สอนลูกยังไงให้เป็นนักออม

จริงหรือไม่ ว่าการเรียนรู้ของลูกมีค่า ? ทั้งค่าเรียน ค่ารถ ค่ากิน ค่าอุปกรณ์ แล้วยังไม่นับรวมค่าจิปาถะ  ถึงแม้ว่าคุณพ่อ คุณแม่จะเต็มใจจ่ายเพื่อสิ่งที่ดีสำหรับลูก แต่กระนั้น เราก็ต้องพึงระวังตัวเองไม่ให้จ่ายมากเกินไป จนกระทบกับการเงินส่วนอื่นๆในบ้าน อีกทั้ง การสอนให้ลูกรู้ว่า “จ่าย เฉพาะ สิ่งที่จำเป็น” ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น เรามาสอนลูกให้รักและเห็นคุณค่าของเงินกันเถอะ

  1. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดู

กว่าเราจะสอนให้ลูกเริ่มออมเงินเป็น ส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นช่วงที่ลูกเริ่มรู้ความแล้ว แต่จริงๆ แล้วเราสามารถปลูกฝังเรื่องความเป็นอยู่อย่างประหยัด ไม่สุรุ่ยสุร่ายได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ โดย

  • ทานข้าวให้หมดจาน โดยเฉพาะทานผัก เพื่อลูกจะได้ซึมซับว่าไม่ควรเลือกกิน และไม่ทิ้งอาหารทิ้งๆขว้างๆ
  • ซักและทำความสะอาดเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ของเล่นให้สะอาดและอยู่ในสภาพดี
  • ซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ชำรุด เพื่อยืดอายุการใช้งาน
  • ดัดแปลงของใช้ในบ้านเอามาทำประโยชน์อื่นๆ
  • ปลูกผักสวนครัว นอกจากจะประหยัดและปลอดภัยแล้ว ยังส่งเสริมให้ลูกกินผักมากขึ้นไปในตัว
  • ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เห็นรายรับ-รายจ่าย และเงินออมในบ้าน
  • ทานผลไม้ตามฤดูกาล เพราะประหยัดและมีประโยชน์กว่าทานขนมแบบซองๆ อีกด้วย
  • ของเล่น ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ทุกครั้ง อาจจะแบ่งกันเล่นกับพี่หรือน้อง หรือนำไปแบ่งกันเล่นกับเพื่อนๆก็ได้ จะได้มีความสนุกเพิ่มขึ้น
  • ซื้อของใช้เท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะเสื้อผ้าและร้องเท้าลูก เพราะร่างกายเด็กโตเร็ว ถ้าซื้อมามากไปลูกจะใส่ไม่ทัน เท่ากับเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

สอนลูกยังไงให้เป็นนักออม

  1. กระปุกหมูคู่ใจ

เมื่อลูกพอเข้าใจการใช้สิ่งของอย่างประหยัดแล้ว ต่อไปก็ให้ลูกรู้จักออมเงินของตัวเอง เพื่อเป็นเงินเก็บส่วนตัวหรือเอาไว้ซื้อของที่ลูกอยากได้ โดยคุณพ่อ คุณแม่จะซื้อกระปุกใสๆ น่ารักๆ มาให้ลูก หรือให้ลูกไปเลือกซื้อเองก็ได้ จะได้กระตุ้นการออมมากขึ้น

  1. พาไปฝากธนาคาร

เมื่อลูกเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว เราก็พาลูกไปเปิดบัญชีธนาคาร โดยจะเป็นชื่อของคุณพ่อหรือคุณแม่ แล้วต่อด้วย เพื่อ ด.ช. ……….. หรือ ด.ญ……………… เด็กๆ เขาภูมิใจนะคะ ที่ได้มีสมุดบัญชีไว้ดูเงินคงเหลือของตนเอง

  1. ลองให้ลูกบริหารเงินเอง

ถ้าเป็นเด็กที่โตหน่อยแล้ว เช่น อนุบาล 3 หรือ ป. 1 ลองให้ค่าขนมเขาเป็นรายอาทิตย์ และ บอกว่าถ้าหมดแล้วก็ไม่มีให้เพิ่ม เพื่อให้ลูกลองบริหารเงินด้วยตัวเอง วันแรกๆที่ลูกอาจจะเอาเงินไปเยอะหน่อย แต่เขาก็จะเรียนรู้เองว่า ถ้าเงินหมดตั้งแต่วันแรกๆ เขาจะไม่เหลือเงิน หรือเหลือเงินน้อยในวันศุกร์ การให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองก็เป็นวิธีที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งค่ะ

  1. ให้ลูกเห็นคุณค่าจากการทำงาน

วิธีออมเงินที่ดีอีกทางหนึ่ง คือ ให้ลูกมีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงาน หากคุณพ่อ คุณแม่ ทำงานที่บ้านอยู่แล้ว อาจจะให้ลูกช่วยหยิบจับของใส่ถุง หรืออะไรที่เขาพอทำได้และไม่เสียหาย เพื่อให้รู้ว่ากว่าพ่อ แม่จะหาเงินมาได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และให้ลูกช่วยทำงานในบ้าน หากลูกทำความดี อาจจะได้สติกเกอร์ความดี หากเก็บสะสมครบ 5 ดวง จะมีค่า 10 บาท เป็นต้น

  1. ไม่ใช้สมบัติต้องแบ่งผลัดกันชม

เสื้อผ้า ของเล่น ของใช้ที่ลูกที่ไม่ได้ใส่  หรือมีมากเกินจำเป็น เราก็พาลูกไปบริจาคตามสถานสงเคราะห์เด็ก เพื่อให้ลูกเห็นว่าของที่มีสภาพดีแม้เราจะไม่ได้ใช้ แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้อื่น  จะช่วยทำให้ลูกรู้จักรักษาของมากขึ้น

 

การสอนให้ลูกออมเงินนั้นไม่ยากเลยใช่ไหมคะ เพียงแค่คุณพ่อ คุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดูลูกก็จะค่อยๆ ซึมซับการเป็นนักออมตัวน้อยแล้วล่ะค่ะ