเลอมัก (Nasi Lemak) คือข้าวหุงกับน้ำกะทิ กินกับแกง หรือปลาหมึกผัดน้ำขลุกขลิก โรยหน้าด้วยปลาตัวเล็กทอด ราดซอส
• เมนูขึ้นชื่อของรัฐตรังกานู ซี่โครงหมูตุ๋นยาจีน หรือ บักกุตเกต๋ และฉาก๋วยเตี๋ยว คือก๋วยเตี๋ยวผัดแบบมาเลย์นั่นเอง
• มะละกา บนถนนยองเกอร์ (Jonker Street) มีอาหารที่ไม่ควรพลาดคือ ข้าวมันไก่ Chicken Rice Ball โดยเสิร์ฟไก่สับมาพร้อมกับข้าวที่ปั้นเป็นลูกกลม ๆ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองมะละกา และมีขนมหวานที่น่าลิ้มลองคือ มะละกาทาร์ต (Melaka Tart) ส่วนในตอนค่ำถนนสายนี้จะปิดการจราจรและเปลี่ยนเป็นถนนคนเดินจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เสื้อผ้า และยังเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย
• ของที่ระลึก
• รูปปั้นนกอินทรี สัญลักษณ์แห่งลังกาวีหาซื้อได้บริเวณจัตุรัสนกอินทรี และชายหาดต่าง ๆ ของที่ระลึกจากมะละกา คือรองเท้า หรือเกี๊ยะไม้คู่จิ๋วที่ตกแต่งลวดลายอันงดงาม หาซื้อได้บริเวณร้านค้าบนถนนยองเกอร์ ในกัวลาลัมเปอร์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับตึกแฝดเปโตรนาสไม่ว่าจะเป็นโมเดลจำลอง ที่ใส่นามบัตร เสื้อยืดพิมพ์ลาย กริชจำลอง หาซื้อได้จากย่านไชน่าทาวน์ และย่านบูกิตบินตัง
• ช็อกโกแลต ในมาเลเซียมีการผลิตช็อกโกแลตและจำหน่ายเป็นจำนวนมาก มีให้เลือกหลากหลายและราคาถูก สามารถเลือกซื้อได้ในซูปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป
• ผ้าบาติก ผ้าซงเก็ต (ผ้าปักดอก ทอแทรกด้วยด้ายสีเงินหรือสีทอง) งานไม้ ภาพวาด และเครื่องจักสานได้ที่เซนทรัลมาร์เก็ต หรือคราฟท์คอมเพล็กซ์ในกัวลาลัมเปอร์ กัวลาตรังกานู และบนเกาะลังกาวี หรือถ้าอยากช้อปปิ้ง สามารถไปที่ Suria KLCC ที่อยู่ชั้นล่างของตึกแฝดเปโตรนาส หรือดงช้อปปิ้งเซนเตอร์ในย่านบูกิตบินตัง
• ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
• สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย
อาคารสาธรการ์เด้น ชั้น 1 เลขที่ 33 – 35 ถนนสาธรใต้ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์ 0 – 2679 – 2190 – 9 โทรสาร 0 – 2679 – 2208
• การท่องเที่ยวมาเลเซีย (ประจำประเทศไทย)
ยูนิต 1 ชั้น 3 อาคารซิลลิค เลขที่ 1 – 7 ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทรศัพท์ 0 – 2636 – 3380 – 3 โทรสาร 0 – 2636 – 3384
วันทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30 น. – 16.30 น.
วันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ของไทยและมาเลเซีย