โรคภูมิแพ้คืออะไร
โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเป็นระบบกลไกที่มีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก เช่น เชื้อโรคต่าง ๆ สารเคมี ฝุ่น พืช ละอองเกสร ขนสัตว์ เป็นต้น มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้มากกว่าปกติหรือไวเกินกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น อาการแพ้นี้อาจเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ เช่น มีอาการจาม คัดจมูก มีน้ำมูก ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการตอบสนองมากกว่าปกติของทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งแต่จมูกจนถึงหลอดลมส่วนต้น ที่เราเรียกว่าโรคแพ้อากาศ หรือหลอดลมมีอาการหดเกร็งตัวมากกว่าปกติทำให้เกิดเป็นโรคหอบหืดขึ้น นอกจากนี้โรคภูมิแพ้ยังรวมไปถึงโรคลมพิษ การแพ้อาหาร การแพ้แมลงต่อย การแพ้หรืออักเสบทางผิวหนังและการแพ้แบบเฉียบพลัน
ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าอัตราการกระจายของโรคภูมิแพ้ที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะโรคหอบหืดและโรคแพ้อากาศมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไทย จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2533 พบอัตราการกระจายของโรคหอบหืดในเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯมหานครเท่ากับร้อยละ 4.2 และอัตราการกระจายของโรคแพ้อากาศในเด็กกลุ่มเดียวกัน เท่ากับร้อยละ 20 จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2538 พบอัตราการกระจายของโรคหอบหืดเท่ากับร้อยละ 13 และโรคแพ้อากาศเท่ากับร้อยละ 40 คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 3 เท่าสำหรับโรคหอบหืดและ 2 เท่าสำหรับโรคแพ้อากาศ ในประชากรผู้ใหญ่ถึงแม้ยังมีการศึกษาน้อยอยู่ แต่ก็เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับประชากรเด็กเช่นกัน คงต้องยอมรับว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนอย่างมาก
โรคภูมิแพ้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้ แต่เราทราบว่าโรคนี้มีส่วนถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เราพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยประมาณร้อยละ 30 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ถึงประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีประวัติในบิดามารดา ซึ่งอาจเกิดโรคเพียงประมาณร้อยละ 13 ดังนั้นผู้ที่มีญาติใกล้ชิดเช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคภูมิแพ้ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่ตัวเองจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับว่าคนผู้นั้นได้ไปสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ หรือไม่ ซึ่งสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้พอจะแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็นสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น สารจากไรฝุ่นซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญที่สุดทั่วโลก สารก่อภูมิแพ้ในบ้านอื่น ๆ ได้แก่ ฝุ่นบ้าน สะเก็ดจากแมลงสาบ สารจากขนแมว, ขนสุนัข สปอร์จากเชื้อราต่าง ๆ สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสรดอกไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้า วัชพืช และสปอร์จากเชื้อรานอกบ้าน เป็นต้น สารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพ เช่น ละอองจากถั่วเหลืองที่รั่วจากปล่องเก็บ ซึ่งเคยก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคหอบหืดที่เมืองบาเซโลนาในประเทศสเปน ในปี พ.ศ. 2532 ฝุ่นจากใยผ้า เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม นุ่น ฝุ่นจากโรงงาน นอก จากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการของโรคโดยตรง แต่ช่วยส่งเสริมให้หลอดลมที่อักเสบอยู่แล้วเกิดการหดตัวและบวมยิ่งขึ้น เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส การสูบบุหรี่ มลภาวะของอากาศที่เป็นพิษต่อทางเดินหายใจ เช่น มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ มลพิษจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์, เป็นต้น
กลไกหลักของการเกิดอาการแพ้เกิดจากการที่ร่างกายได้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งครั้งหนึ่งร่างกายของเราเคยได้รับมาก่อนและจดจำเอาไว้ พอได้รับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นอีก สารนั้นจะทำปฏิกิริยากระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียก mast cell ที่มีภูมิคุ้มกันเฉพาะชนิดหนึ่งที่เรียก IgE ปล่อยสารเคมีชนิดที่ทำให้อวัยวะต่างเกิดอาการภูมิแพ้ออกมา สารเคมีหลักที่ถูกหลั่งออกมาเรียกว่า ฮีสตามีน (Histamine) ในโรคแพ้อากาศ สารนี้จะไปทำให้เยื่อบุในโพรงจมูก บวม มีสารคัดหลั่งออกมาเป็นน้ำมูก หรือในโรคลมพิษ สารนี้ก็จะไปทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม ตามผิวหนังขึ้น เป็นต้น
โรคแพ้อากาศคืออะไร
โรคแพ้อากาศเป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุจมูกมีการอักเสบ มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล จามและคันจมูก โดยเกิดขึ้นจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรัง อาการจะเป็นมากตอนเช้า ๆ เกือบทุกวัน เนื่องจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ในระหว่างที่นอนหลับตลอดทั้งคืน ที่สำคัญที่สุดคือ สารจากตัวไรฝุ่น ไรฝุ่นเป็นแมลงขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไรฝุ่นชอบอาศัยอยู่ในที่นอน หมอน หมอนข้าง ผ้าห่มนวม พรม ไรฝุ่นต้องการความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสมในการเจริญเติบโต อาหารที่สำคัญสำหรับไรฝุ่นได้แก่ สะเก็ดผิวหนังจากมนุษย์ ไรฝุ่นจะวางไข่วันละ 20-50 ฟองและสามารถเพิ่มจำนวนเป็น 2 เท่า ใน 3 เดือน สารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้แก่สารที่อยู่ในอุจจาระของไรฝุ่นที่ตกสะสมอยู่บริเวณหมอนและที่นอนเป็นจำนวนมาก เมื่อเราพลิกตัวไปมาบนที่นอนจะทำให้สะเก็ดดังกล่าวฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ และหลังจากที่สูดหายใจเอาสะเก็ดอุจจาระของไรฝุ่นเข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการแพ้ทางจมูก ได้แก่ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และอาการแพ้ที่ปอด ได้แก่ ไอ หอบ หายใจลำบาก และมีเสมหะมากขึ้นได้ มีการศึกษาพบว่า หลังจากที่ลดจำนวนไรฝุ่นในห้องนอนลงแล้ว อาการของโรคภูมิแพ้ในผู้ป่วยจะลดลงได้มาก
โรคลมพิษคืออะไร
โรคลมพิษ เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้ถึงร้อยละ 15-30 ของประชากร ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น แดง คัน บางครั้งมีบวมด้วย เกิดขึ้นตามตัวและแขนขา มักขึ้นตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ แต่อาจขึ้นเวลาใดก็ได้ ผื่นจะค่อย ๆ จางไปเอง อาการผื่นแดงและคันมักไม่อยู่นานเกิน 1 วัน อาจเป็นทุกวันหรือขึ้นเป็นบางวันก็ได้ ถ้าเกิดขึ้นทุกวันเกิน 6 สัปดาห์เราจัดเป็นลมพิษชนิดเรื้อรัง สาเหตุของโรคลมพิษ อาจเกิดจากการแพ้สารบางอย่าง อาหาร สารเคมี การติดเชื้อบางชนิด เช่น พยาธิ โรคแพ้ภูมิบางอย่าง แต่ส่วนมากไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าแพ้อะไร
การแพ้อาหาร เป็นอย่างไร จะป้องกันได้อย่างไร
การแพ้อาหาร หมายถึง อาการผิดปกติของร่างกายที่เกิดจากปฏิกิริยาไวเกินของภุมิคุ้มกันของร่างกาย หลังจากการรับประทานอาหาร สิ่งปนเปื้อนหรือสารปรุงแต่งอาหาร อาการที่พบบ่อยที่สุดจะเป็นอาการทางเดินอาหาร เช่น คัน บวมในคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเสีย อาการที่พบรองลงมาคือ อาการทางผิวหนัง ได้แก่ มีผื่นขึ้น แดง คัน บวม หรือเป็นลมพิษเฉียบพลัน นอกจากนั้นอาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ การแพ้อาหารส่วนใหญ่เกิดจากการได้สารโปรตีนแปลกปลอม, โดยการรับประทาน เช่น นมวัว ไข่ อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู ดังนั้นการเลี่ยงอาหารที่แพ้จึงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด อาการแพ้อาหารอาจหายไปได้หลังจากหลีกเลียงอาหารที่แพ้ระยะหนึ่ง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราแพ้อะไร
วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับผู้ป่วยคือการสังเกตด้วยตนเองว่าแพ้อะไร โดยสถิติพบว่าสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ ฝุ่นบ้าน ฝุ่นแมลงสาบ ตัวไรในฝุ่นบ้าน ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ ละอองเกสรดอกหญ้าหรือวัชพืช เชื้อรา อาหารบางชนิด ซึ่งที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ อาหารทะเลจำพวกกุ้ง ปู หอย แมงกะพรุน นมวัว ไข่ขาว ข้าวสาลี ถั่วต่าง ๆ หน่อไม้ เนื้อวัว เครื่องดื่มจำพวกแอลกอฮอล์ อาหารที่มีเชื้อราหรือทำจากการหมักดอง เช่น ปลาร้า กะปิ ข้าวหมาก แหนม เบียร์ เห็ด ขนมปัง น้ำส้มสายชู ขนมจีน เป็นต้น
อาหารที่แพ้ บางชนิดเป็นส่วนผสมในอาหารหลายรูปแบบ เช่น นม ไข่ มีอยู่ในพวกขนมเด็ก ขนมปัง ดังนั้นผู้ที่แพ้ไข่แม้จะไม่ได้รับประทานไข่ต้ม ไข่ดาว ไข่เจียว แต่ไม่ได้หลีกเลี่ยงบะหมี่ ขนมเค้ก มักกะโรนี ก็ยังอาจมีอาการแพ้อยู่ได้อีก ผู้ป่วยที่แพ้อาหารจึงควรรู้จักส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาหารที่รับประทานด้วยว่า มีอาหารที่แพ้ปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ ทำจากการหมักดองหรือไม่ และควรหลีกเลี่ยงเสีย
อย่างไรก็ตาม การสังเกตอาหารที่แพ้ อาจทำได้ไม่ง่ายนักในบางกรณี เพราะอาหารบางอย่าง ร่างกายอาจไม่แสดงปฏิกิริยาทันที บางครั้งอาจแสดงอาการสามวัน เจ็ดวัน ให้หลัง ทำให้ลืมไปแล้วว่ารับประทานอาหารเข้าไป ดังนั้น หากจะให้รู้แน่ว่าแพ้อะไร ให้หยุดอาหารตัวที่สงสัยไว้ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน จากนั้นทดลองรับประทานดูใหม่ ถ้ามีอาการแพ้ก็ให้สงสัย และหลีกเลี่ยงเสีย
หลักการรักษาโรคภูมิแพ้ เป็นอย่างไร
เนื่องจากโรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องใช้เวลาในการรักษานาน การรักษาที่สำคัญที่สุด จะเริ่มตั้งแต่การสืบค้นให้ได้แน่ชัดว่าแพ้อะไร จากประวัติของผู้ป่วย จากการทำการทดสอบทางผิวหนัง และการตรวจเลือด จะทำให้แพทย์พอจะทราบว่าสารก่อภูมิแพ้คืออะไร เพราะหลักการรักษาที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดคือหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้นั้น ในกรณีที่ทราบแต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ได้เต็มที่ เช่น ไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยยารักษาภูมิแพ้ตามที่แพทย์แนะนำ ซึ่งยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม เช่น
– ยาต้านสารฮีสตามีน (anti-histamine) ยากลุ่มนี้เป็นที่นิยมใช้มากที่สุด ปัจจุบันมีหลายชนิด มีทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้น ๆ ราว 4-6 ชั่วโมง ต้องรับประทานวันละ 4 ครั้ง หรือชนิดที่ออกฤทธิ์ยาว 12 ชั่วโมงหรือ 24 ชั่วโมง รับประทานวันละ 1-2 ครั้งก็พอ ยาในกลุ่มต้านสารฮีสตามีนนี้มักก่อให้เกิดอาการง่วงนอน ดังนั้นหลังจากกินยากลุ่มนี้จึงไม่ควรขับรถยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมียาต้านสารฮีสตามีนใหม่ ๆ หลายชนิดที่ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องง่วงนอนหรือมีน้อย แต่ราคามักแพงกว่ายาในกลุ่มที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน
– ยาลดอาการคั่งของจมูก ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดในจมูกหดตัว ทำให้น้ำมูกลดลง จมูกโล่ง ไม่คัดจมูก แต่ข้อเสียของยากลุ่มนี้คืออาจทำให้คอแห้ง กระวนกระวายใจสั่น นอนไม่หลับ ในคนสูงอายุอาจทำให้โรคหัวใจกำเริบ ปัสสาวะไม่ออกหรือตาต้อหินกำเริบได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังตามคำแนะนำของแพทย์ ยาในกลุ่มนี้มีทั้งชนิดกินและชนิดพ่นจมูก สำหรับยาชนิดพ่นไม่ควรใช้นานเกิน 7 วัน มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดอาการติดยาและคัดจมูกมากกว่าเดิม เกิดเป็นภาวะจมูกอักเสบเรื้อรังจากยาได้ จึงไม่ควรซื้อมาใช้เองอย่างเด็ดขาด
– ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดอาการอักเสบของเยื่อบุจมูก และลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ที่บริเวณเยื่อบุจมูกโดยไม่ก่อให้เกิดอาการติดยาเหมือนกลุ่มที่แล้ว แต่ควรใช้ภายใต้ความควบคุมของแพทย์เท่านั้น
การรักษาด้วยการฉีดยาภูมิแพ้ เป็นวิธีการรักษาภูมิแพ้ โดยอาศัยหลักการที่ว่าเมื่อฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย โดยค่อย ๆ เพิ่มขนาดอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานาน ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ทำให้ทนต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ๆ ได้ดี โรคภูมิแพ้ชนิดที่รักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลคือ โรคแพ้อากาศ และโรคหอบหืดจากภูมิแพ้ ส่วนโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ เช่น ลมพิษ แพ้อาหาร ผิวหนังอักเสบ การรักษาด้วยการฉีดสารภูมิแพ้จะได้ผลไม่แน่นอน
จะมีแนวทางในการปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อเป็นโรคภูมิแพ้
ก่อนอื่นผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ว่า
– โรคภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน
– การรักษาด้วยยาในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเพียงการควบคุมอาการให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยที่สุดเท่านั้น
– เมื่อได้รับการรักษา อาการจะดีขึ้น แต่มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ อาการอาจดีขึ้น หรือไม่มีอาการไปพักใหญ่ ๆ แล้วอาจมีอาการกลับมาเป็นอีกได้
– อาการ ของโรคนี้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารก่อภูมิแพ้ และปฏิกิริยาในร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน
– โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบขึ้น หรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งควรพยายามไม่ให้เกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่
– ความเครียด และความวิตกกังวล ไม่ว่าจากเรื่องงาน ครอบครัว หรืออื่นๆ ยิ่งเครียดมาก วิตกกังวลมาก อาการก็จะเป็นมากขึ้น
– การอดหลับอดนอน ภาวะที่ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้อาการกำเริบขึ้น
– การเปลี่ยนอุณหภูมิที่เร็วเกินไป เช่นอยู่ในห้องปรับอากาศเย็น ๆ แล้วออกไปกลางแดด แล้วกลับเข้าในห้องเย็น ๆ อีก จะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิตามไม่ทัน จะเกิดอาการคัดจมูกได้
– การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ร้อนจัด หนาวจัด ความชื้นสูง ฝนใกล้ตก เหล่านี้ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารภูมิแพ้มากขึ้น ทำให้อาการกำเริบได้ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจต้องรับประทานยาแก้แพ้ป้องกันไว้ก่อน
– สิ่งระคายเคืองต่าง ๆ ได้แก่ ควันไฟ ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอม ฝุ่นชอล์ค กลิ่นสี กลิ่นอาหารรสเผ็ด ควันท่อไอเสียรถยนต์ สารระเหยต่าง ๆ ยากันยุง ยาฆ่าแมลง เป็นต้น สิ่งระคายเคืองพวกนี้จะทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยง
– ภาวะติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะที่พบบ่อยที่สุด คือ ไข้หวัด ควรรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ
นอกจากการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้โดยตรง เท่าที่จะทำได้แล้ว ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สามารถช่วยตัวเองได้โดย พยายามจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน และในห้องนอนให้เสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้น้อยที่สุดดังนี้
ห้องนอน
– ควรมีสิ่งของเครื่องเรือนให้น้อยที่สุดเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อที่จะได้ทำความสะอาดและกำจัดฝุ่นได้ง่าย ไม่ควรมีกองหนังสือเก่า ๆ เสื้อผ้าเก่า ๆ ตุ๊กตาขนสัตว์ ตุ๊กตาสักหลาด ของเล่นหรือเครื่องใช้ที่ไม่ใช้แล้ว สิ่งของเครื่องเรือนควรเป็นพวกไม้ โลหะ พลาสติก หรือวัสดุที่เช็ด ซัก ล้างได้สะอาด การมีสิ่งของและเครื่องเรือนจำนวนมาก จะทำให้เกิดซอกมุมหรือที่อับเป็นแหล่งสะสมฝุ่น ทำความสะอาดยาก
– พรมและผ้าม่านไม่ควรใช้เพราะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น
– ไม่ใช้ฟูก ที่นอน หมอน หรือหมอนข้างที่ยัดไส้ด้วยนุ่น เพราะนุ่นเป็นที่อยู่ของไรฝุ่น ควรใช้ชนิดที่ทำจากยาง หรือฟองน้ำ หากต้องใช้ที่นอนที่ยัดไส้ด้วยนุ่น ก็ควรหุ้มด้วยพลาสติกก่อน
– เตียงนอน ควรเป็นแบบไม่มีขา ขอบเตียงทึบสนิทกับพื้นห้อง เพื่อกันไม่ให้ฝุ่นจัดใต้ขอบเตียง
– พื้นห้องควรเป็นพื้นขัดมัน เพราะกำจัดฝุ่นได้ง่าย
– ที่นอน หมอน มุ้ง ควรได้รับการตากแดดจัด ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อฆ่าตัวไร
– ผ้าห่ม ไม่ควรใช้ประเภทขนสัตว์ ผ้าสักหลาด ผ้าสำลี ควรใช้ผ้าห่มที่ทำจากใยสังเคราะห์
– ไม่ควรใช้เครื่องใช้ที่มีกลิ่นในห้องนอน อาทิ โคโลญจน์ น้ำหอม ลูกเหม็น สเปรย์กลิ่นต่าง ๆ เพราะเป็นตัวระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ทำให้แพ้ได้ง่ายขึ้น
– เครื่องปรับอากาศช่วยให้ละอองฝุ่น เกสร และเชื้อราจากภายนอนบ้านเข้ามาในห้องนอนน้อยลง โดยเฉพาะในรุ่นที่มีระบบกรองอากาศ อย่างไรก็ตาม ความเย็นจากเครื่องปรับอากาศอาจกระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้มากขึ้นได้ หากใช้เครื่องปรับอากาศต้องปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ อย่าให้เย็นจัดเกินไป และต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องเป็นประจำ โดยเฉพาะส่วนกรองอากาศซึ่งมักจะมีฝุ่นจับอยู่เป็นจำนวนมาก
– พัดลม ไม่ควรเปิดแรง หรือเป่าตรงตัวผู้ป่วย และไม่ควรเป่าลงพื้น เพราะจะเป็นการเป่าฝุ่นให้เข้าจมูกมากขึ้น อาการภูมิแพ้จะกำเริบได้ง่าย
ห้องอื่น ๆ
– พยายามจัดห้องให้โล่ง สะอาด ไม่มีฝุ่น ไม่เป็นที่เก็บสะสมเสื้อผ้าเก่า ๆ หนังสือเก่า ๆ
กองเอกสาร ของเล่น หรือของที่ไม่ใช้แล้วทั้งหลาย อันจะเป็นที่อยู่ของแมลงสาบ
แมลงอื่น ๆ รวมทั้งฝุ่นด้วย
– เอกสารในห้องทำงานหรือบนโต๊ะทำงาน ควรจัดเก็บให้เป็นระเบียบ ไม่ให้เป็นที่เก็บฝุ่น
– ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน ถ้าอยากเลี้ยงจริง ๆ แนะนำให้เลี้ยงปลาเท่านั้น
– ไม่ควรปลูกต้นไม้ในบ้าน โดยเฉพาะไม้ดอก นอกจากนี้กระถางดอกไม้ที่อับชื้นจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อราได้
– ควรจัดบ้านให้อากาศถ่ายเทได้ดี และแสงแดดส่องถึง
– ควรหาทางกำจัดแมลงภายในบ้าน โดยเฉพาะแมลงสาบ เพราะซากและอุจจาระของแมลงสาบเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ
การทำความสะอาด
– หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องผจญกับฝุ่น เช่น การดูดฝุ่นบ้าน การปัดกวาดบ้าน ปัดกวาดหยักไย่ การดูดฝุ่นรถยนต์ และไม่ควรอยู่ในที่ที่กำลังทำความสะอาดดังกล่าว
– หากจำเป็นต้องทำความสะอาดเอง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำ บิดให้หมาด ๆ ปิดปากและจมูกไว้เสมอ และกินยาแก้แพ้ประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนทำงาน
– เมื่อกวาดฝุ่นแล้ว ควรเช็ดถูด้วยผ้าชุปน้ำหมาด ๆ อีกครั้งหนึ่งเสมอ
– ควรนำสิ่งของที่มีฝุ่นจับไปทำความสะอาดนอกบ้านเพื่อมิให้ฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่ภายในบ้าน
การออกกำลัง
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง จะช่วยลดอาการภูมิแพ้ลงได้ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย การออกกำลังกายอาจกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้กำเริบได้เช่นกัน หากสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
น.พ. กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
http://pts.mahidol.ac.th/th/dpt/MD/know11-air-02