อุปมาโวหาร คืออะไร ?

อุปมาโวหาร คืออะไร สำนวนเปรียบเทียบ ระหว่างของ 2 สิ่ง

หากจะพูดถึงโวหารหรือสำนวนการเขียนสักประเภทที่ช่วยส่งเสริมให้เนื้อความที่ต้องการสื่อสารถึงผู้อ่านเด่นชัดมากขึ้น คงจะไม่นึกถึง “อุปมาโวหาร” ไม่ได้  “อุปมาอุปไมย” ถ้อยคำที่ใช้ในการเปรียบเทียบ เปรียบเปรย มีความพิเศษอย่างไร และเราสามารถใช้กลวิธีเหล่านี้ในการเขียนวรรณกรรม เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้น่าสนใจอย่างได้ยังไงบ้างนั้น ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านเรียนรู้ไปด้วยกัน

อุปมาโวหาร  คืออะไร

สำนักงานราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า “อุปมา” ไว้ว่า.. เป็นการเปรียบเทียบระหว่างของ 2 สิ่งที่ไม่ใช่ของชนิดเดียวกันหรือเรื่องเดียวกัน แต่มีลักษณะร่วมกัน

โดยหัวใจหลักของอุปมาคือทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ กล่าวคือ ของบางอย่างหรือเรื่องบางเรื่องที่เราไม่เห็นภาพ มองไม่ออก การเปรียบเทียบกับสิ่งหนึ่งที่ทำให้มีประสบการณ์ร่วมกับมันมากกว่า

ดังนั้น “อุปมาโวหาร” จึงหมายถึง สำนวนที่ใช้เปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า    “ เหมือน ”    เช่น   ดุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ  เปรียบ  ประดุจ  เฉก  เล่ห์  ปาน  ประหนึ่ง  เพียง  เพี้ยง  พ่าง  ปูน  ถนัด  ละหม้าย  เสมอ  กล  อย่าง  ฯลฯ  เพื่อให้เกิดความชัดเจน ด้านความหมาย ภาพพจน์ และเกิดอารมณ์ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น

โดยปกติแล้วอุปมาโวหารจะใช้เป็นโวหารเสริมของบรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจนน่าอ่านโดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ขึ้นอยู่กับอุปมาโวหารนั้นจะ นําไปเสริมโวหารประเภทใด

ซึ่งการเลือกยกตัวอย่างแต่ละครั้งควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความและบริบทอาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหาร หรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร

วิธีการเขียนเปรียบเทียบ  อุปมาโวหาร  มีอะไรบ้าง

  • เปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกัน 2 สิ่ง สามารถใช้คำว่า “เหมือน”, “ดุจ”, “คล้าย”, “เป็นตัวเชื่อม” ในการเปรียบเทียบสิ่งของ 2 สิ่งที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ดีใจเหมือนได้แก้ว  เล่าปี่ดีใจเหมือนปลาได้น้ํา
  • เปรียบเทียบโดยการโยงความคิดจากสิ่งหนึ่งไปอีกสิ่งหนึ่ง เป็นการเปรียบเทียบโดยนำความคิดหรือลักษณะจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและต้องใช้การตีความประกอบให้ชัดเจน   เช่น ครูเหมือนเรือจ้าง ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
  • เปรียบเทียบโดยการซ้ําคํา เช่น  จะมารักเหากว่าผม จะมารักลมกว่าน้ำ จะมารักถ้ำกว่าเรือน จะมารักเดือนยิ่งกว่าตะวัน จะมารักตัวออกเฒ่ายิ่งกว่าตัวเองเล่า
  • เปรียบเทียบโดยการยกตัวอย่างประกอบ  เช่น พระราชาหนึ่ง หญิงหนึ่ง ไม้เลื้อยหนึ่ง ย่อมรักผู้คนและสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ
  • เปรียบเทียบสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกัน เป็นการเปรียบเทียบสิ่งที่มีลักษณะตรงข้ามหรือขัดแย้งกัน เช่น  น้ำกับไฟ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
  • เปรียบเทียบโดยใช้ชื่อเทียบเคียง  เช่น ปากกามีอํานาจกว่าคมดาบ จากเปลไปถึงหลุมฝังศพ

การใช้อุปมาเพื่อเสริมความในโวหารประเภทต่าง ๆ ให้ได้ความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ เห็นภาพชัดเจน และถูกต้องจะต้องระวังการเปรียบเปรยเป็นพิเศษดังนี้

  1. ไม่อุปมาผิดพจน์ หมายถึง  ใช้คำเปรียบเทียบให้ถูกต้องและสอดคล้องกับเนื้อหา เช่น ตาของหล่อนวาววามราวกับหมู่ดาวในท้องฟ้า
  2. ไม่อุปมาผิดเพศ  เช่น เขาเป็นชายหนุ่มที่ไร้ค่าเหมือนดอกหญ้า
  3. ไม่อุปมาเกินตัว  หมายถึง การไม่ใช้คำเปรียบเทียบเกินกว่าความเป็นจริง ควรมีความสมเหตุสมผล   เช่น หิ่งห้อยสว่างราวดวงจันทร์
  4. ไม่อุปมาต่ำช้า หมายถึง การไม่ลดทอนคุณค่า เปรียบเทียบกับบุคคลหรือสิ่งของที่กล่าวถึง  เช่น ข้าจงรักภักดีต่อเจ้าเหมือนสุนัขจงรักนาย

อุปมาโวหารตัวอย่าง

“อันว่านายช่างผู้เชี่ยวชาญ ก่อสร้างประสาทมโหฬารย่อมเพิ่มรูปศิลา จาหลักไว้ในที่ สมควรตามทำนองมิใช่จะเป็นเครื่องประดับเท่านั้น แต่ยังใช้ประโยชน์รองรับหรือค้ำจุนที่บางแห่งนั้นไว้ด้วย ข้อความนี้อุปมาฉันใด พระศาสดาในบางคราวย่อมทรงชักเอาเรื่องเปรียบเทียบเป็นภาษิตที่น่าฟังและ สมด้วยกาลสมัยขึ้นแสดงก็อุปมาฉันเดียวกัน”
(เสถียรโกเศศ และนาคะประทีป: กามนิต)

“อันสติปัญญาขงเบ้งรู้ตาราเรียกลมในอากาศหาผู้ใดเสมอมิได้ อุปมาดังจะนับดาวในท้องฟ้า และหยั่งพระมหาสมุทร อันลึกได้ ครั้นเอาขงเบ้งไว้สืบไปภายหน้าเมืองกังตั๋งก็จะเป็นอันตราย จำจะคิดอ่านฆ่าเสีย เมืองเราจึงจะมีความสุขสืบไป”
(เจ้าพระยาพระคลังหน : สามก๊ก)

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก  digitalschool

 

สรุป

สำนวนที่ใช้ในการเปรียบเทียบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง หรือ “อุปมาโวหาร” คือโวหารเสริมของบรรยายโวหาร พรรณานาโวหาร และเทศนาโวหาร ช่วยทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้เนื้อความของโวหารเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้น ผู้อ่านเข้าใจสารที่ต้องการสื่อมากขึ้น โดยการใช้สำนวนเปรียบเทียบในโวหารแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อความที่ต้องการสื่อนั่นเอง

อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบสิ่งต่าง ๆ จำเป็นต้องเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบแบบไม่เกินความเป็นจริงมากจนเกินไป หรือไม่ด้อยค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อสื่อความหมายอย่างชัดเจนและสื่อความรู้สึกได้อย่างตรงจุด เพื่อให้ข้อความดูน่าสนใจและมีความคล้ายคลึงกับประสบการณ์ของผู้อ่านมากยิ่งขึ้น