โทงเทง สมุนไพรไทย

โทงเทง สมุนไพรไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Physalis angulata L.
ชื่อสามัญ : Hogweed, Ground Cherry
วงศ์ : SOLANACEAE
ชื่ออื่น : ต้อมต๊อก บาตอมต๊อก (เชียงใหม่) ตะเงหลั่งเช้า (จีน) ปุงปิง (ปัตตานี) ปิงเป้ง (หนองคาย)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นอวบน้ำเปลือกเกลี้ยงสีเขียว โคนสีม่วงแดงและสีค่อย ๆ จางลงเป็นสีเขียวใสเป็นเหลี่ยม ยอดเป็นสีเขียวอ่อน ลำต้นสูงประมาณ 25 – 50 เซนติเมตร สูงเต็มที่ 120 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขา ใบ เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับออกตามข้อ ๆ ละใบ มีก้านยาว 2 – 3 เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบพริก รูปหอกป้าน ปลายแหลมและขอบใบเรียบ ใบกว้าง 3 – 4 เซนติเมตร ยาว 4 – 7 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบ 5 – 7 คู่ ดอก ออกระหว่างก้านใบกับลำต้น ดอกเล็กคล้ายดอกพริก แต่กลีบดอกสั้นและแข็งกว่า ดอกตูมทรงรีปลายแหลม เวลาบานเป็นรูปแตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 – 2 เซนติเมตร กลีบดอกชั้นในมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกชั้นนอกหรือกลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อน จำนวน 5 กลีบ ซึ่งจะเจริญเติบโตขยายตัวหุ้มผลภายในไว้หลวม ๆ ทำให้ดูเสมือนว่าผลพอง ออกดอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ผล ผลโทงเทงมีกลีบดอกชั้นนอกหุ้มเหมือนโคมจีนสีเขียวอ่อนมีลายสีม่วง ผลภายในมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผลกลมใสมีสีเขียวอ่อน และเมื่อสุกกลายเป็นสีเหลือง เมล็ด ในผลมีเมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก รูปกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2 – 0.3 มิลลิเมตร มีเมือกหุ้มคล้ายมะเขือเทศจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ราก เยื่อหุ้มผลแห้ง

สรรพคุณ :

ทั้งต้น – รักษาดีซ่าน ไอหืดเรื้อรัง แผลมีหนอง เจ็บคอ

ราก – ใช้ขับพยาธิ รักษาโรคเบาหวาน

วิธีและปริมาณที่ใช่

ยารักษาโรคหืด
ใช้ทั้งต้นแห้ง 1/2 กิโลกรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลกรวดลงไปให้หวาน รับประทานครั้งบะ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเป็นเวลา 10 วัน หยุดยา 3 วัน รับประทานต่อไปอีก 10 วัน พักอีก 3 วัน แล้วรับประทานต่อไปอีก 10 วัน หอบหืดจะได้ผลดี
ข้อควรระวัง – ในการรับประทานสมุนไพรโทงเทงนี้ใน 1-5 วันแรก บางคนอาจมีอาการอึดอัด เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด หลังจากนั้นอาหารเหล่านี้จะหายไปเอง

ยารักษาแผลในปาก เจ็บคอ
– ใช้เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้วหนัก 10 กรัม เปลือกส้ม 6 กรัม ต้มกับน้ำผสมน้ำตาลกรวดพอหวานเล็กน้อย ใช้ดื่มต่างน้ำ
– ใช้ทั้งต้น ตำละลายกับสุรา เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้างแก้ม กลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ (ต่อมทอนซิล) แก้ฝีในลำคอ (แซง้อ) หรือ ละลายกับน้ำส้มสายชูก็ได้ แก้ความอักเสบในลำคอได้ดีมาก
ใช้ภายใน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ภายนอก แก้ฟกบวมอักเสบ ทำให้เย็น

ยาขับพยาธิ รักษาโรคเบาหวาน
ใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน

สรรพคุณของโทงเทง

  1. ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)
  2. รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ราก)
  3. ต้นตลอดจนถึงราก มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ทั้งต้น)
  4. ใช้รักษาคางทูม (ทั้งต้น)
  5. ใช้แก้หวัดแดด ไอร้อนในปอด (ทั้งต้น)
  6. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ด้วยการใช้ทั้งต้นแห้ง 1/2 กิโลกรัม นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลกรวดลงไปเพิ่มความหวานเล็กน้อย โดยให้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน และให้หยุดยา 3 วัน หลังจากนั้นให้รับประทานต่อไปอีก 10 วัน แล้วก็พักอีก 3 วัน แล้วค่อยรับประทานต่อไปอีก 10 วัน อาการของหอบหืดจะดีขึ้น (ทั้งต้น)
  7. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยรักษาไอหืดเรื้อรัง (ทั้งต้น)
  8. ช่วยแก้เหงือกบวม ด้วยการใช้โทงเทง 25 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)
  9. ใช้เป็นยารักษาแผลในปาก ด้วยการใช้เยื่อหุ้มผลแห้งที่ที่อาเมล็ดออกแล้วหนัก 10 กรัม และเปลือกส้ม 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมน้ำตาลกรวดให้พอหวานเล็กน้อย แล้วใช้ดื่มต่างน้ำ (เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้ว)
  10. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ด้วยการใช้โทงเทง 25 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)
  11. ใช้คออักเสบ แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า ใช้สำลีชุมน้ำยาอมไว้ข้างแก้ม แล้วกลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย จะช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือจะละลายกับน้ำส้มสายชูก็ได้ จะช่วยแก้อาการอักเสบในลำคอได้ดีมาก (ทั้งต้น)
  12. ช่วยรักษาโรคคอตีบ (ทั้งต้น)
  13. ช่วยแก้ฝีในคอ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า ใช้สำลีชุบน้ำอมไว้ข้างแก้ม แล้วค่อยๆ กลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย (ทั้งต้น)
  14. ใช้แก้เสมหะเป็นสีเหลือง (ทั้งต้น)
  15. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ โดยใช้ต้นสด 150 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน (ทั้งต้น)
  16. ใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้บิด ด้วยการใช้โทงเทง 35 กรัม นำมาต้มรับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 1-4 วัน (ทั้งต้น)
  17. รากใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)
  18. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะแสบร้อน (ทั้งต้น)
  19. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ทั้งต้น)
  20. ช่วยแก้ลูกอัณฑะร้อน (ทั้งต้น)
  21. เมล็ดใช้เป็นยาแก้การเป็นหมัน (เมล็ด)
  22. ทั้งต้นใช้ลดอาการบวมน้ำ (ทั้งต้น)
  23. ช่วยรักษาดีซ่าน (ทั้งต้น)
  24. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ทั้งต้น) ช่วยรักษาผิวหนังเป็นตุ่มหอง (ทั้งต้น)
  25. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฝี แก้ฝีหนอง (ทั้งต้น) บ้างว่าใช้ใบและผลเป็นยารักษาฝี (ใบ,ผล)
  26. ทั้งต้นใช้รักษาแผลมีหนอง (ทั้งต้น) บ้างว่าใช้ใบและผลทำเป็นยาทาแก้แผลเปื่อย (ใบ,ผล)
  27. ช่วยแก้อาการฟกบวม อักเสบ (ทั้งต้น)
  28. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้เล็บขบ (ทั้งต้น)