โรคกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์และผู้ใช้แรงงานเป็นประจำ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ที่นิยมการออกกำลังกายอย่างหนัก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อและอวัยวะที่ใช้งาน
สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ
- การบาดเจ็บทางร่างกายอย่างรุนแรง เกิดจากกล้ามเนื้อถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุทางรถยนต์
- การบาดเจ็บแบบน้อยๆ แต่ซ้ำซาก เกิดจากกล้ามเนื้อบางส่วนต้องทำงานหนักตลอดเวลา จนเกิดอาการหดเกร็งตามมา (Taut Band) พบมากในผู้ที่ทำงานผิดอิริยาบถเป็นเวลานานๆ เช่น การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ด้วยท่าทางที่ต้องเกร็งไหล่ แขน และข้อมือตลอดเวลา การยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกหลัก
- โรคข้อเสื่อมต่างๆ เช่น หมอนรองกระดูกเสื่อมตามอวัยวะต่างๆ เช่น คอ เข่า ทำให้มีอาการปวดตรงบริเวณนั้นและเกิดการหดเกร็งจนกลายเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ
สำหรับโรคเส้นเอ็นอักเสบ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับที่ข้อมือหรือนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นของเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ 2 เส้น จนเกิดการตีบหรือหดตัว ซึ่งมาจากการเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้นหรือการเจ็บป่วยจากโรคข้อเรื้อรัง
อาการของโรคกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ
ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออักเสบจะมีลักษณะเป็นกลุ่มอาการหลากหลายร่วมกัน เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อหรืออวัยวะเป็นแถบๆ ชนิดที่ปวดน้อยๆ พอทนได้จนกลายเป็นความปวดที่ซ้ำซาก จนถึงกับมีอาการปวดที่ทนแทบไม่ได้หรือมีอาการปวดร้าวไปที่ส่วนอื่น ซึ่งที่เราจะเห็นได้ชัดคือบริเวณกล้ามเนื้อที่ปวดนั้น เมื่อกดเบาๆ จะเจ็บปวดมากกว่าการปวดแบบปกติ
ผู้ป่วยเส้นเอ็นอักเสบจะเริ่มมีอาการช้ำและระบมที่บริเวณนิ้วโป้งตรงช่วงใกล้กับข้อมือ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการเจ็บปวดจะขยายบริเวณจนเกิดอาการบวมบริเวณปลอกหุ้มเอ็นใกล้ๆ กับข้อมือ ทำให้การหยิบจับด้วยนิ้วโป้งและข้อมือเป็นไปด้วยความยากลำบากและเจ็บปวดมากขึ้น
วิธีรักษาโรคกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ
การรักษาให้ได้ผลดีที่สุดคือต้องทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดก่อน ว่าเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันหรือว่าเกิดจากอาการของโรคบางชนิด เช่น โรครูมาตอยด์หรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อม แล้วจึงรักษาจากสาเหตุนั้น ซึ่งนอกจากการใช้ยารับประทานหรือยาฉีดเพื่อระงับอาการปวดแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยลดอาการปวดให้บรรเทาลงได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากอาจจะต้องเลือกใช้วิธีการผ่าตัด
- ลดการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 ชั่วโมง
- ฝึกยืดกล้ามเนื้อด้วยตนเองจนถึงจุดที่มีอาการปวดเล็กน้อย ทำคราวละ 10 ครั้ง วันละ 2 รอบ โดยทำต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ให้กล้ามเนื้อมีการยืดเหยียดบ้าง
- การทำกายภาพบำบัด วิธีนี้ควรให้นักกายภาพบำบัดมืออาชีพเข้ามาดูแล เพราะในบางกรณีอาจจะต้องมีการใช้อุปกรณ์กายภาพบำบัดช่วยด้วย
- การรักษาด้วยวิธีแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การกดจุด การนวดแผนโบราณ
การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ
เมื่อแพทย์วินิจฉัยลงความเห็นแล้วว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือการกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการโรคนี้ ทานยาและปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่ง ทำกายภาพบำบัดหรือกายภาพฟื้นฟูตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ หากมีอาการที่ผิดปกติหรือว่ามีอาการที่แย่ลงให้รีบไปพบแพทย์ก่อนทันที
เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ผิดอิริยาบถหรือว่าการออกกำลังกายที่ไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย เมื่อเราทราบสาเหตุและหลีกเลี่ยงก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ค่ะ