วันสำคัญของไทย วันที่ 21 ตุลาคม วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ

วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ
21 ตุลาคม ของทุกปี

เนื่องจาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูความสมดุลของ ธรรมชาติ โดยทรงปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ด้วยพระองค์มาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ในการ นี้พระองค์ทรง ให้ความสำคัญของการบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกว่ามีความสำคัญและน่าเป็นห่วง มากกว่าการปลูก และเพื่อเป็นการ แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงงานพัฒนาชนบทของประเทศไทย โดยเฉพาะการฟื้นฟูสมดุลของธรรมชาติ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2533 กำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ คือ วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ และต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ ดำเนินการระดมความเห็นจากบุคคลทั่วไปเพื่อกำหนดชื่อที่เหมาะสมสำหรับวันดัง กล่าว ปรากฏชื่อว่า “วันรัก ต้นไม้ประจำปีของชาติ” ได้รับการพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2533

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามโครงการ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งการปลูกซ่อมต้นที่ตายให้สามารถเจริญเติบโตขึ้นปกคลุมพื้นที่โดยเร็ว
  2. เพื่อชี้นำให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยพร้อมเพรียง
  3. เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการบำรุงต้นไม้ที่ปลูกไว้ อันจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว
  4. เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาถวายเป็นราช สักการะแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญดังกล่าว ซึ่งกรมป่าไม้ได้จัดให้มีการบำรุงต้นไม้ทุกปี

ที่มา www.aksorn.com

วันสำคัญของไทย วันที่ 21 ตุลาคม วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
21 ตุลาคม ของทุกปี

วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

จากการที่สมเด็จย่าทรงพระเมตตาอยากให้ปวงประชามีฟันดี จึงทรงทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขึ้น ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า “พอ.สว.” ก็เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร โดยพระองค์เป็นนายิกากิตติมศักดิ์ พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องบริการทันตกรรมเป็นพิเศษ ได้ทรงกำชับไว้ว่า “ต้องมีทันตแพทย์ไปช่วยชาวบ้านทุกครั้ง เนื่องจากคนไข้ในท้องถิ่นทุรกันดาร เมื่อมีโรคฟันจะต้องทนทุกข์ทรมานและไม่สามารถช่วยตนเองได้ ดังนั้นต้องให้มีทันตแพทย์ไปช่วยโดยด่วน” ทันตบุคลากรจึงเป็นส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครของหน่วยแพทย์พอ.สว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา

ที่มาของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

จนในปี พ.ศ. 2529 มูลนิธิพอ.สว. ได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข คณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และทันตแพทยสมาคมฯ เริ่มจัด “กิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม โดยระดมทันตบุคลากรอาสาสมัครทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ออกให้บริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก โดยไม่คิดมูลค่าแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 48 จังหวัด และได้จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ”

จึงถือได้ว่าวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ มีที่มาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ต่อราษฎรผู้ทุกข์ทรมานด้วยโรคฟัน ซึ่งหลังจากพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกิตติมศักดิ์สืบต่อมา

สืบสานพระปณิธานของสมเด็จย่า

โครงการด้านทันตสาธารณสุขต่างๆ ที่พระองค์และมูลนิธิพอ.สว. ให้การสนับสนุน เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่แก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนอย่างแท้จริงและ ครบวงจร ทั้งการรักษาโรคในช่องปาก การจัดบริการทันตกรรมป้องกัน การส่งเสริมให้เกิดการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง

กระทรวงสาธารณสุขได้สืบสานพระปณิธานดังกล่าว ด้วยการศึกษาสถานการณ์สุขภาพช่องปากของประชาชนไทยเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และพบว่าโรคในช่องปากทั้งฟันผุ เหงือกอักเสบ สภาวะปริทันต์อักเสบ มีความชุกสูง เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโรคที่ป้องกันได้ สาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งการบริโภคอาหารหวาน การทำความสะอาดฟันที่ไม่ถูกวิธี การไปรับบริการทางทันตกรรมเฉพาะเมื่อปวดฟัน เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อลดการสูญเสียฟัน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องผลักดัน โครงการสำคัญต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2550

  • ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) และสหวิชาชีพ ในเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เพื่อลดการบริโภคอาหารหวาน โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน
  • ร่วมกับภาคี มหาวิทยาลัย องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อรณรงค์แปรงฟันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  • ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการรณรงค์ให้เด็กประถมศึกษาได้ฝึกทักษะการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และได้รับบริการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ

สำหรับผู้สูงวัยที่ปัจจุบันมีการสูญเสียฟันไปแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยทันตกรรมพระราชทาน มูลนิธิพอ.สว. คณะทันตแพทยศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย หน่วยบริการทุกกระทรวง จัดบริการใส่ฟันเทียมตามโครงการฟันเทียมพระราชทาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในวาระมหามงคล 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการหามาตรการป้องกันการสูญเสียฟันที่ เหมาะสมแก่ผู้สูงวัย

กิจกรรมรณรงค์

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า พระผู้อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทย ภาพในความทรงจำของปวงชนชาวไทย คือภาพที่พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบทห่างไกล พร้อมหน่วยแพทย์พอ.สว. ซึ่งมีทันตแพทย์ให้บริการตรวจและรักษาโรคในช่องปากแก่ประชาชนในท้องถิ่น ทุรกันดารห่างไกล หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิพอ.สว. ได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ 21 ตุลาคม ถวายเป็นพระราชกุศล ในวันคล้ายวันพระราชสมภพ

จากการรณรงค์ใน 48 จังหวัด พอ.สว. ได้ขยายการรณรงค์ครอบคลุมทั่วประเทศ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชน แต่ละปีมีประชาชนนับแสนคนที่ได้รับบริการจากกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ โดยไม่คิดมูลค่าภายใต้ชื่องาน “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” และมีการพัฒนาคุณภาพการบริการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่าง ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณด้านทันตกรรม ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารและห่างไกลการคมนาคม ได้รับบริการบำบัดรักษาโรคในช่องปาก มีโอกาสได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง จึงได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา ทันตแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2530 โดยมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยขอนแก่น และในปี พ.ศ. 2533 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2533 องค์การอนามัยโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองแห่งสุขภาพดีถ้วนหน้าเป็นพระองค์แรกในประวัติการณ์ขององค์การ อนามัยโลก เพื่อประกาศพระเกียรติคุณอันสูงสุดที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันทรงคุณ ค่าแก่งานสุขภาพอนามัยแห่งชาวโลกทั้งมวล

ในปี พ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิพอ.สว. ได้จัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานไปยังหน่วยบริการภาครัฐทุกแห่ง ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย ในการจัดบริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก รวมทั้งการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และร่วมกันถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ยังได้จัดการรณรงค์ “สมเด็จย่าทรงพระเมตตา ให้ปวงประชามีฟันดี” เพื่อเปิดโครงการจัดการรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่ง ชาติ ปี พ.ศ. 2549

มีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า จัดนิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากที่กรมอนามัย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยมุ่งหวังว่าประชาชนทั่วไปจะรับรู้และร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงมีต่อวิชาชีพทันตกรรมและวันทันตสาธารณ สุขแห่งชาติ รวมทั้งได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพ ชีวิตที่ดีตามยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

สถานการณ์สุขภาพช่องปากในไทย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาพช่องปากดี ตามพระปณิธานของสมเด็จย่า สุขภาพช่องปากก็เป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพ และคุณภาพชีวิต ซึ่งมีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 ว่า “คนเราเวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้คนไทยควรมีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิต ซึ่งถ้าคิดตามกระแสพระราชดำรัสแล้ว ผู้ที่มีอายุ 80 ปี ฟันจะต้องดีด้วย สำหรับใช้เคี้ยวอาหารเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต

กรมอนามัย โดยกองทันตสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นประจำทุก 5 ปี ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2543-2544 พบว่าโรคฟันผุในฟันน้ำนมมีความชุกและความรุนแรงสูง เด็กอายุ 5-6 ปี มีฟันน้ำนมผุร้อยละ 87 และที่ผุเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการรักษา ฟันแท้ของเด็กอายุ 12 ปี ผุร้อยละ 57 ผุมากที่สุดที่ฟันกรามถาวรซี่ที่ 1 และ 2 กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 35-44 ปี จะเริ่มพบการผุที่รากฟันและพบสภาวะปริทันต์อักเสบ ทำให้เกิดการละลายของกระดูกหุ้มรากฟัน ฟันโยก และสูญเสียฟันในที่สุด สำหรับกลุ่มผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ปัญหาหลักได้แก่ ความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้

ร้อยละ 96 ของผู้สูงวัยมีการสูญเสียฟันอย่างน้อย 1 ซี่ สูญเสียฟันทั้งปากและต้องใส่ฟันเทียมทดแทนร้อยละ 5 หรือประมาณ 3 แสนคน ผู้ที่มีฟันก็พบโรคฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ ที่เป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันเพิ่มขึ้นได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมแต่ไม่สม่ำเสมอมาตั้งแต่วัยเด็ก

การสืบสานพระปณิธาน

กรมอนามัยจึงได้จัดโครงการส่งเสริมและป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงตามกลุ่มวัยต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งพฤติกรรมการทำความสะอาดฟัน ลดการบริโภคอาหารหวาน หรือขนมของเด็ก พฤติกรรมการรับบริการเพื่อการป้องกันโรคในช่องปาก ทั้งเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิพอ.สว. อาทิเช่น การเฝ้าระวังทางทันตสาธารณสุขในโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อจัดบริการทั้งการส่ง เสริม ป้องกัน และรักษาโรคในช่องปากแก่เด็กนักเรียน รวมทั้งเน้นให้เด็กรู้จักใช้แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สามารถแปรงฟันได้ถูกวิธี ดูแลรักษาสุขภาพเหงือกและฟันด้วยตนเอง

การรณรงค์ “ฟันสะอาด เหงือกแข็งแรง” ในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการดูแลรักษาเหงือกและฟันของตนเอง โดยการสอนและฝึกทักษะในการแปรงฟัน รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพหลังการแปรงฟันด้วยการใช้เม็ดสีย้อมคราบจุลินทรีย์ บนตัวฟัน

การรณรงค์ใช้สารเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุในฟันกราม ถาวรซี่ที่ 1 ของเด็กอายุ 5-7 ปี ซึ่งเป็นฟันที่พบการผุมากที่สุด เนื่องจากฟันซี่นี้ขึ้นในช่วงเวลาที่เด็กยังเล็ก และไม่ให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดฟัน การเคลือบหลุมร่องฟันจะเป็นมาตรการป้องกันฟันผุด้านบดเคี้ยว ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิผลสูงสุดตราบเท่าที่สารเคลือบหลุมร่องฟันยัง คงยึดติดกับผิวฟัน

โครงการ “แม่ลูกฟันดี 102 ปีสมเด็จย่า” เพื่อควบคุมโรคฟันผุสำหรับเด็กปฐมวัย โดยการปรับพฤติกรรมแม่ในการดูแลตนเองและลูก เริ่มตั้งแต่ฟันที่เริ่มสร้างเมื่ออยู่ในครรภ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์ และให้บริการตรวจเฝ้าระวังทันตสุขภาพ จัดบริการป้องกันรักษาตามจำเป็นแก่ลูกตั้งแต่แรกเกิดอย่างต่อเนื่องจนถึง 3 ปี

การสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเนื่องในวันทันต สาธารณสุขแห่งชาติในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี โครงการและกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นที่มาของกิจกรรมการดำเนินงานทันตสาธารณสุขในปัจจุบัน ของกรมอนามัยที่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรที่ เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชน ทั้งการจัดกิจกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน การส่งเสริมสุขภาพช่องปากแก่หญิงมีครรภ์ การแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา การงดจำหน่ายขนมหรือน้ำอัดลมที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุในโรงเรียน การรณรงค์เคลือบหลุมร่องฟันตามโครงการ “ยิ้มสดใส เด็กไทยฟันดี”

สำหรับวัยทำงาน มีคลินิกอดบุหรี่เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์และมะเร็งช่องปาก และสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในวาระมหามงคล 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 โดยมีกรมอนามัยเป็นหน่วยประสานการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียฟัน และใส่ฟันเทียมทดแทนให้กับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน

นอกจากนี้ยังได้จัดการดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภค เช่น จัดทำมาตรฐานปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟัน ในน้ำบริโภค จัดทำมาตรฐานคุณภาพขนแปรงและการตรวจสอบคุณภาพที่กรมอนามัย เป็นต้น

การสนับสนุนให้เกิดการดูแลสุขภาพในช่องปาก

นอกจากการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากแก่ประชาชน แล้ว กรมอนามัยยังสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุข เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า นิทรรศการเพื่อการดูแลสุขภาพและสุขภาพช่องปาก แปรงสีฟันและยาสีฟันเก่าแลกของใหม่

นอกจากนี้กรมอนามัยยังพบว่ามีผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งที่ สามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ตั้งแต่วัยเด็ก สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ลูกหลาน แม้ว่าจะมีน้อยมาก แต่ก็ยังพบว่ามีอยู่ทุกภาคในประเทศไทย จึงได้จัดให้มีการประกวด “10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี” ขึ้นทุกปี เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ “เมืองไทยแข็งแรง” ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการประกวดเป็นผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มีสุขภาพแข็งแรง มีฟันดีอย่างน้อย 24 ซี่ มีอนามัยช่องปากดี

เหล่านี้เป็นกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า พระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทยทั้งสิ้น

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

– กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
– ครอบครัวสุขภาพฟันดี

วันสำคัญของไทย วันที่ 21 ตุลาคม วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ

วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ
21 ตุลาคม ของทุกปี

การสังคมสงเคราะห์คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้ทุกคนอยู่ใน สังคมไทยได้อย่างมีความสุขและให้ทุกคนมีความสามารถ รวมถึงพัฒนาสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าด้วย

การสังคมสงเคราะห์

การสังคมสงเคราะห์มีในประเทศไทยเป็นเวลานานมาแล้ว สมัยก่อนนี้ “วัด” เป็นศูนย์กลางของการสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันนี้มีทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน ทางฝ่ายรัฐนั้นมีหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบเกี่ยวกับความผาสุกของประชาชนชาว ไทย คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกรมประชาสงเคราะห์ แห่งกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินงานและรับผิดชอบโดยตรง

ส่วนภาคเอกชนนั้นกระทำการสังคมสงเคราะห์โดยการจัดตั้งเป็น สมาคมและมูลนิธิเพื่อการกุศล ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นองค์การที่ตั้งขึ้นโดยประชาชน เป็นของประชาชนและทำงานเพื่อประชาชนโดยแท้ ในปัจจุบันนี้มีจำนวน ประมาณ 10,000 องค์การ ที่ช่วยรัฐและหน่วยงานของรัฐให้บริการสังคม- สงเคราะห์ ซึ่งให้สวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชนเพื่อให้สังคมพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าว หน้าตามเป้าหมายที่ต้องการได้

พระราชดำริ

สมาคมและมูลนิธิหลายองค์การได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ หรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมและมูลนิธิเหล่านี้ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ เป็นเอนกประการ ทั้งในการสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคม รวมทั้งการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นต้น

องค์การเพื่อการสังคมสงเคราะห์

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ เป็นองค์การที่ทำงานเพื่อการสังคมสงเคราะห์โดยแท้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ หมายถึงมูลนิธิที่พระมหากษัตริย์และประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยผู้ ที่ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ มูลนิธินี้ถือกำเนิดขึ้นเนื่องมาจากการเกิดวาตภัยและอุทกภัยขึ้นในจังหวัด ภาคใต้เมื่อ พ.ศ. 2505 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำประชาชนให้ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติ ผู้ ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้น ได้รับการบริจาคเฉพาะเงินสดถึง 11 ล้านบาท หลังจากที่พระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านั้นแล้ว ยังเหลือเงินอยู่อีกถึง 3 ล้านบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้จัดตั้งเป็น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ขึ้น

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทเป็นทุนริ เริ่มการสร้างตึกทำงานของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และได้พระราชทานนามตึกนี้ว่า “ตึกมหิดล” เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณในด้านสังคมสงเคราะห์ของสมเด็จพระบรมราชชนก โครงการที่สำคัญที่สุดของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ คืออุดมการณ์ที่รัฐรับเป็นอุดมการณ์ของชาติ คือ “โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” ซึ่งมีที่มาจากพระบรมราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โดยพระราชดำรัสที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” เป็นที่มาแห่ง “แผ่นดินธรรม” ส่วนพระราชดำรัสที่ว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นที่มาแห่ง “แผ่นดินทอง”

วันสังคมสงเคราะห์

ใน พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนางาน สังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ให้กำหนดวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงอุทิศพระวรกายและเวลา เพื่อประโยชน์ให้บังเกิดแก่ประชาชนตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก สมควรเป็นปูชนียบุคคลที่นักสังคมสงเคราะห์ควรถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ งานของตนต่อไป ดังนั้นในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดงานแสดงกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยไม่ เลือกเชื้อชาติศาสนา

การประกันสังคม

มีการสังคมสงเคราะห์อีกประเภทหนึ่งคือการประกันสังคม หรือการสร้างความมั่นคงในสังคมร่วมกัน แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายประกันสังคมแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2497 แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้เพราะมีปัญหาเรื่องนโยบาย อย่างไรก็ตามได้มีประกาศใช้กฎหมายแรงงาน เมื่อ พ.ศ. 2515 โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในกรมแรงงาน ให้ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้างและสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าทดแทนแก่ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจาก การทำงานให้นายจ้าง ทำให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างในระหว่างที่เจ็บป่วยต้องหยุดงาน และในกรณีทุพพลภาพก็สามารถมีรายได้ไปใช้ สอยเลี้ยงดูครอบครัว

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
– เครือข่ายข้อมูลกาญจนาภิเษก
– อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
– คลังปัญญาไทย