รู้จักโรคปอดเรื้อรัง สาเหตุและวิธีการรักษา

โรคปอดเรื้อรังเป็นโรคที่พบได้บ่อยอีกโรคหนึ่ง มีชื่ออื่นๆ ที่เรียก เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคอุดกั้นทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะเกิดอาการระคายเคืองที่เซลล์บุผนังหลอดลมและถุงลม ทำให้มีเสมหะมาก จนเกิดการอักเสบต่อเนื่องที่เป็นเวลานาน ส่งผลให้การทำงานของปอดและระบบทางเดินหายใจลดลง

รู้จักโรคปอดเรื้อรัง สาเหตุและวิธีการรักษา

สาเหตุการเกิดโรคปอดเรื้อรัง

ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสูบบุหรี่จัดหรือหายใจได้รับควันพิษเป็นประจำ เมื่อสารพิษเหล่านี้ผ่านเข้าไปในปอดแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อปอดและหลอดลม

 

อาการของโรคปอดเรื้อรัง

ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง เป็นหวัดง่ายแต่หายช้า อาจจะมีเสมหะร่วมด้วย หลอดลมอักเสบบ่อยๆ หากยังได้รับสารพิษจากการหายใจเข้าไปเป็นประจำหรือแม้แต่การสูบบุหรี่ อาการจะเป็นมากขึ้น ต่อมาจะมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้นเรื่อยๆ หายใจมีเสียงวี้ด หน้าอกบวมโป่ง ทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อยง่าย ร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่

ผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงจะไอเป็นเลือดบ่อย ไอมากและไอรุนแรง เสมหะข้นเหนียวและมีเลือดปนหนองออกมาด้วย และอาจกลายเป็นโรคมะเร็งปอดได้

 

การวินิจฉัยโรคปอดเรื้อรัง

แพทย์จะประเมินความรุนแรงของโรคด้วยการตรวจวัดสมรรถภาพของปอดและทางเดินหายใจ การวัดระดับความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนในเลือด วิธีนี้เป็นดัชนีชี้วัดความรุนแรงของโรคได้เช่นกัน ในทางปฏิบัติจะเก็บตัวอย่างเลือดโดยทำการเจาะหลอดเลือดแดง ซึ่งแตกต่างจากการเจาะเลือดทั่วไปที่เราเลือกใช้หลอดเลือดดำ หากระดับความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนต่ำกว่าปกติมาก สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นโรคปอดเรื้อรังอย่างแน่นอน แพทย์จะได้วางแผนการรักษาต่อไปได้ถูกต้อง

ปัจจุบันยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยการเจาะเลือดอีกต่อไป เป็นวิธีที่นิยมกันมาก โดยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมที่ปลายนิ้วนำไปคำนวณระดับความอิ่มตัวของก๊าซออกซิเจนในหลอดเลือดแดง ซึ่งผลที่ได้มีความแม่นยำสูง เรียกกันสั้นๆ ว่า “อ๊อกแซด” หรือ Oximete นิยมใช้ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ แผนกผู้ป่วยนอก รถพยาบาลฉุกเฉิน หรือใช้ขณะออกกำลังกายและขณะนอนหลับ จะช่วยประเมินการทำงานของปอดได้เป็นอย่างดี

 

วิธีรักษาโรคปอดเรื้อรัง

แพทย์จะให้ยาออกฤทธิ์ขยายหลอดลมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมาก มีทั้งยารับประทานและยาพ่น ทั้งชนิดออกฤทธิ์ระยะยาวและชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้น ซึ่งช่วยให้อาการของโรคที่กำลังจะกำเริบนั้นทุเลาลงได้ แต่ถ้ามีอาการของโรคที่รุนแรงอาจจะต้องใช้ยาสเตียรอยด์ที่ช่วยต้านการอักเสบได้ดี แต่จะไม่ใช่ยาชนิดนี้อย่างต่อเนื่องเพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก สำหรับยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องใช้ในทุกกรณี หากมีหลักฐานหรือข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ แพทย์จึงจะพิจารณาให้ใช้ยาดังกล่าว

 

การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเป็นโรคปอดเรื้อรัง

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีควันพิษหรือสารพิษ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือยาเส้นจะต้องเลิกสูบให้ได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่โดยตรงก็ตาม เช่น โรคทางพันธุกรรม เพราะจะทำให้โรคกำเริบเร็วขึ้น และทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าต้องดำเนินชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศ หรือที่ที่มีฝุ่นละอองและควันพิษ ควรสวมหน้ากากอนามัยเป็นประจำ เพื่อป้องกันอาการของโรคกำเริบหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น

 

เราจะสังเกตได้ว่าโรคปอดเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นโรคที่เราทำตัวเองทั้งนั้น เนื่องจากพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขอนามัยอย่างเช่นการสูบบุหรี่หรือยาเส้นเป็นประจำ ถ้าเราหลีกเลี่ยงแล้วหันมาออกกำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ก็จะห่างไกลโรคนี้ได้ค่ะ