MQ คืออะไร ? ความฉลาดศีลธรรม จริยธรรม

Moral Quotient หรือ ความฉลาดศีลธรรม จริยธรรม

เมื่อพูดถึงความฉลาดด้านต่าง ๆ หลัก ๆ ทุกคนคงจะนึกถึง IQ หรือ Intelligent Quotient ( ความฉลาดทางด้านสติปัญญา ) และ EQ หรือ Emotional Quotient (ความฉลาดทางด้านอารมณ์  กันใช่ไหมคะ แต่ความจริงแล้ว Quotient หรือความฉลาดด้านต่าง ๆ นั้นไม่ได้มีแค่ IQ กับ EQ เท่านั้น แต่ยังมีความฉลาดด้านอื่น ๆ อีกด้วยนั่นก็คือ

  • CQ หรือ Creativity Quotient ( ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ )
  • AQ หรือ Adversity Quotient ( ความฉลาดในการแก้ปัญหา )
  • MQ หรือ Moral Quotient ( ความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม )
  • SQ หรือ Social Quotient ( ความฉลาดทางสังคม ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น )
  • PQ หรือ Play Quotient ( ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น )

จะเห็นได้ว่า Quotient หรือความฉลาดด้านต่าง ๆ นั้นมีอยู่เยอะแยะมากมายเลยทีเดียว ซึ่งในวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับเจ้าตัว MQ ( ความฉลาดทางด้านศีลธรรม จริยธรรม ) กันนะคะ

MQ คืออะไร ?

MQ ย่อมากจากคำว่า Moral Quotient หรือก็คือ ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรมนั่นเอง ซึ่งความฉลาดทางด้านนี้ จะเป็นความฉลาดที่เกี่ยวกับศีลธรรม และจริยธรรมส่วนตัว เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถฝึกฝนหรือ ขัดเกลาได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ  แต่เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เกิดการสั่งสมและฝังรากลึกลงไปในจิตใต้สำนึก

MQ ช่วยปิดจุดอ่อนได้จริงหรือไม่

ความฉลาดด้านนี้เป็นตัวที่จะช่วยปิดจุดอ่อนของความฉลาดด้านอื่น ๆ หมายความว่า ถ้าเกิดเราเป็นคนที่เก่งไปหมด แต่ไม่มีศีลธธรรมและจริยธรรมก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อตัวเรา และสังคมมากนัก ดังนั้น เราจึงควรปลูกฝังเจ้าตัว MQ นี้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งสถาบันครอบครัวจะมีส่วนเป็นอย่างมาก ในการเสริมสร้างความฉลาดด้านนี้

การสร้างทักษะในด้านจริยธรรม ศีลธรรม

วิธีการสร้าง MQ  นั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งเราได้นำ 5 เทคนิควิธีการสร้าง MQ มานำเสนอ เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้นำไปปรับใช้กันค่ะ

  1. พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ลูก เด็กก็เปรียบเสมือนกับผ้าขาวบริสุทธิ์ ที่สามารถแต่งแต้มสีสันได้มากมาย โดยเด็กที่อยู่ในช่วงวัย 2-10 ปี จะมีพัฒนาการทางด้านจริยธรรม อยู่ในระดับก่อนกฎเกณฑ์สังคม (Pre-Conventional Level) โดยเด็กในวัยนี้จะเรียนรู้และเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ รอบตัวรวมไปถึงพฤติกรรมที่ “ดี” และ “ไม่ดี” จากพ่อและแม่ ซึ่งการจะปลูกฝัง MQ ให้เด็กในช่วงวัยนี้นั้น พ่อกับแม่จะต้องแสดงออกถึง พฤติกรรมที่ดีให้ลูกเห็น เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ลูก เช่น แสดงความซื่อสัตย์ ความกตัญญูรู้คุณ ความยุติธรรม ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คุณพ่อกับคุณแม่ สามารถแสดงออกได้ในชีวิตประจำวัน โดยที่เจ้าตัวน้อยจะได้ซึมซับและจดจำ ต้นแบบที่ดีเหล่านี้ไปประพฤติปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย
  2. แนะนำสั่งสอนให้ลูกรู้จักถูกผิด เมื่อลูกทำผิดคุณพ่อคุณแม่ต้องสั่งสอน และชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้ลูกได้รู้ ไม่ควรเข้าข้างหรือปกป้องจนเกินไป แต่ควรว่ากันตามเหตุและผล บางครั้งหากทำผิดอาจมีบทลงโทษบ้าง เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ผลเสียของการทำผิด แต่ไม่ควรรุนแรงมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเกิดความกลัว จนไม่กล้าจะทำอะไร ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี และเมื่อลูกทำความดี เช่น แบ่งขนมให้คนอื่น ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เก็บของหายได้ก็นำไปส่งคืนให้คุณครู เมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี ๆ เหล่านี้ ก็สามารถชื่นชมลูกได้ด้วยคำพูดที่ดี เพื่อเป็นการให้กำลังใจในการทำความดีของลูก และเป็นการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ลูกทำนั้น เป็นเรื่องที่ดีเป็นสิ่งถูกต้อง
  3. ให้ลูกได้เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรม ผ่านกิจกรรมที่เขาชอบ หนังสือนิทานที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม และเพลงที่มีเนื้อหาสอนเรื่องความดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู การช่วยเหลือและเอื้อเฝื่อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายและดีที่สุด เพราะทั้งตัวนิทานและเพลงนั้นมีความสนุกสนาน เข้าใจง่าย จึงทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และซึบซับได้อย่างรวดเร็ว เหมาะแก่การพัฒนา MQ เป็นอย่างมากในด้านของความคิดและจิตใจ โดยที่หลังจากทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่ลองตั้งคำถามที่เกิดขึ้น ในเนื้อเรื่องหรือเนื้อเพลงดู เพื่อสำรวจความสนใจพร้อมสอดแทรกคำสอน เพื่อปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรมให้กับลูก โดยคุณพ่อคุณแม่คอยพูดกระตุ้นให้ลูกคิดตาม
  4. สอนให้เห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว โดยคุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกรู้จักพูดคำว่า “ขอบคุณและขอโทษ” ให้เป็นนิสัย เช่น ให้ลูกขอบคุณทุกครั้งเมื่อมีคนช่วยเหลือหรือทำอะไรให้ ขอบคุณสิ่งต่าง ๆ รอบตัวแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ การให้ลูกได้ฝึกขอบคุณจะทำให้เขารู้จักคุณค่าของตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงการกล่าว “ขอโทษ” ทันทีเมื่อรู้ตัวว่าทำผิด จะทำให้ลูกรู้จักผิดชอบชั่วดี อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นการปลูกฝังคุณธรรมอย่างหนึ่งให้กับเด็ก ในการให้เขารู้จักเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี เมื่อเห็นคุณค่าก็จะเกิดความรักต่อสรรพสิ่งรอบตัว
  5. พาลูกไปทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง นอกจาก 4 วิธีข้างต้นแล้ว การเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์จริง ก็จะช่วยเพิ่มให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งการทำงานจิตอาสาเป็นสิ่งที่ช่วยปลูกฝังในเรื่องการเสียสละ การมีน้ำใจ ความขยัน อดทน ความรับผิดชอบ การเข้าสังคม อ่อนน้อมถ่อมตน ลดความเห็นแก่ตัว มีเมตตาต่อกันทำให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการสร้าง MQ

กิจกรรมจิตอาสาที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยนั้น สามารถสร้างได้ไม่ยาก จากผลสำรวจ และการวิจัย วิเคราะห์ซึ่งทางเราได้ อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าง แพทย์หญิงถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้แนะนำว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรก คือเรื่องของความปลอดภัย ความเหมาะสมของกิจกรรม โดยแต่ละช่วงวัยสามารถทำกิจกรรมอาสาได้ ดังนี้

  • วัยอนุบาล: กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่นั้น มักจะเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับผู้ใหญ่ เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องมีการใช้ทักษะมากนัก เพราะเด็กในวัยนี้เป็นเพียงวัยเริ่มต้นของการเรียนรู้ ควรปลูกฝัง และกระตุ้นผ่านกิจกรรมสนุกสนานไม่ยาก เช่น ช่วยเก็บของ ทำความสะอาดอย่างง่าย การช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ก็ถือว่าเป็นจิตอาสารูปในอีกแบบหนึ่งเช่นกัน
  • วัยประถม: เป็นวัยที่เริ่มทำกิจกรรมด้วยตนเองได้มากขึ้น เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้ และจดจำการทำพฤติกรรม หรือเลียนแบบการประพฤติตัวหลายอย่าง กิจกรรมจิตอาสาที่สามารถทำได้ ได้แก่  การเก็บขยะ  การบริจาคสิ่งของ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น การทำความสะอาดภายในชุมชน เป็นต้น
  • วัยมัธยม: แม้ว่า MQ จะเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง และขัดเกลาตั้งแต่เด็ก จึงจะผลิดอกออกผลได้ แต่ในช่วงวัยมัธยมนี้ก็ สามารถที่จะขัดเกลา MQ ผ่านกิจกรรมจิตอาสาได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นวัยที่มีความคิด วิเคราะห์ แยกแยะ สามารถคิดพิจารณาได้เอง จึงเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้ได้เองอย่างแตกฉาน โดยกิจกรรมที่ทำนั้น จะเป็นกิจกรรมที่ ทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น เช่น ออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมช่วยบำบัดผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งสร้างห้องสมุดให้กับโรงเรียนห่างไกล เป็นต้น

ผลลัพธ์ของการถูกปลูกฝัง MQ

ผลลัพธ์ของการที่เราถูกปลูกฝังเจ้าตัว MQ ตั้งแต่เด็กนั้นจะส่งผลต่อการควบคุมตนเอง ทำให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัย  มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีความซื่อสัตย์ ความกตัญญู  ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเมตตาปราณี รู้จัการให้อภัย มีความรู้ผิดถูกสำนึกชั่วดี อ่อนน้อมถ่อมตนและมีสัมมาคารวะ และเมื่อถูกกระตุ้นทักษะ ความฉลาดในด้านจริยธรรม

อีกทั้งบุคคลที่ถูกปลูกฝัง MQ มาตั้งแต่เด็ก เมื่อถูกกระตุ้นทักษะในด้านนี้ จะสามารถแสดงออกมาใน       รูปแบบที่แตกต่างกันไป  จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการถูกปลูกฝังของแต่ละบุคคล  ถ้าหากว่าบุคคลนั้นไม่เคยถูกปลูกฝัง หรือไม่มีทักษะความฉลาดในด้านนี้ อยู่ในจิตสำนึกดั้งเดิมแล้ว ไม่ว่าโตขึ้น จะได้รับการกระตุ้นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้บุคคลผู้นั้น กลายเป็นคนดีขึ้นมาได้มากนัก

MQ กับความเชื่อมโยงความฉาดด้านอื่น

สำหรับใครที่ยังมีข้อข้องใจว่า ทักษะในด้านนี้มีความสำคัญ หรือมีความเชื่อมโยงกับทักษะในด้านอื่นหรือไม่ เราสามารถตอบได้เลยว่า ทักษะความฉลาดในด้านนี้ มีความเชื่อมโยงกับทุกทักษะ เพราะทักษะในด้านจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรมยังมีความเชื่อมโยง กับความฉลาดด้านอื่นอีกด้วย ซึ่งความฉลาดที่ว่านั้นก็คือ IQ และ EQ นั่นเอง เพื่อน ๆ สงสัยกันไหมเอ่ย ว่าเจ้าตัว MQ ที่เป็นความฉลาด ด้านศีลธรรม และจริยธรรม จะเกี่ยวข้องกับ IQ ที่เป็นความฉลาดด้านสติปัญญา และ EQ ที่เป็นความฉลาดด้านอารมณ์อย่างไร ถ้าสงสัยกันละก็ มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย

ความเชื่อมโยงของ IQ,  EQ และ MQ

IQ หรือ ความฉลาดด้านสติปัญญา เป็นความสามารถทางเชาว์ปัญญาและเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดตั้งแต่เกิด ส่วน EQ หรือ ความฉลาดด้านอารมณ์ ซึ่งหมายถึงบุคลิกภาพ และการควบคุมตนเองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนความเชื่อมโยงของทั้งสามอย่างนี้ จะเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เรายกตัวอย่างมา 2 กรณี เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้มองเห็นภาพรวมกันอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นนะคะ

  • กรณีที่ 1 คนที่มี IQ สูง มี EQ สูง แต่มี MQ ต่ำ คนประเภทนี้ คือ คนที่ฉลาด อารมณ์ดี เก็บความรู้สึกเก่ง พร้อมทั้งยังมีไหวพริบการเอาตัวรอดสูง สามารถเข้าสังคมด้วยวิธี การกระทำ ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง แต่ไม่คำนึงถึงศีลธรรม เมื่อทำความผิดก็ยังสามารถยิ้มได้ โดยที่ไม่รู้สึกอะไร สามารถหลีกหนี เลี่ยงข้อผิดพลาดที่ก่อทั้งหมดได้ไม่ยาก ซึ่งถือว่าเป็นภัยต่อสังคมเป็นอย่างมาก
  • กรณีที่ 2 คนที่มี IQ สูง แต่มี EQ และ MQ ต่ำ คนประเภทนี้ คือ คนที่มีความฉลาด มีความรู้ ส่วนมากจะเป็นความรู้ในด้านของวิชาการ การคิดวิเคราะห์ แต่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เมื่อเกิดอารมณ์ฉุนเฉียว อารมณ์โกรธ มักจะขาดสติ อาจะถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทำให้เสื่อมเสียได้ และยังไม่คำนึงถึงศีลธรรมที่พึงมี เนื่องจากเมื่อขาดสติ การยั้งคิด แต่มีความฉลาด อาจทำเรื่องเลวร้าย จนเกิดการบาดเจ็บ เสียชีวิตขึ้นได้  คนประเภทนี้ ก็ถือว่าภัยต่อสังคมเช่นกัน

 

จากตัวอย่างที่เราได้ยกมาให้เพื่อน ๆ ดูจะเห็นได้ว่า ความฉลาดทั้งสามด้านนี้ เชื่อมโยงกันอย่างไร มีอันตรายต่อสังคมในทางใดบ้าง และถ้าเพื่อน ๆ สังเกตุจะเห็นว่า ตัวที่มีสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ก็คือเจ้าตัว MQ หรือ ความฉลาดด้านศีลธรรม  จริยธรรม และคุณธรรมนั่นเอง ดังนั้น เพื่อสังคมที่น่าอยู่และปลอดภัย เรามาช่วยกันผลักดัน การปลูกฝัง MQ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นกันมากยิ่งขึ้นไปด้วยกัน