เปล้าน้อย สมุนไพรไทย พร้อมสรรพคุณและประโยชน์


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton stellatopilosus Ohba
ชื่อพ้อง : Croton sublyratus Kurz
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : เปล้าท่าโพ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้น สูง 1 – 4 เมตร ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปใบหอกกลับ กว้าง 4 – 6 ซม. ยาว 10 – 15 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง และที่ปลายกิ่ง ดอกช่อย่อยขนาดเล็ก แยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน กลีบดอกสีนวล ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู

สรรพคุณของเปล้าน้อย

  1. เปล้าน้อย สรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ,เปลือก)
  2. ช่วยแก้เลือดร้อน (เปลือกและกระพี้)
  3. ช่วยรักษาอาการไอ (ใบ,แก่น,ดอก,เปลือก)
  4. สรรพคุณเปล้าน้อย ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ใบ,ราก)
  5. ช่วยขับเสมหะ (ใบ,แก่น,ดอก,เปลือก)
  6. ช่วยกระจายลม (แก่น)
  7. รากมีรสร้อน สรรพคุณช่วยแก้ลมขึ้นเบื้องบนให้หายเป็นปกติ (ราก)
  8. เปลือกต้นมีรสร้อน ช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกต้น,กระพี้)
  9. ช่วยรักษาโรคท้องเสีย (เปลือกและใบ)
  10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มขณะอุ่น ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (ราก, ใบ)
  11. ใบ ใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีสาร “เปลาโนทอล” (Plaunotol) ที่มีฤทธิ์ลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะน้อยลง และทำให้ระบบป้องกันการดูดซับกรดของเนื้อเยื่อบุกระเพาะที่ถูกทำลายจากสาร บางชนิด ให้กลับคืนปกติ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุในลำไส้ที่เสียไป ทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้นขึ้น และมีฤทธิ์ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ได้เป็นอย่างดี โดยสารชนิดนี้ควรใช้ครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ จะทำให้อาการดีขึ้นถึง 80-90% แต่อาจมีอาการค้างเขียงบ้าง แต่ก็น้อยรายนัก และมีความเป็นพิษต่ำ คือ อาจมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง แน่นท้อง ท้องผูก มีผื่นขึ้น เป็นต้น โดยสาร Plaunotol จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี แต่ส่วนใหญ่จะถูก Oxidise ในตับ และจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและทางอุจจาระ ซึ่งผลจากการทดสอบฤทธิ์ของเปลาโทนอลในคนไข้โรคกระเพาะที่มีแผลในกระเพาะ อาหาร (ผลขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ได้ผลว่า คนไข้จำนวน 8 ใน 10 คน หลังได้รับยาเปลาโนทอลเข้าไป แผลในกระเพาะอาหารจะหายสนิทภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ (ใบ)
  12. ช่วยขับผายลม (ราก)
  13. เปล้าน้อย สรรพคุณทางยาใช้เป็นยาขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ (ดอก) ช่วยแก้พยาธิต่างๆ (ใบ,ราก)
  14. ช่วยขับไส้เดือน (แก่น)
  15. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ,ราก)
  16. ช่วยบำรุงโลหิตประจำเดือนของสตรี (ใบ,เปลือกและใบ)
  17. ลูกใช้ดองสุรากินเป็นยาขับโลหิตระดูในเรือนไฟ (เข้าใจว่าเป็นผล)
  18. ช่วยขับโลหิต (แก่น)
  19. ช่วยรักษาแผล สมานแผล (ใบ,แก่น,ดอก,เปลือก)
  20. ช่วยแก้โรคน้ำเหลืองเสีย (ผล)
  21. ผลมีรสร้อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับหนองให้กระจาย (ผล)
  22. ช่วยขับเลือดหนองให้ตก (แก่น)
  23. ช่วยแก้อาการคันตามตัว (ใบ,ราก)
  24. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน (ใบ,ราก,เปลือกและใบ)
  25. ช่วยรักษามะเร็งเพลิง (ใบ,ราก)[2]
  26. แก่นมีรสร้อน มีสรพคุณช่วยแก้อาการช้ำใน (แก่น)

ประโยชน์ของเปล้าน้อย

  1. ใบ เปล้าน้อยสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ด้วยการทานร่วมกับน้ำพริก หรือจะใช้ใบสดนำมาขงเป็นชาสมุนไพรดื่มก็ได้เช่นกัน แต่ยังมีข้อจำกัดก็คือ ใบเปล้าน้อยมีรสขมมาก อีกทั้งปริมาณของสารเปลาโนทอลก็มีอยู่ค่อนข้างต่ำ จึงใช้รับประทานครั้งละมากๆ ไม่ได้ และไม่เพียงพอต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเฉียบพลัน เหมือนกับการใช้ยาเปลาโนทอลแบบสำเร็จรูป แต่ทั้งนี้สามารถใช้รับประทานเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพระยะยาวได้ เนื่องจากจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง ลดอาการกำเริบของโรค ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น[4]
  2. สมุนไพรเปล้าน้อย ใบและรากใช้สามารถนำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะได้ โดยใบเปล้าน้อยสามารถนำไปสกัดเป็นยา “เปลาโนทอล” (Plaunotol) หรือยารักษาโรคกระเพาะ โดยจะเริ่มเก็บใบได้เมื่อต้นมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งในหนึ่งปีจะสามารถเก็บผลผลิตจากต้นเดิมได้แค่ 3 ครั้ง ถ้ามีการบำรุงดูแลที่ดี สำหรับวิธีการเก็บก็คือการตัดช่อใบจากส่วนยอดของแต่ละกิ่ง โดยนับจากปลายยอดลงมาไม่เกินใบที่ 10 หรือยาวไม่เกิน 6 นิ้ว เมื่อเก็บใบมาได้ก็นำมาผึ่งในร่มจนแห้ง แล้วนำไปบรรจุในภาชนะส่งโรงงาน เพื่อใช้ผลิตเป็นยาเปลาโนทอลในรูปเม็ดสำเร็จ แบบซอง หรือแบบแคปซูลซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่าย[2],[4],[5]

วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบ หรือรากสด ตำให้ละเอียด ใช้น้ำคั้นที่ออกมาทาบริเวณที่เป็น

หมายเหตุ : สารเปลาโนทอลมีอยู่เกือบทุกส่วนของต้นเปล้าน้อย แต่มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยส่วนที่มีสารเปลาโนทอลสูงสุดคือส่วนของใบที่อยู่บริเวณปลายช่อที่ได้รับ แสงแดด และใบที่แก่จะมีสารเปลาโนทอลน้อยกว่าใบอ่อน ดังนั้น ถ้าจะเก็บมาใช้เองก็ควรเด็ดเอาเฉพาะใบอ่อนที่อยู่ปลายยอดในช่วงความยาว ประมาณ 5-6 นิ้วเท่านั้น และไม่ต้องเอาก้าน