รู้จักโรคหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุและวิธีการรักษา

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease หรือ CAD) เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจนั้นแข็งตัว หรือการสะสมของไขมันที่ไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดนั้นตีบแคบลงจนทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตไม่สะดวก ส่งผลให้หลอดเลือดมีอาการอักเสบแล้วเม็ดเลือดขาวมาซ่อมแซม จนกลายเป็นเม็ดเลือดเหล่านี้ที่ทำให้อุดตัน เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในที่สุด

 

สาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

พบมากในผู้ป่วยที่มีประวัติชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เคร่งเครียดเป็นประจำ สูบบุหรี่จัด ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ผลข้างเคียงจากโรคหลอดเลือดหัวใจหดเกร็ง อาการกระตุกของเส้นเลือดของหัวใจ และมักพบมากในผู้ชายหรือผู้ที่มีญาติในครอบครัวเป็นโรคนี้อยู่แล้ว

รู้จักโรคหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุและวิธีการรักษา

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

ในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วน มักจะยังไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาอย่างเห็นชัด จนกว่าจะเริ่มเป็นโรคหัวใจแบบฉับพลันหรือผู้ป่วยที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันมาก จะมีอาการแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับที่บริเวณกลางหน้าอกเยื้องไปทางซ้าย บางรายอาจจะถึงขั้นปวดร้าวไปที่อวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น แขน ไหล่ คอ หรือขากรรไกรด้านซ้าย หรือจุกแน่นตรงยอดอกบริเวณลิ้นปี่ อาจมีอาการหอบเหนื่อยหรือใจสั่นร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกายหรือการทำงานอย่างหนัก

 

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ

สามารถทำได้โดยการวัดหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้า การทดสอบความเครียดหัวใจหรือภาพรังสีหลอดเลือด (coronary angiogram) การทดสอบเลือด (cardiac marker) โดยขึ้นอยู่กับอาการและความเสี่ยง

 

วิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

เมื่อแพทย์ตรวจและวินิจฉัยโรคแล้วว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างแน่นอน ด้วยวิธีการใส่สายสวนหัวใจเข้าทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ และฉีดสีดูตำแหน่งการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ จากนั้นแพทย์จึงจะประเมินความรุนแรงของโรคแล้วเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น

  1. การให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือดแข็งตัว เช่น แอสไพริน
  2. การให้ยาขยายหลอดเลือด เช่น ยารับประทาน ยาชนิดอมใต้ลิ้น และยาฉีดทางหลอดเลือดดำ
  3. การให้ยาลดการบีบตัวของหัวใจ เพื่อลดการทำงานของหัวใจและลดการใช้ออกซิเจน

หากผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยามักจะได้ผลดี แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ หรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด โดยใช้เส้นเลือดที่บริเวณแขนหรือขาเพื่อให้เลือดเดินทางผ่านจุดที่อุดตันได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

เริ่มต้นจากการรับประทานอาหารแค่พออิ่ม เน้นผักและผลไม้สดที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหารที่มีรสเค็มจัด ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ลิตร ออกกำลังกายเบาๆ แต่สม่ำเสมอวันละ 30 นาที งดดื่มสุรา ชา กาแฟ และเลิกสูบบุหรี่ถาวร หลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรืองานที่ทำต่อเนื่องและใช้เวลานาน และข้อสำคัญที่สุดคือ ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกกะทันหัน ให้หยุดกิจกรรมนั้นทันทีแล้วรีบอมยาใต้ลิ้น 1 เม็ด หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถอมยาซ้ำได้อีก โดยเว้นช่วง 5 นาที แต่รวมทั้งหมดแล้วไม่ควรเกิน 3 เม็ด ถ้าอาการไม่ทุเลาลงภายใน 15 – 20 นาที ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนที่สุด

 

โรคหลอดเลือดหัวใจมักเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยง ดังนั้นควรต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง เพื่อป้องกันก่อนที่จะเป็นโรคนี้ค่ะ