โรคภูมิแพ้คือโรคที่ร่างกายมีปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้เยื่อบุที่อวัยวะต่างๆ เกิดการอักเสบ เช่น เยื่อบุตาขาว เยื่อบุทางเดินหายใจ ผิวหนัง เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ “แพ้อากาศ” ในประเทศไทยพบในเด็กประมาณร้อยละ 50 ส่วนโรคหืดและผื่นแพ้ผิวหนังพบได้ร้อยละ 15 ต่อโรค
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
- ด้านกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยมักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องแพ้ต่อสิ่งแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันกับคนในครอบครัว ซึ่งผลการวิจัยพบว่าครอบครัวที่บิดาและมารดาป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ถึงร้อยละ 50 – 80
- ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวิถีชีวิตจากสังคมชนบทกลายเป็นสังคมเมือง ทำให้มารดาไม่สามารถให้นมบุตรได้ในช่วงแรกคลอด จึงไม่ได้รับสารอาหารสำคัญในน้ำนมแม่ที่มีภูมิต้านทานต่อโรคภูมิแพ้ รวมไปถึงการใช้ชีวิตอย่างเร่งด่วนที่ต้องรับประทานอาหารสำเร็จรูป ซึ่งอุดมไปด้วยแป้งและไขมัน และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เป็นอย่างดี
อาการของโรคภูมิแพ้
ผู้ป่วยจะมีอาการจาม มีน้ำมูกใสๆ คันจมูกหรือคัดจมูกเรื้อรัง อาจจะมีอาการเคืองตาร่วมด้วย สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังจะมีอาการผื่นแดงแบบลุกลาม คันไปทั้งตัว อาการที่กล่าวมามักเกิดในช่วงหัวค่ำหรือบริเวณที่มีอากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด หรือสถานที่ที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ควันพิษ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
ปัจจุบันนิยมใช้วิธีการทดสอบภูมิแพ้หรือ Allergy Test คือการทดสอบเพื่อให้เราทราบว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นและไม่ทำให้อาการแย่ลง
Skin Test วิธีนี้แพทย์จะใช้น้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ หยดลงบนผิวหนัง จากนั้นใช้ปลายเข็มสะกิดตรงที่หยดเพื่อให้น้ำยาซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทิ้งไว้ 15 นาที ถ้าเราแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด บริเวณที่หยดสารนั้นจะเกิดอาการบวมแดงเหมือนตุ่มยุงกัด
Rast Test เป็นการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลานานกว่าการทดสอบแบบ Skin Test โดยจะใช้วิธีนี้กรณีที่ไม่สามารถตรวจแบบทดสอบทางผิวหนังได้
วิธีรักษาโรคภูมิแพ้
ยารักษาโรคภูมิแพ้มีทั้งชนิดยารับประทานและยาพ่นทางจมูกหรือปาก ซึ่งควรอยู่ในความดูแลและคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออย่างสม่ำเสมอ และพ่นยาทางจมูกหรือปากเพิ่มเติมจากยารับประทาน
สำหรับการรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันสามารถใช้กับการรักษาโรคแพ้อากาศและโรคหืด โดยแพทย์จะทำการฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ผู้ป่วยแพ้ แล้วเพิ่มปริมาณทีละน้อยจนร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ซึ่งผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อการรักษาวิธีนี้ได้ดี แพทย์จะทำการรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 3 – 5 ปี แต่ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีนี้ภายใน 1 ปี แพทย์จะทำการหยุดรักษาแล้วใช้วิธีรักษาตามอาการแทน
การดูแลตนเองเมื่อพบว่าเป็นโรคภูมิแพ้
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยคือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ลดลง ทำให้ผู้ป่วยลดการใช้ยาให้น้อยลงเหลือเพียงแค่ยาควบคุมอาการเท่านั้น นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะการได้รับอาหารที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้อย่างเห็นได้ชัด พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่สร้างความทรมานต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย ดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดอาการของโรคได้มากทีเดียวค่ะ
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจากเว็บ Tamsabuy.net